การใช้งานปฏิทินในประเทศไทย ของ ปฏิทินไทย

ในภาษาไทย คำว่า "ปฏิทิน" มาจากศัพท์ภาษาบาลี ปฏิ (เฉพาะ , สำหรับ) + ทิน (วัน) บัญญัติขึ้นเพื่อให้มีความหมายว่า "แบบสำหรับดู วัน เดือน ปี" สามารถเขียนได้เป็น ประติทิน (ภาษาสันสกฤต) หรือ ประฏิทิน (บาลีแผลง) ประดิทิน แต่มีการเรียกผิดเป็น ปุรติทิน บ้าง ประนินทิน บ้าง (คำหลังนี้พบในหนังสือที่เขียนโดย หมอบรัดเลย์ ในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ หน้า 412 และหนังสือสยามไสมย หน้าโฆษณา ของหมอสมิท[ต้องการอ้างอิง] เป็นต้น) พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 กริ้วและตำหนิ ดังปรากฏในพระบรมราชาธิบายว่า "...หนังสือจำพวกเรียงรายวัน นับคติพระอาทิตย์ พระจันทร์และอื่นๆที่ลงเป็นตารางนั้น ภาษาไทยเราเขียนว่า ประฏิทิน ถึงคำเพ็ดทูลและอ่านก็ว่าประฏิทิน แต่คำคนไม่รู้เรียกว่า ประนินทิน คำนี้พวกครูของพวกโรงพิมพ์จะไม่รู้ดอกกระมัง ด้วยมิใช่ของข้างวัดวาอารามบาล่ำบาลีอะไร" (ช.ชินพัฒน์. กรุงเทพฯ : ฉลาดปราดเปรื่องเฟื่องประติทินหมืนปี, 2540 หน้า 40-41 และ ยุธิษเฐียร. สารคดีชุดรู้ไว้ก็ดี, 2503 หน้า 205)

ปฏิทินแบบสำหรับดู วัน เดือน ปี มีทั้งที่จารึกบนก้อนหิน หรือ ขีด เขียน และพิมพ์บนกระดาษ ซึ่งมีทั้งชนิดเป็นแผ่น ตั้งแต่ 1 – 12 แผ่น และชนิดพิมพ์เป็นเล่มแบบหนังสือปฏิทินชนิดเล่ม

การพิมพ์ปฏิทินมีขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทย เมื่อ วันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2385 (ปลายสมัยรัชกาลที่ 3) ซึ่งสามารถตรวจสอบและค้นคว้าหาหลักฐานได้จากไมโครฟิล์ม หนังสือบางกอกคาเลนดาร์ ปี ค.ศ. 1870 (พ.ศ. 2413) หน้า 5 ในหอสมุดแห่งชาติ หรือค้นคว้าได้จากหนังสือต้นฉบับ ที่หอสมุดดำรงราชานุภาพ ซึ่งหมอ บรัดเลย์ ได้เขียนไว้ว่า “ 14 First Calendar print in B. 1842 ” (ไม่บอกว่าใครเป็นผู้พิมพ์ แต่คาดหมายว่า คือ หมอ บรัดเลย์ ซึ่งเป็นเจ้าของโรงพิมพ์ ผู้มีผลงานทางหนังสือมากมาย)

รัชกาลที่ 4 ทรง ฯ โปรดให้พิมพ์ปฏิทินภาษาไทย (ภายหลังจากหมอบรัดเลย์พิมพ์ปฏิทินชิ้นแรกในสยาม เมื่อ พ.ศ. 2385) เมื่อ วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2404 ดังปรากฏหลักฐานใน หนังสือบางกอกคาเลนดาร์ ฉบับ ปี ค.ศ. 1862 (พ.ศ. 2405) หน้า 108

ในสมัย รัชกาลที่ 5 ปฏิทินที่พิมพ์ในเมืองไทยได้แก่ “ ประนินทิน ” ซึ่งลงโฆษณาใน หนังสือสยามไสมย ของ หมอสมิท เขียนคำโฆษณาไว้ตอนหนึ่ง ว่า “ ประนินทินนี้ แจ้งให้รู้ถึงการอื่นเป็นอันมากอันควรคนทั้งปวงจะรู้ ถ้าไม่รู้เขาจะนินทาว่าคนโง่ ” แจ้งราคาขายไว้เล่มละ 4 บาท (ราคาในสมัยนั้น) ปัจจุบันยังหาประนินทินของหมอสมิทไม่พบ

ปฏิทินในสมัย รัชกาลที่ 6 ที่น่าสนใจได้แก่ปฏิทินพกเล่มเล็กๆ ที่พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์เป็นของชำร่วย สำหรับแจกพระราชทาน แก่ขุนนางที่ลงนามถวายพระพร ในวันขึ้นปีใหม่ ปฏิทินพกแบบนี้ยังมีแจกต่อมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งบุคคลธรรมดาก็สามารถไปลงนามถวายพระพรและรับปฏิทินหลวงได้[ต้องการอ้างอิง]

การพิมพ์ปฏิทินเล่มยังมีการจัดทำต่อมา จนกระทั่งถึงรัชกาลปัจจุบัน ปฏิทินเล่มยังมีรายละเอียดในเรื่องของ สภาพภูมิอากาศ เวลาน้ำขึ้น – น้ำลง การเดินทางของดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ และมีช่องว่างให้บันทึกเล็กน้อย ยังมีสมุดบันทึกอีกแบบหนึ่ง ซึ่งบอกรายละเอียดของ วัน เดือน ปี เรียงไปตามลำดับ และมีหน้าสำหรับจดบันทึกหมายเหตุรายวัน รวมถึงวันสำคัญ และวัน เวลา นัดหมาย ฯลฯ ที่เรียกว่า “ ไดอารี่ ” (Diary) หรือ ” สมุดบันทึกประจำวัน ” ก็สามารถอนุโลมให้เป็นปฏิทินได้

ปฏิทินไดอารี่ เริ่มมีใช้ในเมืองไทยเมื่อใดยังไม่ปรากฏหลักฐานที่ชัดเจน แต่ไดอารี่ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วไป และมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างสูง คือ ไดอารี่ของรัชกาลที่ 5 ซึ่งเมื่อตีพิมพ์เผยแพร่มีชื่อเรียกว่า "จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน"[ต้องการอ้างอิง]