มโนทํศน์ทางการเมือง ของ ทฤษฎีการเมือง

มโนทัศน์ในทางการเมือง (political concepts) นั้นคือความคิดทางการเมืองที่มีความเป็นนามธรรมสูง อาทิ ความยุติธรรม (justice), สิทธิอำนาจ (authority), สิทธิ์ (right), ความเท่าเทียม (equality) และ เสรีภาพ (freedom) เป็นต้น ซึ่งโดยทั่วไปแล้วการถกเถียงในมโนทัศน์ทางการเมืองนั้นมักเกิดจากรากฐานในทางประวัติศาสตร์ ซึ่งรวมไปถึงปรัชญา, ศาสนา, อุดมการณ์, ทฤษฎี ฯลฯ ของผู้ที่ใคร่ครวญถึงมโนทัศน์ในทางการเมืองนั้นด้วย มโนทัศน์เป็นสิ่งที่สำคัญอันดับต้นๆในการศึกษาการเมือง อาจกล่าวได้ด้วยว่ารากฐานของการศึกษาการเมืองนั้นก็คือการศึกษาอำนาจต่างๆที่พยายามเข้ามาสร้างนิยามให้กับมโนทัศน์ต่างๆ ลักษณะพิเศษของมโนทัศน์ทางการเมืองมี 2 แบบคือ[9] เป็นปทัศฐาน (normative) คือเป็นมโนทัศน์ที่นักรัฐศาสตร์ใช้สร้างความเข้าในเรื่องต่างๆ ให้แตกต่างจากเรื่องอื่น เช่นสร้างความเข้าใจว่า “รัฐประหาร” แตกต่างจาก “การปฏิวัติ” อย่างไร เป็นต้น และเป็นการพรรณนา (descriptive) คือเป็นมโนทัศน์ที่นักรัฐศาสตร์ใช้อธิบายความคิดในเรื่องนั้นๆ เช่น ในทัศนะของนักรัฐศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องการรัฐประหารนั้น การศึกษาดังกล่าวทำให้นักรัฐศาสตร์คนนั้นเข้าใจการรัฐประหารอย่างไร

มโนทัศน์ทางการเมืองจึงไม่มีความเป็นกลางทว่าได้ถูกแฝงได้ด้วยค่านิยมและอุดมการณ์ไว้แล้ว ดังนั้นนอกจากมโนทัศน์ทางการเมืองจะใช้อธิบายโลกที่นักรัฐศาสตร์เห็น แต่มโนทัศน์ทางการเมืองยังทำให้นักรัฐศาสตร์ไม่สามารถคิดออกจากกรอบของค่านิยม และอุดมการณ์ที่มีผลต่อมโนทัศน์ทางการเมืองด้วยในเวลาเดียวกัน เมื่อเป็นเช่นนี้นักรัฐศาสตร์จึงต้องระลึกเสมอว่ามโนทัศน์ในทางการเมืองนั้นมีลักษณะสัมพัทธ์ (relatively) การที่นักรัฐศาสตร์จะศึกษาปรากฏการณ์ทางสังคม และการเมืองใดๆ ด้วยมโนทัศน์ใดๆ นักรัฐศาสตร์ก็ต้องระลึกถึงข้อจำกัด และความเป็นการเมืองของมโนทัศน์ทางการเมืองต่างๆไว้ด้วย[10] มโนทัศน์ทางการเมืองจึงมีลักษณะที่สำคัญที่สุดคือเป็น "มโนทัศน์ที่ต้องถกเถียง" (contested concept) ไม่มีความตายตัว มีลักษณะสัมพัทธ (relative) ซึ่งการนำข้อเสนอในการถกเถียงนั้นก็ขึ้นอยู่กับพื้นฐานทางทฤษฎีของนักีฐศาสตร์แต่ละตระกูล ว่ามีมุมมองความเชื่อ, อุดมการณ์ และค่านิยมอย่างไร[5]