นิยาม ของ ทักษิโณมิกส์

การดำเนินเศรษฐกิจแบบทักษิโณมิกส์นั้น ทักษิณนิยามว่าคือ นโยบายเศรษฐกิจ 2 แนวทาง (Dual Track Policy) โดยกล่าวว่านโยบายนี้ คือสูตรในการสร้างความเติบโตให้กับเศรษฐกิจไทย แนวทางแรกคือ กระตุ้นการส่งออก การลงทุนจากต่างประเทศ และการท่องเที่ยว เพื่อนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาในประเทศ และแนวทางที่สองคือ การกระตุ้นไปในระดับรากหญ้า มุ่งไปที่เกษตรกร ช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม และสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ ๆ

ทั้ง 2 แนวทางมีความมุ่งหมายกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยหาทางลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และขยายโอกาสให้ประชาชน ดร. ดาเนียล เลียน (en:Daniel Lian) หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของบริษัทมอร์แกน สแตนเลย์ เรียกลักษณะเศรษฐกิจแบบนี้ว่า "สังคมทุนนิยม" (Social Capitalism) หลักการคือ การประยุกต์ระบบทุนนิยมเข้ากับระบบสังคมนิยม เพราะระบบทุนนิยมเป็นระบบที่มีเป้าหมายแต่ไม่มีอุดมการณ์ ส่วนระบบสังคมนิยมเป็นระบบที่มีอุดมการณ์แต่ไม่มีเป้าหมาย[ต้องการอ้างอิง]

นโยบายเศรษฐกิจ 2 แนวทาง เป็นการปรับสังคมเศรษฐกิจฐานล่างให้เป็นระบบสังคมนิยมที่มีเป้าหมาย ส่วนเศรษฐกิจฐานบนใช้ระบบทุนนิยมที่มีอุดมการณ์ แต่นอกเหนือจากการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตแบบ นโยบายเศรษฐกิจ 2 แนวทาง แล้ว บางส่วนของนโยบายทักษิโณมิกส์คือ การแทรกตัวเข้าสู่ตลาดหุ้น ทำให้ตลาดหุ้นเติบโต เพื่อใช้เป็นช่องทางระบายหุ้นรัฐวิสาหกิจออกไปให้มากที่สุด เป็นการเชื่อมโยงระหว่างดัชนีตลาดหุ้น กับการสร้างมูลค่าสินทรัพย์ของรัฐ เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

โดยรัฐบาลได้ใช้กลไกเชื่อมโยงจากตลาดหุ้นไปสู่อุปสงค์รวมระบบเศรษฐกิจ ด้วยวิธีการนำสินทรัพย์ในตลาดหุ้นเปลี่ยนให้เป็นกระแสเงินสด ใช้ต่อสายป่านมาหมุนเศรษฐกิจอีกรอบ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ใช้ตลาดหุ้นสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ และผลักดันให้รัฐวิสาหกิจออกจากอ้อมอกของรัฐบาล ให้ยืนบนขาของตัวเอง การแปรรูปรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่จะสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับภาวะตลาดหุ้นเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุด เพราะนั่นจะหมายถึงการแก้ปัญหาหนี้สาธารณะในระยะยาวแบบเบ็ดเสร็จด้วย

ทักษิโณมิกส์ มีแนวโน้มการอาศัยความสามารถในเชิงบริหารจัดการของฝ่ายบริหารเป็นกลไกสำคัญในการบริหารโนบาย จะเห็นได้จากการจัดสรรงบประมาณกลางจำนวนสูงโดยไม่ได้กำหนดรายละเอียดการใช้จ่ายล่วงหน้า หรือการเข้าไปตรึงราคาน้ำมันเชื้อเพลิงโดยหวังว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกจะไม่ขึ้นสูงอย่างต่อเนื่อง อาจเรียกได้ว่าเป็นระบบ managed market economy

การเกิดใหม่ของระบบเศรษฐกิจแบบเคนส์

แบบจำลองสถิตซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายและปรากฏในตำราเศรษฐศาตร์มหภาคทั่วไปก็คือ แบบจำลอง en:IS/LM แบบจำลองดังกล่าวเกิดจากการตีความแนวคิดของ จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ โดยเซอร์ จอห์น ฮิกส์ (en:Sir John Hicks, 1937) และต่อมาได้เพิ่มเติมการเปรียบเทียบแนวคิดของทั้งนักเศรษฐศาสตร์สำนักเดิมและ Keynes โดย Paul Samualson (1948) ในหนังสือ Economics และกลายเป็นแบบจำลองที่ใช้แพร่หลายในการวิเคราะห์ประเด็นต่าง ๆ ทางเศรษฐศาสตร์มหภาค

แบบจำลองดังกล่าว แสดงลักษณะของระบบเศรษฐกิจซึ่งประกอบด้วย 2 ส่วนสำคัญ คือ อุปสงค์รวม (en:Aggregate demand) และอุปทานรวม (en:Aggregate supply) โดยอุปสงค์รวมถูกกำหนดจากดุลยภาพในตลาดสินค้า (goods market) และตลาดเงิน (money market) ส่วนอุปทานรวมถูกกำหนดจากดุลยภาพในตลาดแรงงาน (labour market) และเทคโนโลยีการผลิต ซึ่งแสดงโดยสมการการผลิต (en:production function) เมื่ออุปสงค์รวมเท่ากับอุปทานรวมของระบบเศรษฐกิจ แบบจำลองจึงสามารถกำหนดระดับผลผลิตดุลยภาพของระบบเศรษฐกิจได้

แนวคิดหลักทางเศรษฐศาสตร์มหภาคของเคนส์คือ

  • ระบบเศรษฐกิจไม่มีเสถียรภาพ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงของอุปสงค์รวมของภาคเอกชน คือ การบริโภค และการลงทุน ทำให้ผลผลิตมีความผันผวน
  • เมื่อเกิดความผันผวนขึ้น ระบบเศรษฐกิจจะไม่สามารถปรับตัวเข้าสู่ดุลยภาพ ณ ระดับการจ้างงานเต็มที่ได้ หรือใช้เวลานานในการปรับตัว เพราะกลไกราคาทำงานได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากระดับราคาและค่าจ้างที่เป็นตัวเงินปรับตัวไม่ได้อย่างสมบูรณ์และถูกจำกัด (rigidity)
  • ระดับการจ้างงานและผลผลิตดุลยภาพ จะถูกกำหนดจากปัจจัยทั้งทางด้านอุปสงค์และอุปทาน ดังนั้นส่วนประกอบของอุปสงค์รวม ซึ่งก็คือ การบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายของภาครัฐ จึงมีความสำคัญในการกำหนดระดับผลผลิต
  • รัฐสามารถใช้นโยบายเข้าแทรกแซงในระบบเศรษฐกิจ เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจปรับตัวเข้าสู่ดุลยภาพในระดับที่เหมาะสม ทั้งนี้เครื่องมือทางนโยบายที่มีประสิทธิภาพ คือ นโยบายการคลัง ซึ่งได้แก่ การเพิ่มการใช้จ่ายของรัฐบาล

ดังนั้นตามแนวคิดของเคนส์ จึงสามารถประมวลเป็นข้อสรุปทางนโยบายที่สำคัญคือ

  • เนื่องจากอุปสงค์ของภาคเอกชนมีความไม่แน่นอน ดังนั้นรัฐจึงควรเข้ามาแทรกแซงเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจปรับตัวเข้าสู่ดุลยภาพ โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดเศรษฐกิจตกต่ำ
  • เครื่องมือที่รัฐใช้ ควรเป็นนโยบายการคลัง ทั้งนี้เพราะในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ การใช้นโยบายการเงินโดยการเพิ่มปริมาณเงินจะไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากเกิดกับดักสภาพคล่อง ทำให้ปริมาณเงินที่รัฐเพิ่มเข้าไปในระบบเศรษฐกิจถูกถือไว้เฉย ๆ โดยภาคเอกชน เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพคือนโยบายการคลัง โดยการเพิ่มรายจ่ายของรัฐ

ข้อเสนอของเคนส์เป็นที่ยอมรับทั้งในสหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาอเมริกาในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะทำให้คนว่างานลดลงอย่างมาก ทำให้ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์มหภาคตามแนวคิดเคนส์ เป็นแนวคิดหลักต่อมาอีกหลายปี โดยในช่วงแรกนั้น ข้อเสนอทางด้านนโยบายส่วนใหญ่จะเน้นทางด้านนโยบายการคลัง จนกระทั่งนโยบายการเงินและบทบาทของเงินเริ่มเป็นที่กล่าวถึงในปลายคริสต์ทศวรรษ 1960 เนื่องจากการเสนอแนวคิดในเรื่องการทดแทนกัน (trade-off) ระหว่างการว่างงานและอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งอธิบายด้วยเส้นฟิลลิปส์ (en:Phillips curve)