พระเจ้าแปรในฐานะประเทศราช ของ ตะโดธรรมราชาที่_3

เส้นทางการขึ้นครองราชย์

ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม ปี พ.ศ. 2131 พระยานครน้อย กษัตริย์ล้านช้างที่ถูกปลดออกจากราชสมบัติเสด็จสวรรคต[4] ทำให้อาณาจักรล้านช้างว่างกษัตริย์โดยสมบูรณ์ และเกิดการแย่งชิงอำนาจกัน ขุนนางอำมาตย์ล้านช้างได้ส่งพระราชสาส์น มาขอไถ่ตัวพระหน่อแก้วกุมาร พระราชโอรสของสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช ที่ถูกจับมาเป็นองค์ประกันที่หงสาวดี ให้กลับไปครองล้านช้าง แต่พระเจ้านันทบุเรง ทรงเห็นว่าหากส่งไป อาจทำให้ล้านช้างคิดการเป็นกบฏได้ จึงทรงจะให้เมงจีหน่องไปปกครองอาณาจักรล้านช้างแทน แต่ยังมิทันจะได้เสด็จไป ในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม[5] ปีเดียวกัน เมื่อพระเจ้าตะโดธรรมราชาที่ 2 แห่งเมืองแปร พระราชอนุชาของพระเจ้าบุเรงนองสวรรคต ปีต่อมาคือ พ.ศ. 2132 พระเจ้านันทบุเรงทรงเปลี่ยนความคิด แล้วจึงทรงสถาปนาเจ้าชายเมงจีหน่องเป็นพระเจ้าแปร ทรงพระนาม ตะโดธรรมราชา ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2132 ขณะนั้น ทรงมีพระชนมายุเพียง 18 พรรษา[6]

ขณะการครองราชย์

พระเจ้าแปรองค์ใหม่ยังทรงพระเยาว์นัก ทำให้ขุนนางชั้นสูงในเมืองแปรและโอรสของพระเจ้าตะโดธรรมราชาองค์ก่อน 2 พระองค์ คือ เมงชเวเมี๊ยต เจ้าเมืองแตงดา กับ เมงเยอุศนะ เจ้าเมืองซะลี่น ไม่ยอมรับในตัวพระองค์ แต่พระองค์ยังมีพระโอรสอีก 2 พระองค์ คือ ชินเนเมียว และ ชินเนตุน ที่ยอมรับพระเจ้าแปรองค์ใหม่ วันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2133 สมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จขึ้นครองราชย์ วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2133 พระเจ้าแปร ส่งกองทัพ 20,000 ไปช่วยพระมหาอุปราชมังกะยอชวารบกับกรุงศรีอยุธยา ส่วนพระองค์ทรงนำทัพ 10,000 ร่วมกับทัพเมืองตองอู นำโดยนัดจินหน่อง[7] ยกไปปราบพวกกบฎโมกอง และได้รับชัยชนะในช่วงต้นปี พ.ศ. 2134 และเสด็จกลับถึงหงสาวดีในช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2134[8] แต่ไม่มีการฉลองชัยชนะ เพราะทัพฝ่ายพระมหาอุปราชาพ่ายศึกกลับมาจากอยุธยา[9]

สงครามยุทธหัตถี

พระเจ้านันทบุเรงทรงมีพระบัญชา ระดมไพร่พล 500,000แม่แบบ:ต้องการอ้างตรงส่วนนี้ ให้ยกไปตีกรุงศรีอยุธยา พระมหาอุปราชามังกะยอชวาเป็นแม่ทัพ สมทบกับพระเจ้าตะโดธรรมราชาที่ 3 นัดจินหน่อง มังจาปะโร พระยาพะสิม และพระเจ้าเชียงใหม่นรธาเมงสอ ยกทัพไปในเดือนมกราคม พ.ศ. 2135 พระมหาอุปราชาได้กระทำยุทธหัตถีกับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จนสิ้นพระชนม์ พระเจ้าแปรกับนัดจินหน่อง เข้าชนช้างกับพระนเรศวร ป้องกันพระศพพระมหาอุปราชา แล้วถอยทัพออกจากเขตกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าแปรได้เป็นแม่ทัพแทนพระเชษฐา ทรงเห็นว่าควรยกทัพกลับ นำพระศพกลับหงสาวดี พระเจ้านันทบุเรงทรงเสียพระทัยเป็นอย่างมาก จากการสิ้นพระชนม์ในศึกยุทธหัตถีของพระมหาอุปราชา

ความขัดแย้งกับหงสาวดี

หลังจากปลงพระศพพระมหาอุปราชาแล้ว พระเจ้านันทบุเรงทรงสถาปนาพระเชษฐาร่วมพระมารดาพระองค์ถัดมาคือ เมงเยจอสวา เป็นที่พระมหาอุปราชาแทนมังกะยอชวา ทำให้พระเจ้าตะโดธรรมราชาที่ 3 ทรงน้อยพระทัยที่ทรงออกช่วยราชการงานศึก แต่กลับถูกละเลยจากพระราชบิดา แล้วหลังจากที่พระเจ้านันทบุเรง ทรงแพ้ศึกอยุธยาหลายครั้งหลายครา เมืองประเทศราชต่างพากันประกาศเอกราช ไม่ขึ้นตรงต่อหงสาวดี พระเจ้านันทบุเรง มีพระบัญชาให้เมงเยจอสวา พระมหาอุปราชวังหน้าพระองค์ใหม่ ไปเกณฑ์ไพร่พลตามหัวเมืองมอญต่างๆ แม้แต่พระภิกษุก็ทรงให้จับสึกมาเป็นทหาร แม้ไพร่พลจากหัวเมืองมอญก็มิเพียงพอจะรักษาเมือง จึงให้ขึ้นไปเกณฑ์ไพร่พลตามหัวเมืองฝ่ายเหนือ แต่ก็ต้องปะทะกับพระเจ้าแปรที่มาเกณฑ์ไพร่พลตามหัวเมืองของตนเช่นกัน พระเจ้านันทบุเรงทรงให้พระเจ้าแปรส่งไพร่พลที่เกณฑ์ได้พร้อมด้วยศัตราวุธมาให้กับทัพหงสาวดี พระเจ้าแปรยอมส่งไพร่พลให้ แต่ก็ทรงไม่พอพระทัยพระราชบิดาอย่างมาก และหลังจากทราบข่าวว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราชจะยกทัพมาตีหงสาวดี พระเจ้าแปรก็ทรงออกตีหัวเมืองเล็กหัวเมืองน้อยต่างๆ ซ่องสุมไพร่พล และไม่เคยส่งกำลังมาช่วยหงสาวดีอีก

พระเจ้าแปรยกทัพไปตีตองอู

ในปี พ.ศ. 2137 สมเด็จพระนเรศวรมหาราช กรีฑาทัพเข้ามายึดหัวเมืองทวาย มะริด ตะนาวศรี จนมาถึงเมืองเมาะตะมะ พระยาลอ เจ้าเมืองเมาะตะมะ ขอกำลังจากหงสาวดี พระเจ้านันทบุเรง มีพระบัญชาให้ทัพเมืองแปร เมืองตองอู และเมืองเชียงใหม่ ยกไปช่วยกันทัพอยุธยา เพื่อไม่ให้ยกมาถึงหงสาวดี เมื่อพระเจ้าแปรทราบว่า พระเจ้าเมงเยสีหตู เจ้าเมืองตองอู ยกทัพออกจากตองอูแล้ว พระองค์จึงกรีฑาทัพไปตีตองอู วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2137 พระเจ้าแปรเข้าปิดล้อมเมืองตองอู แต่ก็ยากที่พระเจ้าแปรจะตีหักเอาเมืองได้ แม้ไพร่พลตองอูจะน้อยกว่า แต่เพราะเมืองตองอูอยู่ในชัยภูมิที่มีภูผาสูงชัน มีคูเมืองกว้างและลึก มีกำแพงสูงใหญ่ มีปืนใหญ่และปืนคาบศิลาตั้งอยู่บนเชิงกำแพงเมือง นัดจินหน่อง พระอุปราชเมืองตองอู ทรงบัญชาการรบกับทัพเมืองแปร หลังจากทรงล้อมเมืองแปรอยู่นั้น ทรงทราบข่าวว่า พระเจ้าเมงเยสีหตูพ่ายศึก และทราบข่าวการล้อมเมืองตองอูของพระเจ้าแปรแล้ว และกำลังจะยกทัพกลับมา จึงทรงถอนทัพออกจากตองอู เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2137 เมื่อเสด็จกลับถึงเมืองแปร ก็ทรงประกาศเอกราช ไม่ขึ้นตรงต่อหงสาวดี