คติชน ของ นางกวัก

คติไทยเดิม

ที่มาที่ไปของนางกวักนั้นไม่เป็นที่แน่ชัดนัก และคาดว่าน่าจะเกิดจากพัฒนาการนับถือผีของคนไทย ตาม บทสวดคาถาบูชานางกวัก กล่าวว่านางกวักเป็นบุตรีของปู่เจ้าเขาเขียว ดังปรากฏความว่า[10]

"โอม มหาสิทธิโชคอุดม โอมปู่เจ้าเขาเขียว มีลูกสาวคนเดียว ชื่อแม่นางกวัก ชายเห็นชายรัก หญิงเห็นหญิงรัก รู้จักทุกตำบล คนรักทุกถ้วนหน้า โอมพวกพานิชชา พากูไปค้าถึงเมืองแมน ค้าหัวแหวน ก็ได้แสนทะนาน กูค้าสารพัดการ ก็ได้กำไรคล่อง ๆ กูจะค้าเงินก็เต็มกอง กูจะค้าทองก็เต็มหาบ กลับมาเรือนสามเดือน เลื่อนเป็นเศรษฐี สามปีเป็นพ่อค้าสำเภา โอมปู่เจ้าเขาเขียว ประสิทธิแก่กูคนเดียว สวาหะ"

ส่วน โองการไหว้ครูช่าง มีการกล่าวถึงเทพสตรีองค์หนึ่งชื่อนิลบรรพตเทพสุดา แปลว่า "ลูกสาวของเทพยดาแห่งเขาเขียว" ซึ่งชื่อใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ในคติของครูช่างเชื่อว่านิลบรรพตเทพสุดาเป็นเทพแห่งการเย็บปักถักร้อย และเป็นพระภาคหนึ่งของพระวิศวกรรม ทว่านิลบรรพตเทพสุดากลับมีลักษณะเหมือนกันกับนางกวักคือ "กวัก" ทรัพย์สมบัติมาให้ ดังปรากฏใน โองการไหว้ครูช่าง ความว่า[10]

"...อนึ่งไซร้ข้าขอเคารพนบนางนามปรากฏ นิลบรรพตเทพสุดา กวักมาซึ่งสุวรรณรัตน์ สรรพสมบัติโอฬาร จะแจ้งการพิธี มารับพลีทั้งหลายไซร้ แล้วให้พระศรีสวัสดิ์ ปัดสรรพภัยทุกประการ นำศฤงคารโภคาทั่วทุกสิ่งมา เพิ่มพูนประมูลมากธนสาร นานมาโดยเนืองนิตย์ ประสิทธิแต่ปวงข้าพเจ้า ตามขนบเค้าแบบบรรพ์..."

อรุณศักดิ์ กิ่งมณี นักโบราณคดีกรมศิลปากร ไม่ยืนยันว่านางกวักกับนิลบรรพตเทพสุดาเป็นเทพีองค์เดียวกัน[10]

นิทานพื้นบ้านลพบุรี

นางกวักปรากฏอยู่ในนิทานพื้นบ้านลพบุรีที่รับอิทธิพลจากรามเกียรติ์ฉบับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช[11] โดยมีเนื้อเรื่องว่าพระรามได้ต่อสู้กับท้าวกกขนาก (รามเกียรติ์ฉบับพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 เรียกท้าวอุณาราช) เจ้าเมืองสิงขรผู้มีใจอยุติธรรม ด้วยการแผลงศรพรหมมาสตร์ตรึงท้าวกกขนากไว้บนเขาวงพระจันทร์ และสาปว่าท้าวกกขนากจะออกไปได้ก็ต่อเมื่อถึงยุคพระศรีอาริย์ หรือลูกศรที่ตรึงท้าวกกขนากถูกรดด้วยน้ำส้มสายชูเท่านั้น หลังจากเหตุการณ์นั้นนางนงประจันทร์ธิดาท้าวกกขนากจึงเพียรทอผ้าไตรจีวรจากใยบัวเตรียมถวายพระศรีอาริย์ในอนาคต มิหนำซ้ำวันดีคืนดีนางนงประจันทร์จะแปลงกายเป็นหญิงสาวมาซื้อน้ำส้มสายชูหวังใจจะนำน้ำส้มสายชูนั้นไปราดรดศรพรหมมาสตร์[11] ชาวบ้านที่ทราบดังนั้นก็โกรธและรังเกียจนางนงประจันทร์ด้วยเกรงว่าหากท้าวกกขนากหลุดพ้นออกมาก็จะทำร้ายผู้คนอีก ด้วยเหตุนี้ปู่เจ้าเขาเขียวซึ่งเป็นสหายสนิทของท้าวกกขนากก็เกิดมีใจสงสารนางนงประจันทร์ จึงส่งนางกวักซึ่งเป็นธิดาไปอยู่เป็นเพื่อนนางนงประจันทร์ หลังจากนั้นเป็นต้นมา จากเดิมที่เคยมีผู้คนรังเกียจนางนงประจันทร์ ก็กลับมีแต่คนรักใคร่ นำลาภนำผลมาให้ นางนงประจันทร์จึงยกย่องนางกวักว่าเป็นหญิงผู้นำความสมบูรณ์ในโภคทรัพย์[12]

การทำให้เป็นอินเดีย

หลังการรับศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ ได้มีการนำเสนอที่มาของนางกวักว่ามีต้นกำเนิดในประเทศอินเดียมาแต่ยุคพุทธกาล นางกวักมีนามเดิมว่าสุภาวดี เกิดที่เมืองมิจฉิกาสัณฑนคร เป็นธิดาของสุจิตต์พราหมณ์ กับมารดาชื่อสุมณฑา ครั้นจำเริญวัยได้เดินทางไปค้าขายกับบิดา ระหว่างทางได้พบกับพระอรหันต์สองคือพระมหากัสสปะและพระสีวลี ซึ่งได้ประสาทพรให้นางสุภาวดีให้เป็นผู้เจริญร่ำรวยจากการค้าขาย ทำให้ครอบครัวของนางร่ำรวยขึ้น โดยสุภาวดีและครอบครัวมักทำบุญและบริจาคทานอยู่เป็นนิจ หลังนางสุภาวดีเสียชีวิตจึงมีการสร้างรูปขึ้นมาเคารพบูชา[13]

ทว่าคติการนับถือนางกวักไม่เคยมีในประเทศอินเดีย เข้าใจว่าคงแต่งเรื่องให้นางกวักมีความเป็นมายาวนาน และเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์แก่นางกวักมากกว่า[13]

ใกล้เคียง

แหล่งที่มา

WikiPedia: นางกวัก http://www.museum-press.com/content-%E2%80%9C%E0%B... http://www.komchadluek.net/news/lifestyle/100881 http://www.komchadluek.net/news/lifestyle/148390 http://www.museumsiam.org/da-detail.php?MID=3&CID=... http://www.crs.mahidol.ac.th/thai/rosita.htm http://www.chiangmainews.co.th/page/archives/54841... https://www.sarakadee.com/2018/11/28/nang-kwak/ https://www.sentangsedtee.com/exclusive/article_54... https://commons.wikimedia.org/wiki/Category:Nang_K... https://www.dailynews.co.th/article/205225