ประวัติ ของ ธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ

หลังจากที่มีการเจรจาตกลงกันมาแล้วหลายปี เพื่อจัดตั้งคณะตุลาการระหว่างประเทศเป็นการถาวร มีหน้าที่พิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิดร้ายแรงและมีผลกระทบต่อหลายประเทศ เช่น การล้างชาติ สมัชชาสหประชาชาติจึงจัดการประชุมทางการทูตเพื่อจัดตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศ (United Nations Diplomatic Conference of Plenipotentiaries on the Establishment of an International Criminal Court) ขึ้นที่กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน ถึง 17 กรกฎาคม 2541 ในวันสุดท้ายของการประชุม ที่ประชุมได้รับรอง "ธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ" ด้วยมติหนึ่งร้อยยี่สิบเสียงต่อเจ็ดเสียง ทั้งนี้ มีรัฐยี่สิบเอ็ดรายงดออกเสียง[6][7][4] รัฐเจ็ดรายที่ไม่เห็นชอบกับธรรมนูญกรุงโรม ได้แก่ อิรัก อิสราเอล ลิเบีย จีน กาตาร์ สหรัฐอเมริกา และเยเมน[4]

ธรรมนูญกรุงโรม ข้อ 126 วรรค 1 ว่า "ธรรมนูญนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันแรกของเดือนถัดจากวันที่หกสิบหลังจากวันที่มีการยื่นสัตยาบันสาร สารให้ความยอมรับ สารให้ความเห็นชอบ หรือภาคยานุวัติสารฉบับที่หกสิบต่อเลขาธิการสหประชาชาติ" แสดงถึงเงื่อนไขว่า เมื่อมีรัฐให้ความเห็นชอบและเข้าเป็นภาคีแห่งธรรมนูญนี้ครบหกสิบรายแล้ว ก็ใช้ธรรมนูญบังคับได้[8] ในการนี้ เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2545 รัฐสิบรายได้ยื่นหนังสือแจ้งสหประชาชาติแสดงความเห็นชอบในธรรมนูญนี้พร้อมกัน โดยได้ยื่นในการประชุมนัดวิสามัญซึ่งจัดขึ้นที่สำนักงานใหญ่ของสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก[9] ส่งผลให้ใช้ธรรมนูญบังคับได้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2545[9] ส่วนศาลอาญาระหว่างประเทศนั้นมีอำนาจชำระความผิดทั้งหลายที่เกิดขึ้นในหรือตั้งแต่วันเริ่มใช้ธรรมนูญสืบไป[10]

ประเทศไทย

ประเทศไทยเป็นรัฐหนึ่งที่ลงมติสนับสนุนธรรมนูญกรุงโรมในการประชุมดังกล่าว และได้ร่วมลงนามธรรมนูญกรุงโรมเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2543 แต่ยังมิได้ให้สัตยาบันจนถึงขณะนี้ เนื่องจากต้องพิจารณาตามขั้นตอนที่กฎหมายในประเทศกำหนดไว้ก่อน คณะรัฐมนตรีไทยได้มีมติเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2542 แต่งตั้ง "คณะกรรมการพิจารณาธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศ" ขึ้นตามที่กระทรวงต่างประเทศเสนอ มีหน้าที่พิจารณาผลดีและผลเสียของการเข้าเป็นรัฐภาคีแห่งธรรมนูญ ตลอดจดพิจารณาว่าต้องออกกฎหมายเพิ่มเติมหรือปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่มีอยู่หรือไม่อย่างไร รวมทั้งดำเนินการต่าง ๆ ที่จำเป็น เช่น เผยแพร่เนื้อหาสาระของธรรมนูญให้แก่สาธารณชน

วันที่ 1 มิถุนายน 2542 คณะกรรมการพิจารณาธรรมนูญศาลอาญาระหว่างประเทศมีคำสั่งแต่งตั้ง "คณะอนุกรรมการแปลธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ" ขึ้น ประกอบด้วยกรรมการสิบคน เป็นผู้แทนจากส่วนราชการต่าง ๆ คือ สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ กระทรวงยุติธรรม, สำนักงานศาลยุติธรรม, สำนักงานอัยการสูงสุด, สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, กรมพระธรรมนูญ กระทรวงกลาโหม และกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ มีหน้าที่แปลธรรมนูญกรุงโรมเป็นภาษาไทย ใช้เวลาสองปีจึงแปลเสร็จในวันที่ 14 มิถุนายน 2544

เนื่องจากธรรมนูญกรุงโรม ข้อ 27 กำหนดว่า ให้ใช้ธรรมนูญบังคับแก่บุคคลทุกคนอย่างเสมอหน้ากัน และไม่มีใครจะอ้างอำนาจหน้าที่ทางราชการ โดยเฉพาะในฐานะประมุขแห่งรัฐ มาคุ้มกันตนให้พ้นจากความรับผิดทางอาญาได้เลย[11] รัฐบาลไทยจึงไม่ยอมให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรม เพราะ ข้อ 27 ดังกล่าวจะมีผลให้พระมหากษัตริย์ไทยอ้างความคุ้มกันตามกฎหมายไทยมิได้ เช่น ความคุ้มกันที่ให้ไว้ในมาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เป็นต้น[12]

มีหลายฝ่ายเรียกร้องให้ประเทศไทยให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรม โดยในเดือนพฤศจิกายน 2549 ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยให้สัตยาบันสำหรับธรรมนูญกรุงโรมเสียที เขาให้เหตุผลว่า หากประเทศไทยให้สัตยาบันแล้ว พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อาจถูกสอบสวนโดยศาลอาญาระหว่างประเทศ สำหรับความผิดต่อมนุษยชาติ ในกรณีที่สั่งให้กระทำวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดจำนวนสองพันห้าร้อยคนโดยมิได้สอบสวนเสียก่อนในช่วงปี 2546 เพื่อมิให้สืบสาวไปถึงผู้บงการที่อยู่เบื้องหลังซึ่งอาจเป็นบุคคลสำคัญในแวดวงสังคม ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อ "การฆ่าตัดตอน" ได้[13]

ใกล้เคียง

แหล่งที่มา

WikiPedia: ธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ http://www.bangkokpost.com/breaking_news/breakingn... http://www.state.gov/r/pa/prs/ps/2002/9968.htm http://www.icc-cpi.int/ http://www.icc-cpi.int/library/asp/OR_Vol_I_PartII... http://web.amnesty.org/library/index/engior4000820... http://www.amnestyusa.org/International_Justice/In... http://web.archive.org/web/20040605155639/http://w... http://www.asil.org/insights/insigh23.htm http://www.heritage.org/Research/InternationalOrga... http://www.iccnow.org/?mod=rome