ร่องรอยกลุ่มวัฒนธรรมทวารวดี ของ ทวารวดี

อาณาเขตของอาณาจักร

ปัจจุบันร่องรอยเมืองโบราณ รวมทั้งศิลปะโบราณ[1] วัตถุสถานและจารึกต่าง ๆ ในสมัยทวารวดีนี้พบเพิ่มขึ้นอีกมากมาย และที่สำคัญได้พบกระจายอยู่ในทุกภาคของประเทศไทย โดยไม่มีหลักฐานของการแผ่อำนาจทางการเมืองจากจุดศูนย์กลางเฉกเช่นรูปแบบการปกครองแบบอาณาจักรทั่วไป เช่น

จากการศึกษาจากภาพถ่ายทางอากาศพบเมืองโบราณสมัยนี้ถึง 63 เมืองด้วยกัน นอกจากนี้จากการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดียังพบว่าเมืองโบราณแทบทุกแห่งจะมีลักษณะของการต่อเนื่องทางวัฒนธรรมจากชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ พัฒนาการขึ้นมาสู่ช่วงสมัยทวารวดีเมื่อมีการติดต่อกับอารยธรรมอินเดีย

ดังนั้นทฤษฎีของนักวิชาการรุ่นก่อนโดยเฉพาะความเชื่อเรื่องรูปแบบการปกครองแบบอาณาจักรและเมืองศูนย์กลางจึงเปลี่ยนไป ว่าน่าจะอยู่ในขั้นตอนของเมืองก่อนรัฐ (Proto-State) ในรูปของเมืองเบ็ดเสร็จหรือเมืองที่มีองค์ประกอบสมบูรณ์ในตัวเองทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และความเชื่อศาสนา หากจะมีอำนาจทางการเมืองก็หมายถึงมีอำนาจเหนือเมืองบริวารหรือชุมชนหมู่บ้านรอบ ๆ ในพื้นที่ใกล้เคียงเท่านั้น เมืองใหญ่เหล่านี้แต่ละเมืองจะมีอิสระต่อกัน และเกิดขึ้นมาพร้อมๆ กันเพราะผลจากการติดต่อค้าขายและรับวัฒนธรรมจากอินเดีย โดยเฉพาะทางด้านศาสนาพุทธแบบหินยาน รวมทั้งภาษาและรูปแบบศิลปกรรมแบบเดียวกัน

สภาพสังคมทวารวดีนั้นลักษณะไม่น่าจะเป็นอาณาจักร คงเป็นเมืองขนาดต่าง ๆ ซึ่งพัฒนาขยายตัวจากสังคมครอบครัว และสังคมหมู่บ้านมาเป็นสังคมเมืองที่มีชุมชนเล็ก ๆ ล้อมรอบ มีหัวหน้าปกครอง มีการแบ่งชนชั้นทางสังคม นอกจากนี้ยังมีการใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการปกครอง ความสัมพันธ์ระหว่างเมืองต่อเมืองหรือรัฐต่อรัฐ ไม่ใช่ความสัมพันธ์โดยการเมือง แต่โดยการค้า ศาสนา และความเหมือนกันทางวัฒนธรรม

เศรษฐกิจของชุมชนทวารวดีคงจะมีพื้นฐานทางการเกษตรกรรม มีการค้าขายแลกเปลี่ยนระหว่างเมือง หรือการค้าขายแลกเปลี่ยนกับชุนชนภายนอก ชุมชนทวารวดีเริ่มต้นแนวความเชื่อแบบพุทธศาสนาในลัทธิเถรวาท ควบคู่ไปกับการนับถือศาสนาพราหมณ์หรือฮินดู ทั้งลัทธิไศวนิกาย และลัทธิไวษณพนิกาย โดยศาสนาพราหมณ์ หรือศาสนาฮินดู จะแพร่หลายในหมู่ชมชนชั้นปกครอง ในระยะหลังเมื่อเขมรเข้าสู่สมัยเมืองพระนคร เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมทวารวดีก็ถูกครอบงำโดยเขมร และในตอนท้ายคติความเชื่อเดิมก็ได้เปลี่ยนแปลงไป

ชาวทวารวดีได้มีการพัฒนาการทางเทคโนโลยีอันก้าวหน้าจากการจัดระบบชลประทานทั้งภายในและภายนอกเมือง มีการขุดคลอง สระน้ำ การทำคันบังคับน้ำหรือทำนบ ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ได้ถ่ายทอดสู่ชนรุ่นหลังในสมัยลพบุรี และสมัยอาณาจักรสุโขทัย ด้านการคมนาคม คนในสมัยทวารวดีมีการสัญจรทั้งทางน้ำและทางบก นอกเหนือจากการติดต่อกับชาวเรือที่เดินทางค้าขายแล้ว ยังปรากฏร่องรอยของคันดินซึ่งสันนิษฐานว่าอาจเป็นถนนเชื่อมระหว่างเมือง นอกจากนี้หลักฐานทางโบราณคดีที่พบไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยหรือประติมากรรมล้วนแล้วแต่แสดงความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และศิลปกรรม เช่น เทคนิคตัดศิลาแลง การสกัดหิน การทำประติมากรรม การหล่อสำริด การหลอมแก้ว

วัฒนธรรมทวารวดีเริ่มเสื่อมลงราวปลายพุทธศตวรรษที่ 16 เมื่ออิทธิพลวัฒนธรรมแบบเขมรโบราณจากประเทศกัมพูชา ที่มีคติความเชื่อทางศาสนาและรูปแบบศิลปกรรมที่แตกต่างออกไปเข้ามาแทนที่

แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องทวารวดียังต้องการคำตอบอีกมากไม่ว่าปัญหาเรื่องของอาณาจักรหรือเมืองอิสระ ปัญหาเมืองศูนย์กลาง ปัญหาอาณาเขต หรือแม้แต่ชื่อ ทวารวดี จะเป็นชื่ออาณาจักร หรือชื่อกษัตริย์ หรือชื่อราชวงศ์หนึ่ง หรืออาจเป็นชื่อที่ใช้เรียกกลุ่มเมืองเจ้าของวัฒนธรรมแบบเดียวกันเฉกเช่นกลุ่มศรีวิชัยทางภาคใต้ ก็ยังเป็นปัญหาที่ต้องขบคิดและหาหลักฐานมาพิสูจน์กันต่อไป