พระชนม์ชีพช่วงต้น ของ ซุนโฮ_(ซุน_เฮ่า)

ซุนโฮทรงประสูติใน พ.ศ. 786 เป็นพระราชโอรสองค์โตของซุนโห ซุนโหได้รับแต่งตั้งเป็นองค์รัชทายาทในเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม พ.ศ. 785 เพียงไม่กี่เดือนภายหลังจากการสิ้นพระชนม์ของซุนเต๋ง พระราชโอรสองค์โตและองค์รัชทายาทองค์แรกในเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายน พ.ศ. 784 พระมารดาของซุนโฮ พระนามว่า พระชายาเหอ ผู้เป็นพระชายาของซุนโห

ใน พ.ศ. 793 ภายหลังพระเจ้าซุนกวนทรงเอือมระอากับศึกแย่งชิงราชบังลังก์รที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องระหว่างซุนโหและซุนป๋า ทั้งสองพระราชโอรสของพระองค์ ทรงตัดสินพระทัยที่จะยุติความขัดแย้งในครั้งนี้ด้วยการบีบบังคับให้ซุนป๋ากระทำอัตวินิบากกรรมและปลดซุนโหออกจากตำแหน่งองค์รัชทายาทและเนรเทศไปยังกู่จ่าง(故鄣; หูโจว, มณฑลเจ้อเจียงในปัจจุบัน) พร้อมกับทั้งครอบครัวของพระองค์และถูกถอดยศเป็นสามัญชน ซุนโฮต้องถูกถอดยศจากพระราชโอรสขององค์รัชทายาทมาเป็นลูกชายของสามัญชนแทน แม้ว่าจะเป็นพระราชนัดดาของพระจักรพรรดิก็ตาม

ใน พ.ศ. 795 สถานะของซุนโหได้รับการเลื่อนขั้นจากสามัญชน เนื่องจากพระเจ้าซุนกวนทรงรับสั่งเสียก่อนที่จะสวรรคตในปีนั้น ซุนโหได้รับแต่งตั้งให้เป็นอ๋องแห่งหนานหยางและมอบอ๋องก๊ก(ราชรัฐ) ที่ฉางซา อันที่จริงมีข่าวลือแม้แต่กระทั่งช่วงภายหลังจากที่ซุนเหลียง พระอนุชาของซุนโหได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระจักรพรรดิแทนหลังจากพระเจ้าซุนกวนสวรรคตว่า จูกัดเก๊ก ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งเป็นพระปิตุลาขององคฺ์หญิงจาง พระชายาอีกองค์ของซุนโห ได้มีความสนใจที่จะฟื้นฟูและอัญเชิญซุนโหขึ้นมาเป็นพระจักรพรรดิแทน ภายหลังจูกัดเก็กถูกลอบสังหารและถูกแทนที่โดยซุนจุ๋นใน พ.ศ. 796 ซุนโหได้ตกอยู่ในอันตราย เนื่องจากซุนจุ๋นเป็นตัวการที่สำคัญที่ทำให้ซุนโหถูกปลดตั้งแต่แรกและต้องการที่จะกำจัดโอกาสที่ซุนโหจะกลับมา ซุนจุ๋นได้ใช้ข่าวลือเป็นข้ออ้างที่จะทำให้ซุนโหถูกถอดยศเป็นสามัญชนอีกครั้งและเนรเทศไปยังซินตู(新都; เทศมณฑลชุนอัน, มณฑลเจ้อเจียงในปัจจุบัน) และส่งคนส่งสารเพื่อบีบบังคับให้ซุนโหกระทำอัตวินิบากกรรม ส่วนองค์หญิงจางก็กระทำอัตวินิบากกรรมเช่นกัน ส่วนพระชายาเหอ เมื่อได้รับโอกาสให้กระทำอัตวินิบากกรรม พระนางได้ปฏิเสธและขอร้องไว้ชีวิตโดยกล่าวว่า หากพระนางตายไปก็จะไม่มีใครดูแลเหล่าโอรสของซุนโห ดังนั้น พระนางจึงเลี้ยงดูแลแก่ซุนโฮและพระอนุชาทั้งสามพระองค์ที่เกิดมาจากพระชายาองค์อื่น - ซุนเต๋อ (孫德), ซุนเฉียน (孫謙), และ ซุนจุ๋น (孫俊, คนละคนกับซุนจุ๋นที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์)

ภายหลังจากที่พระเจ้าซุนเหลียงทรงถูกปลดออกจากราชบังลังก์โดยซุนหลิม ผู้เป็นลูกพี่ลูกน้องของซุนจุ๋นและผู้สืบทอดตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ใน พ.ศ. 801 ซุนฮิว พระราชโอรสของพระเจ้าซุนกวนได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระจักรพรรดิองค์ใหม่ วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 801 พระเจ้าซุนฮิวทรงแต่งตั้งให้ซุนโฮและพระอนุชาอย่างซุนเต๋อและซุนเฉียนเป็นขุนนางระดับโหว ยศฐาบรรดาศักดิ์ของซุนโฮคือ อู๋เฉิงโหว และพระองค์ถูกส่งไปยังพื้นที่ศักดินาตามตำแหน่งขุนนางระดับโหว เมื่อถึงจุดหนึ่ง พระองค์ทรงเป็นพระสหายกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองของอำเภออู๋เฉิงนามว่า บั้นเฮ็ก (Wan Yu) ผู้ซึ่งประเมินว่าพระองค์ทรงเฉลียวฉลาดและขยันหมั่นเพียร นอกจากนี้ ในช่วงสมัยที่พระองค์ดำรงตำแหน่งเป็นอู๋เฉิงโหว พระองค์ได้รับฮูหยินเตงเป็นพระสนม ผู้ซึ่งเป็นพระจักรพรรดินีในอนาคต

ในช่วงฤดูร้อน พ.ศ. 807 พระเจ้าซุนฮิวทรงพระประชวรและไม่สามารถพระราชดำรัสได้ แต่ยังสามารถทรงพระอักษรได้ ดังนั้นพระองค์จึงมีพระราชหัตถเลขาเรียกผู่หยังซิ่งผู้เป็นอัครมหาเสนาบดีให้มาเข้าเฝ้าที่พระราชวัง ซึ่งพระองค์ทรงมอบไว้วางพระราชหฤทัยในการค้ำจุนซุนว่านผู้เป็นองค์รัชทายาทแก่ผู่หยังซิ่ง พระเจ้าซุนฮิวสวรรคตหลังจากนั้นได้ไม่นาน ในวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 807 ผู่หยังซิ่งก็ไม่ได้ทำตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าซุนฮิวก่อนที่จะสวรรคต และแต่งตั้งให้ซุนว่านขึ้นเป็นพระจักรพรรดิองค์ใหม่ แต่ได้ปรึกษากับขุนพลนามว่า เตียวเป๋าแล้ว พวกเขาเชื่อว่า ประชาชนต่างคำนึงถึงการล่มสลายของรัฐฉู่ฮั่นซึ่งเป็นพันธมิตรของรัฐอู๋ใน พ.ศ. 806 เมื่อไม่นานนี้ พวกเขาต่างโหยหาพระจักรพรรดิที่ดูเป็นผู้ใหญ่กว่า (ตอนนี้ยังไม่อาจทราบว่า ซุนว่านทรงมีพระชนม์มายุเท่าไหร่ แต่พระเจ้าซุนฮิวเองสวรรคตเมื่อพระชนมพรรษ 29 พรรษา ดังนั้นจึงไม่น่าเป็นไปได้ที่ซุนว่าวจะยังทรงพระเยาว์ด้วยซ้ำ) ตามข้อเสนอของบั้นเฮ็ก ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นขุนพลในตอนนั้น ผู่หยังซิ่งและเตียวเป๋าได้อัญเชิญซุนโหขึ้นครองราชย์เป็นพระจักรพรรดิองค์ใหม่