การปฏิบัติ ของ ทักษิโณมิกส์

แนวทางแบบทักษิโณมิกส์ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงตกต่ำให้กลับฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้ง ก็คือ ส่งเสริมการบริโภคของประชาชน เพื่อขยายอุปสงค์รวมของประเทศให้สูงขึ้น อันจะนำไปสู่การลดการพึ่งพาการส่งออก ซึ่งอาจผันผวนได้ตลอดเวลา. หลังจากนั้น เมื่อเศรษฐกิจภายในมีเสถียรภาพในระดับหนึ่งแล้ว จึงจะกระตุ้นการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนต่อไปได้

โดยวิธีหนึ่งที่รัฐบาลทักษิณเลือกใช้กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศก็คือ การกระจายทรัพยากรทางการเงินไปสู่ประชาชนระดับ รากหญ้า ผ่านทางโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาล เช่น โครงการพักการชำระหนี้ของเกษตรกร โครงการธนาคารประชาชน โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ โครงการกองทุนหมู่บ้าน โครงการบ้านเอื้ออาทร ฯลฯ

ส่วนการกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนนั้น ในสมัยรัฐบาลทักษิณ 2 ได้มีนโยบายปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยจัดแบ่งกลุ่มอุตสาหกรรม (คลัสเตอร์) ออกเป็นห้ากลุ่มยุทธศาสตร์หลัก เช่น การท่องเที่ยว อุตสาหกรรมรถยนต์ เป็นต้น แล้วทำการส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์เหล่านี้.สำหรับการลงทุนภาครัฐ ได้ลงทุนและมีแผนจะลงทุนในโครงการขนาดยักษ์ (เมกะโปรเจกต์) ต่าง ๆ เช่น โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน โครงการระบบโลจิสติกส์ ซึ่งมีมูลค่ารวมกันสูงถึง 1.7 ล้านล้านบาท เป็นการกระตุ้นการลงทุนต่อจากกระตุ้นการบริโภคในช่วงสมัยแรกของรัฐบาล เพื่อรักษาไม่ให้อุปสงค์รวมมีผล (en:Effective Demand) ตกต่ำลง

นักวิจารณ์มองว่าแนวทางนี้นั้น ไม่ต่างอะไรไปจากเศรษฐศาสตร์แบบเคนส์ ของจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ และเศรษฐกิจไทยในช่วงรัฐบาลทักษิณนั้น ก็ยังคงเติบโตจากการส่งออกเป็นหลักเช่นเดิม ส่วนการบริโภคภายในประเทศก็เพิ่มขึ้นอย่างมากเพียงแค่ระดับปานกลางเท่านั้น และการที่ธนาคารของรัฐเร่งปล่อยกู้นั้น ก็อาจจะนำไปสู่หนี้เสียในที่สุด แนวทางนี้ กลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยมองว่าเป็นนโยบายประชานิยม ที่ทำไปเพื่อหวังคะแนนเสียงจากประชาชน ทั้งยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าเหมาะสมหรือไม่ เนื่องจากนอกจากอาจจะเป็นการสูญเปล่าไม่ได้ผลอะไรกลับมาแล้ว ยังอาจจะสร้างนิสัยการบริโภคเกินตัวของประชาชนอีกด้วย

อย่างไรก็ดี ในช่วงแรกของการใช้นโนบายนี้ เศรษฐกิจของไทยขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็วมาก ผิดจากการคาดหมายของนักเศรษฐศาสตร์ที่ไม่เห็นด้วยบางท่าน เช่น ดร. อัมมาร์ สยามวาลา ที่เคยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจปี พ.ศ. 2544 จะโตเพียง 1.5% แต่เศรษฐกิจของไทยในปีนั้นก็ขยายตัวถึง 5.2% อย่างก็ไรก็ตามก็ยังมีเสียงเตือนว่า โครงสร้างเศรษฐกิจพื้นฐานนั้น ยังไม่ได้รับการแก้ปัญหาอย่างแท้จริง ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาขึ้นอีกเมื่อไรก็ได้

ดร. สุวินัย ภรณวลัย ได้กล่าวว่า ทักษิโณมิกส์เป็นนโยบายประชานิยมที่ประสบความสำเร็จอย่างน่าเหลือเชื่อ ซึ่งน่าจะทำให้พรรคไทยรักไทยได้ทำหน้าที่บริหารประเทศอย่างยาวนาน อย่าง พรรค LDP ของประเทศญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม การทำให้ประชาชนพึ่งทักษิโณมิกส์มากเกินไปอาจทำให้รัฐบาลแบกภาระมากเกินไป และอาจทำให้ทุกอย่างล้มเหลวได้[2]