โครงสร้าง ของ ต่อมลูกหมาก

ต่อมลูกหมากซึ่งมีถุงน้ำอสุจิ (seminal vesicle) และท่อน้ำอสุจิ (seminal ducts) มองจากข้างหน้าและข้างบน

ต่อมลูกหมากเป็นต่อมมีท่อในระบบสืบพันธุ์เพศชาย ในผู้ใหญ่จะมีขนาดประมาณผลวอลนัต[5] ต่อมลูกหมากตั้งอยู่ในเชิงกราน ภายในต่อมเป็นทางผ่านของท่อปัสสาวะที่มาจากกระเพาะปัสสาวะ เรียกว่า ท่อปัสสาวะส่วนต่อมลูกหมาก ซึ่งมีท่อฉีดอสุจิอีกสองท่อมารวมเข้าด้วย[5]

ต่อมลูกหมากปกติของผู้ใหญ่มีน้ำหนักประมาณ 11 กรัม และมักแปรผันอยู่ระหว่าง 7 ถึง 16 กรัม[6] ส่วนปริมาตรของต่อมลูกหมากสามารถประมาณได้จากสูตร 0.52 × ความยาว × ความกว้าง × ความสูง โดยต่อมลูกหมากที่มีปริมาตรมากกว่า 30 ลบ.ซม. จะถือว่าเป็นต่อมลูกหมากโต (prostatomegaly) การศึกษาระบุว่า ปริมาตรต่อมลูกหมากในบรรดาผู้ป่วยที่ผลการตัดเนื้อออกตรวจเป็นลบ มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับน้ำหนักและส่วนสูง (ดัชนีมวลกาย) ดังนั้น จึงมีความจำเป็นในการควบคุมน้ำหนัก[7] ต่อมลูกหมากนั้นล้อมรอบท่อปัสสาวะอยู่ทางด้านล่างของกระเพาะปัสสาวะ จึงสามารถสัมผัสได้ผ่านการตรวจทางทวารหนัก

ชั้นเส้นใยโดยรอบต่อมลูกหมากบางครั้งจะเรียกว่า ปลอกหุ้มต่อมลูกหมาก (prostatic capsule) หรือ พังผืดต่อมลูกหมาก (prostatic fascia)[8] และล้อมรอบด้วยแถบเส้นใยกล้ามเนื้อฝังใน[3]

การแบ่งย่อย

ต่อมลูกหมากสามารถถูกแบ่งย่อยได้สองวิธี คือ แบ่งเป็นบริเวณ หรือ แบ่งเป็นกลีบ[5] เนื่องจากความแปรปรวนในคำอธิบายและคำจำกัดความของกลีบ จึงทำให้การแบ่งเป็นบริเวณนั้นโดดเด่นกว่า[5]

กลีบ

การจัดแบ่งเป็น "กลีบ" (lobe) นั้นพบการใช้ได้บ่อยครั้งในทางกายวิภาคศาสตร์ ซึ่งต่อมลูกหมากจะถูกแบ่งออกเป็นห้ากลีบอย่างไม่สมบูรณ์ ดังนี้

กลีบหน้า (Anterior lobe) (หรือ isthmus)สอดคล้องโดยประมาณกับบริเวณเชื่อม
กลีบหลัง (Posterior lobe)สอดคล้องโดยประมาณกับบริเวณรอบนอก
กลีบข้างซ้ายและขวา (Right & left Lateral lobes)ครอบคลุมทุกบริเวณ
กลีบใน (Median lobe) หรือกลีบกลาง (or middle lobe)สอดคล้องโดยประมาณกับบริเวณกลาง

บริเวณ

ต่อมลูกหมากสามารถถูกแบ่งออกได้เป็นสามหรือสี่บริเวณ[5][8] การจัดแบ่งเป็น "บริเวณ" (zone) นี้พบการใช้ได้บ่อยครั้งในทางพยาธิวิทยา[9] ซึ่งต่อมลูกหมากมีบริเวณต่อม (glandular region) ที่แตกต่างกันอยู่สี่บริเวณ โดยสองจากสี่บริเวณนั้นเกิดมาจากส่วนที่แตกต่างกันของท่อปัสสาวะส่วนต่อมลูกหมาก ดังนี้

ชื่อส่วนของต่อมในผู้ใหญ่[5]คำอธิบาย
บริเวณรอบนอก (Peripheral zone หรือ PZ)70%ส่วนกึ่งปลอกหุ้มของมุมด้านหลังของต่อมลูกหมากที่ล้อมรอบท่อปัสสาวะส่วนปลาย มะเร็งต่อมลูกหมากร้อยละ 70–80 มีจุดเริ่มต้นมาจากส่วนนี้ของต่อม[10][11]
บริเวณกลาง (Central zone หรือ CZ)20%บริเวณนี้ล้อมรอบท่อฉีดอสุจิ[5] บริเวณกลางมีสัดส่วนในมะเร็งต่อมลูกหมากประมาณร้อยละ 2.5 โดยมะเร็งจากบริเวณนี้มีแนวโน้มจะก้าวร้าวมากกว่า และมีแนวโน้มที่จะลามไปยังถุงน้ำอสุจิ[12]
บริเวณเชื่อม (Transition zone หรือ TZ)5%บริเวณเชื่อมล้อมรอบท่อปัสสาวะส่วนต้น[5] มะเร็งต่อมลูกหมากมีจุดเริ่มต้นจากบริเวณนี้ประมาณร้อยละ 10–20 บริเวณนี้เป็นบริเวณที่เติบโตได้ตลอดชีวิตของต่อมลูกหมาก อันเป็นที่มาของโรคการเจริญเกินของต่อมลูกหมาก[10][11]
บริเวณเส้นใยกล้ามเนื้อหน้า (Anterior fibro-muscular zone) (หรือส่วนพยุง)N/Aส่วนนี้ไม่ถือเป็นบริเวณเสมอไป[8] โดยปกติแล้วมักจะปราศจากซึ่งส่วนหรือส่วนประกอบของต่อม อันเป็นที่มาของชื่อ ซึ่งสื่อถึงกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน[5]
  • กลีบของต่อมลูกหมาก
  • บริเวณของต่อมลูกหมาก

หลอดเลือดและน้ำเหลือง

หลอดเลือดดำของต่อมลูกหมากมาจากข่ายที่เรียกว่า ข่ายหลอดเลือดดำต่อมลูกหมาก ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณรอบพื้นผิวด้านหน้าและด้านนอก[8] ข่ายหลอดเลือดนี้ยังรับเลือดมาจากหลอดเลือดดำลึกด้านบนขององคชาตด้วย และเชื่อมต่อผ่านทางแขนงเข้าสู่ข่ายหลอดเลือดดำกระเพาะปัสสาวะและหลอดเลือดดำอวัยวะเพศภายนอกใน[8] โดยหลอดเลือดดำมีการระบายเข้าสู่หลอดเลือดดำกระเพาะปัสสาวะและหลอดเลือดดำกระดูกปีกสะโพกใน[8]

การระบายน้ำเหลืองจากต่อมลูกหมากขึ้นอยู่กับต่ำแหน่งของพื้นที่ ซึ่งหลอดน้ำเหลืองที่อยู่โดยรอบหลอดนำอสุจิ บางส่วนของหลอดน้ำเหลืองในถุงน้ำอสุจิ และหลอดน้ำเหลืองจากพื้นผิวด้านหลังของต่อมลูกหมาก จะถูกระบายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองกระดูกปีกสะโพกนอก[8] ขณะที่บางส่วนของหลอดน้ำเหลืองจากถุงน้ำอสุจิ หลอดน้ำเหลืองต่อมลูกหมาก และหลอดน้ำเหลืองจากด้านหน้าของต่อมลูกหมาก จะถูกระบายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองกระดูกปีกสะโพกใน[8] ส่วนหลอดน้ำเหลืองของตัวต่อมลูกหมากเองนั้นยังอาจระบายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองออบทูเรเตอร์และต่อมน้ำเหลืองกระดูกใต้กระเบนเหน็บได้ด้วย[8]

จุลกายวิภาคศาสตร์

ไมโครกราฟของต่อมลูกหมากที่เจริญเกินกับคอร์ปอรา อะไมเลเซียติดสีย้อมเอชแอนด์อี

เนื้อเยื่อของต่อมลูกหมากประกอบด้วย ต่อม (glands) และ ส่วนพยุง (stroma)[5] โดยส่วนต่อมบุด้วยเซลล์รูปคอลัมนาร์ (เนื้อเยื่อบุผิว)[5] เนื้อเยื่อบุเหล่านี้มีการวางตัวแบบชั้นเดียวหรือไม่ก็แบบซูโดสแตรติไฟด์[8] เนื้อเยื่อบุผิวนั้นมีความแปรผันสูงและ และพื้นที่ที่มีเนื้อเยื่อบผิวแบบคิวบอยดัลหรือแบบสวามัสต่ำก็ยังมีให้เห็นได้ เช่นเดียวกับเนื้อเยื่อบุผิวแบบทรานซิชันแนลในส่วนปลายของท่อยาวด้วย[13] ส่วนต่อมจะพบรูพรุนได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งจะมีการระบายลงสู่คลองยาว (long canal) และท่อหลัก 12–20 ท่อในลำดับถัดมา โดยต่อมาก็จะระบายลงสู่ท่อปัสสาวะที่ทอดตัวผ่านต่อมลูกหมาก[8] นอกจากนี้ยังมีเซลล์เบซัลอยู่จำนวนน้อย ซึ่งวางตัวอยู่ถัดจากเยื่อฐานของต่อม ทำหน้าที่เป็นเซลล์ต้นกำเนิด[5]

ส่วนพยุงของต่อมลูกหมาก ประกอบด้วย เนื้อเยื่อเส้นใย และกล้ามเนื้อเรียบ[5] เนื้อเยื่อเส้นใยจะแยกต่อมออกเป็นกลีบ[5] นอกจากนี้ยังวางตัวอยู่ระหว่างต่อมและเป็นส่วนประกอบอย่างสุ่มของมัดกล้ามเนื้อเรียบที่ต่อเนื่องกับกระเพาะปัสสาวะด้วย[14]

เมื่อเวลาผ่านไป จะมีสิ่งหลั่งที่จับตัวหนาขึ้น เรียกว่า คอร์ปอรา อะไมเลเซีย (corpora amylacea) ค้างอยู่ภายในต่อม[5]

ประเภทของเซลล์ทางมิญชวิทยาที่ปรากฏอยู่ในต่อมลูกหมากนั้นมีอยู่สามชนิด ได้แก่ เซลล์ต่อม (glandular cells), เซลล์ไมโอเอพิทีเลียม (myoepithelial cells) และเซลล์ซับเอพิทีเลียมอินเตอร์สติเชียล (subepithelial interstitial cells)[15]

การแสดงออกของยีนและโปรตีน

ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่: ชีวสารสนเทศ

ยีนเข้ารหัสโปรตีนประมาณ 20,000 ชนิดแสดงอยู่ในเซลล์ของมนุษย์ และเกือบร้อยละ 75 ของยีนเหล่านี้พบแสดงอยู่ในต่อมลูกหมากปกติ[16][17] ยีนเหล่านี้ประมาณ 150 ตัวมีการแสดงออกอย่างจำเพาะมากกว่าในต่อมลูกหมาก โดยมียีนประมาณ 20 ตัวที่มีความจำเพาะสูงในต่อมลูกหมาก[18] โปรตีนจำเพาะที่เกี่ยวข้องจะถูกแสดงในเซลล์ต่อมและเซลล์หลั่งของต่อมลูกหมาก และมีหน้าที่สำคัญต่อลักษณะของน้ำอสุจิ โปรตีนจำเพาะของต่อมลูกหมากบางชนิดเป็นเอนไซม์ เช่น สารก่อภูมิต้านทานจำเพาะต่อมลูกหมาก (PSA) และโปรตีน ACPP

การพัฒนา

ส่วนต่อมลูกหมากของท่อปัสสาวะพัฒนาขึ้นจากส่วนกลาง (middle) และส่วนเชิงกรานของโพรงอวัยวะเพศและทางเดินปัสสาวะ ของเอนโดเดิร์มต้นดำเนิด[19] ประมาณปลายเดือนที่สามของชีวิตของเอ็มบริโอ ปุ่ม (outgrowths) จะเจริญขึ้นมาจากส่วนต่อมลูกหมากของท่อปัสสาวะ และเจริญเติบโตไปสู่เมเซนไคม์โดยรอบ[19] เซลล์ที่บุในส่วนนี้ของท่อปัสสาวะเปลี่ยนสภาพไปเป็นเนื้อเยื่อบุผิวต่อมของต่อมลูกหมาก[19] ส่วนเมเซนไคม์ที่เกี่ยวข้องจะเปลี่ยนสภาพไปเป็นส่วนพยุงหนาแน่นและกล้ามเนื้อเรียบของต่อมลูกหมาก[20]

การรวมตัวกันของเมเซนไคม์ ท่อปัสสาวะ และท่อเมโซเนฟริก ทำให้เกิดต่อมลูกหมากในผู้ใหญ่ขึ้น ซึ่งเป็นอวัยวะที่ประกอบไปด้วยส่วนประกอบที่เป็นต่อมและไม่เป็นต่อม เชื่อมอยู่ด้วยกันอย่างแน่นหนาหลายส่วน

เพื่อให้ทำงานได้อย่างเหมาะสม ต่อมลูกหมากต้องการฮอร์โมนเพศชาย (แอนโดรเจน) ซึ่งรับผิดชอบคุณลักษณะทางเพศของเพศชาย ส่วนฮอร์โมนหลักของเพศชาย คือ เทสโทสเตอโรน ซึ่งโดยหลักแล้วถูกผลิตขึ้นที่อัณฑะ ส่วนฮอร์โมนที่มีอำนาจเหนือกว่าที่ควบคุมต่อมลูกหมาก คือ ไดไฮโดรเทสโทสเตอโรน (DHT) ซึ่งเป็นเมทาบอไลท์ของเทสโทสเตอโรน

ต่อมลูกหมากจะใหญ่ขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป จนถึงทศวรรษที่สี่ของชีวิต[8]

ใกล้เคียง

ต่อมลูกหมาก ต่อมลูกหมากโต ต่อมบ่งเพศทำงานน้อยเกินแบบเริ่มต้นทีหลัง ต่อมไทรอยด์ ต่อมใต้สมอง ต่อมคาวเปอร์ ต่อมไทรอยด์อักเสบฮาชิโมโตะ ต่อมไพเนียล ต่อมหมวกไต ต่อมน้ำตาอักเสบ

แหล่งที่มา

WikiPedia: ต่อมลูกหมาก http://www.unifr.ch/ifaa/Public/EntryPage/TA98%20T... http://etymonline.com/?term=prostate http://www.prostate-cancer.com/prostate-cancer-tre... http://www.urologymatch.com/ProstateAnatomy.htm http://adsabs.harvard.edu/abs/2015PLoSO..1033449O http://fme.biostr.washington.edu/FME/index.jsp?fma... //www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2727803 //www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4523174 //www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/10797630 //www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/17179979