ประวัติศาสตร์ ของ นครแพร่

การก่อตัวของรัฐ

ในปี พ.ศ. 2270/2271 (จ.ศ. 1089) กบฏตนบุญเทพสิงห์โค่นล้มผู้ปกครองพม่าที่เมืองเชียงใหม่ ทำให้เกิดสภาวะสุญญากาศทางการเมืองในดินแดนล้านนาตอนล่าง แม้ว่าพม่าพยายามที่จะย้ายศูนย์กลางการปกครองไปยังเชียงแสน[4] แต่หัวเมืองล้านนาตอนล่างต่างแยกตัวเป็นอิสระและปกครองตนเองในลักษณะเดียวกับชุมนุมต่างๆหลังเสียกรุงครั้งที่ 2[5] ในขณะที่เมืองเชียงใหม่ นครลำพูน และนครลำปางต่างเปิดศึกทำสงครามกับเมืองข้างเคียง นครแพร่ได้สั่งสมฐานอำนาจในการคุ้มครองตนเอง ทำให้เมื่อเกิดการชิงอำนาจภายในนครลำปางระหว่างเจ้าฟ้าหลวงชายแก้วและท้าวลิ้นก่าน เจ้าฟ้าหลวงชายแก้วทรงขอความช่วยเหลือจากเจ้าเมืองแพร่แลกกับการเป็นไมตรีต่อกันในภายภาคหน้า[6]

ต่อมาราชวงศ์โก้นบองสามารถรวบรวมอาณาจักรพม่าได้สำเร็จในปี พ.ศ. 2300 และทำให้นครต่างๆในดินแดนล้านนาต่างส่งบรรณาการมาสวามิภักดิ์[2] ในปี พ.ศ. 2306 กองทัพพม่าเข้ายึดครองเมืองเชียงใหม่ที่ยังคงตั้งตัวเป็นอิสระอยู่ พร้อมทั้งปราบปรามหัวเมืองอื่นๆในล้านนา แต่ผู้ปกครองพม่าไม่สามารถควบคุมเมืองต่างๆได้อย่างสมบูรณ์[5] นครแพร่ร่วมกับเมืองต่างๆก่อกบฏต่อพม่า จนกระทั่งถูกปราบลงในปี พ.ศ. 2309[7] ในช่วงเดียวกัน พระเมืองไชย เจ้าเมืองแพร่ซึ่งนำทัพนครแพร่ลงไปร่วมรบในสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองตัดสินใจขัดคำสั่งพม่าและยกทัพกลับนครแพร่ ต่อมาพระเมืองไชยเข้าร่วมกับชุมนุมเจ้าพระฝาง[8] หลังจากชุมนุมเจ้าพระฝางแตก พระเมืองไชยเข้าสวามิภักดิ์ต่ออาณาจักรธนบุรีในสงครามเชียงใหม่ พ.ศ. 2314 และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระยาศรีสุริยวงศ์

นครแพร่ในฐานะประเทศราชของสยาม

หลังจากได้รับสถานะประเทศราชของสยาม นครแพร่ร่วมมือกับนครเชียงใหม่ นครลำปาง และนครน่านขยายอำนาจสู่ดินแดนของเชียงแสนซึ่งยังคงถูกปกครองโดยพม่า จนในที่สุดก็สามารถทำลายเมืองเชียงแสนได้ในปี พ.ศ. 2347 นครแพร่ร่วมมือกับนครเชียงใหม่และนครน่านขยายอำนาจขึ้นสู่กลุ่มนครรัฐไทลื้อและเชียงรุ่งเป็นลำดับถัดไป นอกจากนี้ นครแพร่ยังร่วมกับฝ่ายสยามในการปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์[9]และทำสงครามเชียงตุง เนื่องจากอาณาเขตนครแพร่ถูกล้อมรอบด้วยรัฐพันธมิตรทำให้ไม่สามารถขยายดินแดนได้ นครแพร่จึงใช้วิธีกวาดต้อนผู้คนจากเมืองที่ตีได้มาฟื้นฟูบ้านเมืองแทน[5]

ต้นพุทธศตวรรษที่ 25 สยามเริ่มได้รับผลกระทบจากการขยายอำนาจของชาติตะวันตก สยามจึงเร่งผนวกประเทศราชต่างๆเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยาม ในปี พ.ศ. 2442 สยามประกาศจัดตั้งมณฑลลาวเฉียง ทำให้สถานะประเทศราชของนครแพร่สิ้นสุดลง อย่างไรก็ตาม เจ้าผู้ครองนครแพร่ยังคงมีตำแหน่งเจ้าต่อไปและมีอำนาจในการปกครองบางส่วนในเขตของนครแพร่[5]

อาณาเขตของนครแพร่ (ซ้ายล่าง) โดยเฮอร์เบิร์ต วาริงตัน สมิธ เจ้ากรมราชโลหกิจและภูมิวิทยาของสยาม ระหว่าง พ.ศ. 2438-2439[10]

การล่มสลาย

ในรัชสมัยเจ้าพิริยเทพวงษ์ ได้เกิดความไม่สงบขึ้นในนครแพร่ โดยพวกไทใหญ่หรือเงี้ยวได้ทำการก่อจลาจลเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2445 จากเหตุการณ์ครั้งนี้ เจ้าหลวงนครแพร่ถูกกล่าวหาว่าคบกับพวกเงี้ยว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้ถอดจากยศตำแหน่ง ริบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้งหมดคืน พระองค์จึงไปใช้ชีวิตบั้นปลายที่เมืองหลวงพระบางในสหภาพอินโดจีน และได้พำนักอยู่ที่นั่นจนกระทั่งพิราลัยในปี พ.ศ. 2455 แม้จนสุดท้ายแล้วพระพุทธเจ้าหลวงถึงจะทรงพิโรธการเรียกร้องความไม่เป็นธรรมของเจ้าหลวงนครแพร่อย่างไรพระองค์ก็ทรงออกมาปกป้องว่า เจ้าหลวงพิริยะเทพวงษ์นั้น แม้จะกลับมาชิงบ้านเมืองคืนจริง ก็ไม่ใช่ความคิดของเจ้าหลวงแต่เป็นนโยบายของฝรั่งเศส พระองค์ทรงให้เจ้านายทายาทเจ้าหลวงอยู่อย่างสงบสุขด้วยเจ้านายราชวงศ์จักรีที่ทรงวางใจคือสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ มือขวาของพระองค์นั่นเอง ส่วนเจ้านายที่ถูกคาดโทษพระองค์ก็ให้ทำหน้าที่ปราบโจรผู้ร้ายชดใช้ จึงถือเป็นการสิ้นสุดเจ้าผู้ครองนครแพร่

ใกล้เคียง

แหล่งที่มา

WikiPedia: นครแพร่ https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/... https://www.silpa-mag.com/history/article_35386 https://digital.car.chula.ac.th/cgi/viewcontent.cg... https://commons.wikimedia.org/wiki/File:%E0%B8%9E%... https://commons.wikimedia.org/wiki/File:%E0%B9%82%... https://web.archive.org/web/20240419220738/https:/... https://commons.wikimedia.org/wiki/File:%E0%B8%9B%... https://www.finearts.go.th/storage/contents/file/y... https://web.archive.org/web/20221004125015/https:/... https://www.google.com/books/edition/History_of_Bu...