เฉิ่ง ของ ซันเฉิ่งลิ่วปู้

ลำดับเหตุการณ์
ฉิน (221–206 ปีก่อนคริสตกาล)ตั้งช่างชูเฉิ่ง
ฮั่นตะวันตก (206 ปีก่อนคริสตกาล – ค.ศ. 9)ฮั่นอู่ตั้งจงชูเฉิ่ง
เว่ย์ (ค.ศ. 220–265)เฉา พี ตั้งจงชูเฉิ่งอย่างเป็นทางการ
จิ้น (ค.ศ. 265–420)ตั้งเหมินเซี่ยเฉิ่ง
ซ่ง (ค.ศ. 960–1279)ยุบเหมินเซี่ยเฉิ่ง
ยฺเหวียน (ค.ศ. 1271–1368)
  • ยุบช่างชูเฉิ่ง
  • ยฺเหวียนอู่จงตั้งช่างชูเฉิ่งขึ้นใหม่ (หลังจากนี้ไม่ได้รื้อฟื้นขึ้นอีก)
หมิง (ค.ศ. 1368–1644)หงอู่ยุบจงชูเฉิ่ง

เฉิ่ง (แผนก) ทั้งสามเป็นหน่วยงานสูงสุดในระบบราชการ มีหน้าที่หลักในทางธุรการมากกว่าบริหารรัฐกิจ หัวหน้าของเฉิ่งมักเรียก ไจ่เซี่ยง (宰相; "ข้าหลวงปกครอง") ซึ่งก็คือ อัครมหาเสนาบดี

  • ช่างชูเฉิ่ง (แผนกช่างชู) เป็นเฉิ่งแรกที่จัดตั้งขึ้น โดยจัดตั้งในสมัยราชวงศ์ฉิน (221–206 ปีก่อนคริสตกาล) ให้ทำหน้าที่เก็บรักษาจดหมายเหตุ คำว่า "ช่างชู" (尚書) แปลว่า เสมียนผู้ช่วย ต่อมาในสมัยราชวงศ์สุย (ค.ศ. 581–618) ให้ช่างชูเป็นหัวหน้าของปู้ (กระทรวง) ตำแหน่งช่างชูจึงกลายเป็นเจ้ากระทรวงไป และช่างชูเฉิ่งกลายเป็นหน่วยงานควบคุมปู้ทั้งหก ถือเป็นองค์กรสูงสุดในการบริหารราชการ แต่ถูกยุบเลิกในสมัยราชวงศ์ยฺเหวียน (ค.ศ. 1271–1368) กระทั่งรื้อฟื้นขึ้นใหม่ในรัชสมัยจักรพรรดิยฺเหวียนอู่จง (元武宗) เพื่อให้ดูแลการคลัง เมื่อสิ้นราชวงศ์ยฺเหวียนแล้ว ช่างชูเฉิ่งก็ไม่ได้รื้อฟื้นขึ้นอีก[1]
  • จงชูเฉิ่ง (แผนกเสมียนกลาง) เป็นเฉิ่งที่สองที่จัดตั้งขึ้น โดยจัดตั้งในรัชกาลจักรพรรดิฮั่นอู่ (漢武帝) แห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (206 ปีก่อนคริสตกาล – ค.ศ. 9) ให้เป็นหน่วยประสานงานระหว่างที่ปรึกษาของจักรพรรดิกับรัฐบาลโดยรวม ครั้นสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (ค.ศ. 25–220) มีการจัดตั้งสำนักที่ปรึกษาและผู้ตรวจการ (office of advisors and reviewers) ขึ้น ถึงสมัยรัฐเว่ย์ (ค.ศ. 220–265) จักรพรรดิเฉา พี (曹丕) ประกาศจัดตั้งจงชูเฉิ่งขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยเอาสำนักงานที่ปรึกษาฯ ดังกล่าวเป็นพื้นฐาน เพื่อคานอำนาจกับช่างชูเฉิ่ง หน้าที่หลักเป็นการจัดทำนโยบาย ความรับผิดชอบโดยมากเป็นการถวายฎีกาและร่างรับสั่ง แต่บทบาทที่แท้จริงนั้นแตกต่างออกไปในแต่ละยุคสมัย เช่น ช่วงราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 960–1279), ราชวงศ์เหลียว (ค.ศ. 907–1125), และ ราชวงศ์จิ้น (ค.ศ. 1115–1234) เฉิ่งทั้งสามเป็นหน่วยงานที่ใช้อำนาจบริหารของจักรพรรดิ พอถึงราชวงศ์ยฺเหวียน (ค.ศ. 1271–1368) จงชูเฉิ่งกลายเป็นองค์กรหลักหนึ่งเดียวในการบริหารราชการ ส่วนเฉิ่งที่เหลือทั้งสองยุบเลิกไปสิ้นแล้ว[2] จงชูเฉิ่งมายุบเลิกเอาในราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1368–1644) หลังจากจักรพรรดิหงอู่ (洪武帝) ทรงประหารอัครมหาเสนาบดีหู เหวย์ยง (胡惟庸)
  • เหมินเซี่ยเฉิ่ง (แผนกใต้ประตู) เป็นเฉิ่งที่สามที่จัดตั้งขึ้น โดยจัดตั้งในราชวงศ์จิ้น (ค.ศ. 265–420) เป็นหน่วยงานตรวจสอบราชการ ตรวจราชโองการและคำสั่งราชการ ถวายความเห็นต่อจักรพรรดิ และให้คำปรึกษาแก่จงชูเฉิ่ง เนื่องจากมีความสำคัญน้อยสุด จึงยุบเลิกไปในช่วงราชวงศ์ซ่ง