สถาปัตยกรรม ของ ธรรมศาลา

แบบจำลองธรรมศาลายิวในเมืองไคฟง ณ พิพิธภัณฑ์ยิวพลัดถิ่น เทลอาวีฟ

ภายนอก

แม้ธรรมศาลายิวจะกำหนดผังมาตรฐาน ทว่าไม่ได้กำหนดลักษณะเฉพาะของสถาปัตยกรรมภายนอกและภายใน ฉะนั้น ธรรมศาลายิวจึงมีการสร้างในหลากหลายรูปแบบ หากดูตามประวัติศาสตร์จะพบว่า ธรรมศาลายิวมักสร้างขึ้นตามรูปแบบสถาปัตยกรรมท้องถิ่นในสมัยนั้น เช่น ธรรมศาลายิวในเมืองไคฟง ประเทศจีน มีลักษณะคล้ายเก๋งจีนในยุคนั้น

ช่วงแรกๆ ธรรมศาลายิวมักจำลองแบบจากวิหารของนิกายต่าง ๆ ในอาณาจักรโรมันตะวันออก ธรรมศาลาที่สร้างในยุคกลางของสเปนจึงมีกลิ่นอายของสถาปัตยกรรมมูเดฆาร์ (mudéjar) ในขณะที่ธรรมศาลาในบุดาเปสต์และปรากจะมีโครงสร้างแบบโกธิค

ในชุมชนยิวขนาดใหญ่มักมีการสร้างธรรมศาลาที่ทั้งใหญ่โตและอลังการ ที่ไม่เพียงแสดงให้เห็นถึงความมั่งคั่งของชาวยิวยุคนั้น แต่ยังแสดงให้เห็นว่า พวกเขาได้รับการยอมรับเป็นพลเมืองที่มีศักดิ์และสิทธิ์เท่าเทียมผู้อื่น และด้วยความที่ไม่มีข้อบังคับในการสร้าง ธรรมศาลายิวในยุโรปและอเมริกาจึงมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่หลากหลาย ทั้งแบบโบราณ นีโอคลาสสิก นีโอไบแซนไทน์ สถาปัตยกรรมฟื้นฟูโรมาเนสก์ นีโอโกธิค ฯลฯ

ทว่าหลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองแล้วธรรม ศาลายิวที่สร้างขึ้นใหม่นั้นจะสร้างตามสถาปัตยกรรมสมัยใหม่เป็นหลัก

แท่นอ่านคัมภีร์โทราห์ ณ ธรรมศาลา Bialystoker นิวยอร์ก

ภายใน

  • ทุกศาลาธรรมยิวต้องติดตั้งแท่นอ่านคัมภีร์โทราห์ (bimah) และโต๊ะสำหรับผู้นำสวด ส่วนในธรรมศาลายิวร่วมสมัยจะมีการตั้งแท่นเทศน์สำหรับรับไบด้วย

ในศาลาธรรมของชาวยิวเซฟาร์ดี โต๊ะสำหรับผู้นำสวดมักอยู่ตรงข้ามกับแท่นคัมภีร์ เพื่อเหลือพื้นที่ไว้สำหรับการทำพิธีนำคัมภีร์ออกจากหีบไปประดิษฐานบนแท่น

  • สถานที่ประดิษฐาน "หีบแห่งพันธสัญญา" หรือหีบพระโอวาท ลักษณะคล้ายห้องหรือตู้ภายในบรรจุม้วนคัมภีร์โทราห์ และต้องตั้งหันหน้าไปทางกรุงเยรูซาเล็มเสมอ ฉะนั้น ศาลาธรรมในซีกโลกตะวันตกจึงมักตั้งหันหน้ามาทางทิศตะวันออก ในขณะที่ศาลาธรรมทางตะวันออกของอิสราเอลจะหันไปทางทิศตะวันตก และในศาลาธรรมใหญ่มักมีการแขวนม่านประดับด้านหน้าหรือด้านในประตูเพื่อตกแต่งให้สวยงาม และเมื่อเริ่มสวด ชาวยิวจะนั่งหรือยืนหันหน้าไปทางหีบพระโอวาทเสมอ
  • คันประทีปทองคำ หรือบางแห่งจะใช้ตะเกียงไฟที่ไม่มีวันดับ (ner tamid หรือ "Eternal Light") เป็นสัญลักษณ์แทน "เมโนราห์" (Menorah) หรือเชิงเทียน 7 กิ่งประจำมหาวิหารในเยรูซาเล็มที่ไม่เคยดับ ซึ่งเดิมทีใช้เป็นสัญลักษณ์ของศาสนายูดาย ก่อนจะเปลี่ยนเป็นดาราแห่งเดวิด รูปดาว 6 แฉกอันเป็นตราสัญลักษณ์ประจำพระองค์ของกษัตริย์เดวิด[7]
  • ยิวนิกายออร์ธอด๊อกซ์จะไม่อนุญาตให้ติดตั้งรูปภาพหรือรูปปั้นมนุษย์ในศาลาธรรม เพราะถือว่าเป็นเสมือนรูปเคารพ