การตอบรับ ของ ทักษิโณมิกส์

การสนับสนุน

ผู้สนับสนุนกล่าวว่า จุดเด่นของทักษิโณมิกส์อยู่ที่การไม่ยึดแบบจำลองทางเศรษฐกิจอย่างตายตัว มีลักษณะเป็นพลวัตรและยืดหยุ่นสูง ทำให้สามารถปรับตัวรับกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ค่อนข้างดี เช่นในปี พ.ศ. 2548 เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญผลกระทบจากไข้หวัดนก คลื่นสึนามิ รวมทั้งราคาน้ำมันที่สูงถึง 69 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล แต่เศรษฐกิจไทยก็ยังขยายตัวได้ถึง 4.7%

ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้

การวิพากษ์วิจารณ์

ผู้วิพากษ์วิจารณ์ทักษิโณมิกส์ สามารถแบ่งกว้าง ๆ ออกได้เป็นหลายกลุ่ม เช่น

  • กลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ที่วิจารณ์ทักษิโณมิกส์ในช่วงแรก ซึ่งมักเป็นผู้ที่ได้รับการศึกษามาจากสหรัฐอเมริกาอเมริกาในช่วงปี ค.ศ. 1950-1970 กลุ่มนี้มีความเคยชินกับระบบเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาหลังสงครามโลกครั้งสอง ที่สหรัฐอเมริกาประสบปัญหาชะงักทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อสูง และภาวะการว่างงานสูง ที่เรียกว่า Stagflation ซึ่งไม่สามารถใช้วิธีการแบบเคนส์เข้าไปแก้ปัญหาได้ (ซึ่งถูกแก้ไขโดยแนวคิดที่เรียกว่า เรแกนอมิกส์ ในยุคประธานาธิบดีเรแกน) ซึ่งในประเด็นดังกล่าว กลุ่มผู้สนับสนุนทักษิโณมิกส์กล่าวว่าระบบเศรษฐกิจของไทยมีขนาดเล็กกว่าของของสหรัฐอเมริกา จึงไม่สามารถอนุมานได้ว่า วิธีการแบบเคนส์จะใช้กับประเทศไทยไม่ได้ผล
  • ผู้วิจารณ์อีกกลุ่ม มักเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง เช่น น.พ. ประเวศ วะสี เป็นต้น กลุ่มนี้มักมองภาพในมุมมองกว้างกว่าระบบเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่มองไปจนถึงระบบสังคมอีกด้วย กลุ่มนี้ไม่เชื่อในทุนนิยม ซึ่งเป็นพื้นฐานของทักษิโณมิกส์ และสนับสนุนระบบเศรษฐกิจทางเลือกอื่น เช่น ระบบเศรษฐกิจแบบยั่งยืน การค้าที่เป็นธรรม หรือแนวทางสังคมนิยม เป็นต้น แต่ในทางตรงกันข้าม นักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักก็มองว่าระบบเศรษฐกิจที่ยั่งยืนนั้น เป็นเพียงแนวความคิด และไม่มีแนวปฏิบัติอย่างชัดเจนที่จะทำให้เกิดขึ้นจริงได้เช่นกัน

ดร. สุวินัย ภรณวลัย ได้กล่าวว่า ความเชื่อของทักษิโณมิกส์มีหลักว่าเงินสามารถแก้ปัญหาได้ และการได้เสียงจากประชาชนเป็นความชอบธรรมในการบริหารประเทศ ซึ่งความสำเร็จของมันจะขึ้นอยู่กับคุณธรรมจริยธรรมของผู้บริหารเป็นสำคัญ[3]