ประวัติศาสตร์ ของ นครรัฐเชลียง

การปกครองเมืองเหนือของอาณาจักรอยุธยา

อาณาจักรสุโขทัยตกอยู่ภายใต้อำนาจของอาณาจักรอยุธยาในรัชสมัยของสมเด็จพระอินทราชาและสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 แห่งอาณาจักรอยุธยา พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณและตำนานมูลศาสนาระบุว่า สุโขทัยและดินแดนโดยรอบ ซึ่งถูกเรียกโดยรวมว่า เมืองเหนือ ถูกแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ สองแคว สุโขทัย เชลียง และกำแพงเพชร[2] พระราชพงศาวดารไทยที่ชำระในสมัยรัตนโกสินทร์ระบุทั้ง 4 เมืองให้เป็น 4 ใน 16 ประเทศราชของอาณาจักรอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 แต่เนื่องจากข้อมูลประเทศราชเหล่านี้ขัดแย้งกับหลักฐานอื่น ทำให้ได้รับการสันนิษฐานว่า ถูกเพิ่มเติมเข้ามาในพงศาวดารในภายหลัง อาจตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระอินทราชา[3][4]

พระยาศรียศราช

จารึกพระยาศรียศราช วัดหงส์รัตนารามฯ[5]กล่าวถึงกษัตริย์[6]แห่งเชลียงในปี พ.ศ. 1966 พระนามว่า พระยาศรียศราช โดยพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหอพระสมุดวชิรญาณออกพระนามว่า พระยาเชลียง และมีพระโอรสองค์หนึ่งพระนามว่า เจ้าราชศรียศ[7]

พระยาเชลียงถูกกล่าวถึงในเหตุการณ์สถาปนาพระยาบาลเมืองแห่งสองแควขึ้นเป็นพระมหาธรรมราชาที่ 4 ซึ่งเกิดขึ้นในปีใดปีหนึ่งก่อนปี พ.ศ. 1969[8][3] ทำให้มีการจัดมหรสพเฉลิมฉลองที่เมืองสองแคว ซึ่งพระยาเชลียงทรงได้มาช่วยงานด้วย เมืองเชลียงถูกกล่าวถึงอีกครั้งในสงครามตีเมืองตายทองโดยกองกำลังผสมจากเมืองเหนือและอาณาจักรอยุธยา

ต่อมาในปี พ.ศ. 1977/1978 ไทยสากล[note 1] เจ้าอินต๊ะแก่นท้าวกษัตริย์แห่งนครรัฐน่านทรงถูกพระอนุชาชิงเมือง จึงเสด็จหนีไปยังเมืองเชลียง[9] พระยาเชลียงทรงรับอุปถัมภ์เจ้าอินต๊ะแก่นท้าวไว้และพาลงไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ณ กรุงศรีอยุธยา[7] ในปีต่อมา สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 โปรดให้เมืองเหนือทั้งสี่ นำโดยพระยาเชลียงรวมกำลังเข้าตีเมืองน่านเพื่อสนับสนุนเจ้าอินต๊ะแก่นท้าวขึ้นเป็นกษัตริย์ภายใต้อำนาจของอยุธยา ในระหว่างการเกณฑ์ไพร่พลนั้นเมืองไตรตรึงษ์ขัดขืนคำสั่งของพระยาเชลียง นครรัฐกำแพงเพชรรับหน้าที่เข้าตีเมืองไตรตรึงษ์แต่ไม่สำเร็จ ทำให้พระยาเชลียงทรงยกทัพมาช่วยจนได้เมืองไตรตรึงษ์[7] จากนั้นพระยาเชลียงและเจ้าอินต๊ะแก่นท้าวทรงนำกองทัพเมืองเหนือรบชนะกองทัพน่าน ทำให้เจ้าอินต๊ะแก่นท้าวทรงได้ครองเมืองน่านอีกครั้ง[10][9]

พระยาศรียศราชยังปรากฏในตำนานมูลศาสนาฝ่ายวัดสวนดอกในพระนาม ท้าวไสยศรียศ โดยระบุว่า เมื่อคณะสงฆ์วัดป่าแดงนำพุทธศาสนานิกายใหม่เข้ามาเผยแผ่ที่เชลียง พระยาเชลียงทรงไม่อนุญาตให้คณะสงฆ์วัดป่าแดงบวชประชาชน[11]

การสิ้นสุดของนครรัฐเชลียง

ในต้นรัชกาลพระเจ้าติโลกราชแห่งอาณาจักรล้านนา เกิดความขัดแย้งระหว่างพระองค์และพระอนุชา เจ้าเมืองเทิงจึงลอบส่งหนังสือไปชักชวนสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ขึ้นมายึดล้านนา จนนำไปสู่สงครามตีเมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 1985/1986 ไทยสากล[3] นครรัฐเชลียงและเมืองเหนืออื่นๆ มีส่วนร่วมในการตีเมืองเชียงใหม่ครั้งนี้ หนึ่งในพระยาผู้ปกครองได้เข้าชนช้างกับแม่ทัพเมืองพะเยา[note 2] แต่ไม่สามารถเอาชนะได้ ทำให้พระยายุทธิษเฐียรแห่งสองแควต้องเข้าช่วยเหลือ[12][13]

หลังสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถขึ้นครองราชย์ พระยายุทธิษเฐียรไม่พอพระทัยในตำแหน่งพระยาสองแคว[14]จึงทรงเข้าสวามิภักดิ์ต่ออาณาจักรล้านนาในปี พ.ศ. 1995 ไทยสากล ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ระบุว่า พระยายุทธิษเฐียรทรงชักชวนให้พระเจ้าติโลกราชให้ไปตีเมืองเชลียง แต่เมืองเชลียงป้องกันไว้ได้[12] ในขณะที่พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐระบุว่าเป็นเมืองสุโขทัย[3]

อาณาจักรอยุธยาและอาณาจักรล้านนาทำสงครามแย่งชิงเมืองเหนือหลายครั้งในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ในขณะเดียวกันสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้ทรงผนวกเมืองเหนือเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยา สองแคว สุโขทัย และกำแพงเพชรถูกลดสถานะจากประเทศราช โดยปรากฏตำแหน่งขุนนางเข้าปกครองแทน ได้แก่ ราชวังเมืองแห่งสองแควหลังปี พ.ศ. 1995 ไทยสากล[15][16] ขุนราชอาสาแห่งสุโขทัยและขุนเพชรรัตน์แห่งกำแพงเพชรในปี พ.ศ. 2000 ไทยสากล[13] ทว่าเมืองเชลียงยังคงปรากฏพระยาเชลียงเป็นผู้ปกครองในปี พ.ศ. 2004 ไทยสากล ซึ่งอาจมีพระนามว่า เจ้าแสน จากการตีความโคลงยวนพ่าย[17][18]

ในปี พ.ศ. 2003/2004 ไทยสากล พระเจ้าติโลกราชทรงยกทัพมายังเมืองเชลียง พระยาเชลียงทรงยอมอ่อนน้อมต่ออาณาจักรล้านนา พระเจ้าติโลกราชจึงโปรดให้ครองเมืองเชลียงดังเดิม นครรัฐเชลียงในช่วงเวลานี้ได้รับการสันนิษฐานว่า อาจได้ปกครองเมืองสุโขทัยด้วย จากการที่ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่เรียกพระยาเชลียงว่า พระยาเชลียงสุโขทัย[3] อย่างไรก็ตาม อาณาจักรอยุธยาได้ยึดเมืองสุโขทัยคืนในปีถัดมา ในปีเดียวกันนั้น พระยาเชลียงทรงคิดไม่ซื่อต่อพระเจ้าติโลกราชจึงถูกจับตัวไปยังเชียงใหม่ จากนั้นถูกส่งตัวไปยังเมืองหางและสิ้นพระชนม์ที่นั่น นครรัฐเชลียงถูกผนวกเข้าสู่อาณาจักรล้านนาโดยพระเจ้าติโลกราชโปรดให้เมืองเชลียงอยู่ในการปกครองของหมื่นด้งนครเจ้าเมืองลำปาง[12][note 3]

แหล่งที่มา

WikiPedia: นครรัฐเชลียง https://web.archive.org/web/20240117142855/https:/... https://web.archive.org/web/20240531154657/https:/... https://web.archive.org/web/20230116183408if_/http... https://web.archive.org/web/20221121062303/https:/... https://web.archive.org/web/20240531154812/https:/... https://web.archive.org/web/20221003151244/https:/... https://web.archive.org/web/20240531152915/https:/... https://web.archive.org/web/20220820024528/https:/... https://web.archive.org/web/20231106083502/https:/... https://web.archive.org/web/20240603021541/http://...