วันสำคัญของไทย ของ ปฏิทินไทย

ดูเพิ่มที่ วันสำคัญ และ วันสำคัญทางพุทธศาสนา
  1. วันมาฆบูชา ได้แก่วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 (หรือเดือน 4 ในปีอธิกมาส)
  2. วันสิ้นปีทางจันทรคติ หรือวันตรุษ ตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 4 ของทุกปี ตั้งแต่รัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา กำหนดให้เป็นวันสิ้นปีจุลศักราช
  3. วันมหาสงกรานต์ หรือที่เรียกง่าย ๆ ว่า วันสงกรานต์ เป็นวันที่โหร เชื่อว่าพระอาทิตย์เริ่มสู่ราศีเมษ ปัจจุบันตกวันที่ 13 หรือ 14 เมษายน โดยมีวันเถลิงศก หรือวันพระญาวัน คือวันขึ้นปีใหม่ทางสุริยคติแบบดั้งเดิมของไทย ปัจจุบันตกประมาณวันที่ 16 เมษายน วันที่อยู่ระหว่างวันสงกรานต์ กับวันเถลิงศก อาจมี 1 หรือ 2 วันก็ได้เรียกว่าวันเนา (การคำนวณหาวันสงกรานต์ วันเนา และวันเถลิงศก เป็นการคำนวณตามคัมภีร์สุริยยาตร)
  4. วันวิสาขบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน6 (หรือเดือน 7 ในปีอธิกมาส)
  5. วันอัฏฐมีบูชา (เก็บพระอัฏฐิพระพุทธเจ้า) ตรงกับวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 (หรือเดือน7 ในปีอธิกมาส)
  6. วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 (หรือเดือน 8 หนหลัง ในปีอธิกมาส)
  7. วันเข้าพรรษา ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 (หรือเดือน 8 หนหลัง ในปีอธิกมาส)
  8. วันข้าวประดับดิน หรือข้าวบิณฑ์ ตรงกับวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9
  9. วันข้าวสลากภัต/ข้าวสาก/ก๋วยสลาก ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10
  10. วันสารทไทย หรือวันครึ่งปี ตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 (6 หรือ 7 เดือน หลังวันตรุษในข้อ 2)
  11. วันออกพรรษา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11
  12. วันตักบาตรเทโว และเริ่มเทศกาลกฐิน ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11
  13. วันลอยกระทง และสิ้นสุดเทศกาลกฐิน ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12
  14. วันสิ้นปีนักษัตร วันแรม 15 ค่ำ เดือน 12

การกำหนดวันพิธีกรรมทางศาสนา ในปีอธิกมาส

เรายึดเดือน 8 หนที่สอง เป็นเดือน 8 ที่แท้จริง ดังนั้นวันวิสาขบูชาซึ่งโดยปกติจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 แต่ในปีที่มีเดือน 8 สองหน ให้เลื่อนไปอยู่ในเดือน 7 แทน โดยถือว่าเดือน 8 หนหลังเป็นเดือน 8 ที่แท้จริง ส่วนเดือน8 หนแรก ก็จะมีค่าเท่ากับเดือน 7เป็นที่น่าสังเกตว่า ประเพณีไทยและชาวเอเชียให้ความสำคัญกับวันส่งท้ายปีเก่าที่กำลังจะจากไปมากกว่าวันปีใหม่ เพื่อแสดงความกตัญญูต่อบุคคลและธรรมชาติ ที่ให้ความช่วยเหลือเราในปีที่ผ่านมา ดังนั้นจึงจัดงานเลี้ยงในหมู่คนที่คุ้นเคยกัน เพื่อแสดงความขอบคุณในความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และขออภัยที่สิ่งผิดพลาดหรือล่วงเกินในปีที่ผ่านมา ไม่ใช่การจัดชุมนุมร่วมกับคนแปลกหน้าเพื่อนับถอยหลัง สลัดของเก่าให้พ้นตัวไปแบบฝรั่ง เมื่อเป็นเช่นนี้ช่วงสิ้นปี จึงมีความสำคัญมากกว่าช่วงต้นปีอนึ่งคำว่า วันตรุษจีน ก็แปลว่า วันสิ้นปีของจีนเช่นกัน ปัจจุบันตกอยู่ประมาณวันแรม 15 ค่ำเดือนยี่ของไทย หรือเดือน 3 ในปีอธิกมาส นิยมเรียกว่า วันไหว้บรรพบุรุษ ส่วนวันปีใหม่ คือ วันถัดมา ที่เรียกว่า วันเที่ยว (แต่ในปฏิทิน และคนทั่วไปนิยมเรียกวันขึ้นปีใหม่หรือวันเที่ยวว่า วันตรุษจีน จึงไม่ต้องสงสัยว่าคนจีนให้ความสำคัญกับวันไหนมากกว่ากัน ระหว่างการไหว้บรรพบุรุษ กับการเที่ยว)