ทศพร_วงศ์รัตน์

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ทศพร วงศ์รัตน์ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอนุกรมวิธานปลา จบการศึกษาจากคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และปริญญาโทจากประเทศเยอรมนี ได้รับพระราชทานทุนมูลนิธิอานันทมหิดลไปศึกษาต่อจนจบปริญญาเอกในเชิงอนุกรมวิธานปลาจากมหาวิทยาลัยลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้รับราชการเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2524 และต่อมาในปี พ.ศ. 2526 เป็น Postdoctoral Fellow ทำหน้าที่สอนวิชามีนวิทยาและหลักอนุกรมวิธานสัตว์ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติออสเตรเลีย เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย และที่ สถาบันสมิธโซเนียน กรุงวอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกาศ.ดร.ทศพร มีงานเขียนที่ได้ตีพิมพ์เป็นหนังสือ ตำรา และงานค้นคว้าวิจัยอย่างต่อเนื่องรวมกว่า 40 เรื่อง งานประเภทสารคดี สิ่งแวดล้อมและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกว่า 100 เรื่อง และยังมีผลงานเป็นภาพวาดปลาเพื่อใช้ประกอบงานวิจัยกว่า 300 ภาพ ซึ่งภาพวาดดังกล่าวได้รับการเผยแพร่อ้างอิงไปทั่วโลก เป็นผู้ค้นพบและได้ตีพิมพ์เผยแพร่ชื่อวิทยาศาสตร์ที่ตั้งขึ้นเองสำหรับปลาชนิดใหม่จากหลายน่านน้ำของโลกรวม 38 ชนิด และชื่อของท่านยังได้รับการตั้งเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ของปลาอีกหลายชนิดศ.ดร.ทศพร เป็นผู้ริเริ่มและก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ปลาทะเลขึ้นในกรมประมง และพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลงานชิ้นสำคัญที่สุด คือ งานความหลากหลายทางธรรมชาติวิทยาเกี่ยวกับปลาหลังเขียว - ปลาแมวและปลากะตักที่ปรากฏอยู่ในงานชุด "FAO Species Identification Guide for Fisheries Purposes" เรื่อง "The Living Marine Resources of the Western Central Pacific" Vol.3 หน้า 1698 – 1821 ซึ่งจัดพิมพ์โดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ กรุงโรม ในปี พ.ศ. 2542 นอกจากนี้ ศ. ดร. ทศพร วงศ์รัตน์ ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้เป็นราชบัณฑิต สาขาวิชาสัตววิทยา ประเภทวิทยาศาสตร์ชีวภาพ สำนักวิทยาศาสตร์ราชบัณฑิตยสถาน ในปี พ.ศ. 2532 เป็นศาสตราจารย์ในสาขาสัตววิทยา ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2535 และได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทยที่ได้รับ พระราชทานขั้นสูงสุด คือ มหาปรมาภรณ์ช้างเผือกและมหาวชิรมงกุฏ รวมทั้งได้รับการประกาศเกียรติคุณจาก สภาวิจัยแห่งชาติให้เป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา ประจำปี พ.ศ. 2537 และเป็นผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาในพ.ศ. 2543 สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์แห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ประกาศให้ ศ.ดร.ทศพร วงศ์รัตน์ เป็นบุคคลดีเด่นของชาติ สาขาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (ด้านชีววิทยา) และในพ.ศ 2546 ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เหรียญจตุตถดิเรกคุณาภรณ์ชั้น 4 ในฐานะผู้กระทำความดี ความชอบ อันเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชน อีกทั้งได้รับการบันทึกชื่อ และประวัติ ติดตั้งในหอเกียรติยศ ตึกมหามงกุฏ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกเหนือจากผลงานการค้นคว้าวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ จนมีผลงานเขียนตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องแล้ว ศ.ดร.ทศพร ได้หันมาศึกษาค้นคว้าและสนใจทางด้านวรรณคดีไทย โดยเฉพาะวรรณกรรมเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่ และได้เขียนหนังสือเรื่อง "พระอภัยมณี มาจากไหน..." (ตีพิมพ์โดย สำนักพิมพ์คอมฟอร์ม, 2550 : 296 หน้า) เพื่อแสดงความคิดเห็นและเสนอประเด็นต่าง ๆ เช่นเค้าของเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ และพงศาวดารไทย ตลอดจนเรื่องในสมุดภาพไตรภูมิ อันอาจจะเป็นที่มาในการเขียนเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่ นอกเหนือจากจินตนาการ ผลงานเล่มต่อมาจากการค้นคว้าทางด้านวรรณคดีไทย คือ "ลายแทงของสุนทรภู่" (ตีพิมพ์โดย สำนักพิมพ์วันทูปริ้นท์, 2552:288 หน้า) ที่เป็นการนำเสนอข้อมูลในนิราศเมืองเพชรที่มีหลายตอนที่สอดคล้องหรือตรงกับในพระอภัยมณีคำกลอน ปัจจุบัน ศ.ดร.ทศพร วงศ์รัตน์ เกษียณอายุราชการแล้ว และยังดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการจัดทำอนุกรมวิธานสัตว์ ราชบัณฑิตยสถาน ตั้งแต่ พ.ศ. 2546 จนถึงปัจจุบัน และประธานกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์สัตววิทยา ราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2551- ปัจจุบัน