เจตนาของเยอรมนี ของ ปฏิบัติการบาร์บาร็อสซา

ทฤษฎีของนาซีที่มีต่อสหภาพโซเวียต

ในปี ค.ศ. 1925 ฮิตเลอร์ได้เขียนเจตนาของเขาในการรุกรานสหภาพโซเวียตไว้อย่างชัดเจนใน ไมน์คัมพฟ์ (เยอรมัน: Mein Kampf; การต่อสู้ของข้าพเจ้า) โดยระบุถึงความเชื่อของเขาที่ว่าชาวเยอรมันเป็นชนที่พึงได้พื้นที่อยู่อาศัย (เยอรมัน: Lebensraum; อาทิเช่นที่ดิน ทรัพยากรและวัตถุดิบ) ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวนั้นควรเสาะแสวงหาในดินแดนตะวันออก อีกทั้งนโยบายทางเชื้อชาติของนาซียังระบุว่าเชื้อชาติสลาฟเป็นเชื้อชาติที่ต่ำกว่ามนุษย์ ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของ "ยิวบอลเชวิค" ในหนังสือไมน์คัมพฟ์ ฮิตเลอร์ยังเขียนไว้อีกว่าชะตากรรมของเยอรมนีคือการมุ่งสู่ตะวันออก อย่างที่เคยเกิดขึ้นเมื่อหกร้อยปีก่อนหน้านั้น และ "เพื่อยุติการปกครองของชาวยิวในรัสเซีย ซึ่งจะเป็นการยุติความเป็นรัฐของรัสเซียลงไปด้วย" หลังจากนั้น ฮิตเลอร์ได้กล่าวถึงการต่อสู้ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้กับ "แนวคิดรวมเชื้อชาติสลาฟ" และชัยชนะที่ได้จะนำไปสู่ "ความเป็นเจ้าโลกนิรันดร" แม้ก่อนหน้านั้น ฮิตเลอร์จะเคยกล่าวว่า "เราจะต้องเดินทางเดียวกับพวกรัสเซีย ถ้านั่นเป็นประโยชน์ต่อเรา" ฉะนั้น นโยบายของรัฐบาลนาซี คือ สั่งฆ่า เนรเทศ หรือจับชาวรัสเซียหรือชาวสลาฟเป็นทาส และให้ดินแดนเหล่านั้นเป็นที่อยู่อาศัยของชาวเยอรมันแทน

ความสัมพันธ์เยอรมนี-โซเวียต ระหว่างปี 1939-1940

ทหารเยอรมันและทหารโซเวียต ณ "แนวชายแดนแห่งสันติภาพ" ซึ่งเป็นเส้นแบ่งอิทธิพลระหว่างเยอรมนีและสหภาพโซเวียต อันเป็นผลมาจากสนธิสัญญาโมโลตอฟ-ริบเบนทรอป

สนธิสัญญาโมโลตอฟ-ริบเบนทรอปได้รับการลงนามไม่นานก่อนหน้าการรุกรานโปแลนด์ของเยอรมนีและสหภาพโซเวียตในปี ค.ศ. 1939 ซึ่งโดยทั่วไปแล้วสนธิสัญญาดังกล่าวมีเนื้อหาเป็นสนธิสัญญาไม่รุกรานกัน แต่ทว่าได้มีข้อตกลงลับระหว่างนาซีเยอรมนีและสหภาพโซเวียตว่าจะแบ่งเขตอิทธิพลของทั้งสองชาติ สนธิสัญญาดังกล่าวสร้างความตกตะลึงให้กับโลกเนื่องจากความเป็นอริดั้งเดิมของทั้งสองฝ่าย รวมถึงอุดมการณ์ที่ตรงข้ามกันอย่างเห็นได้ชัด อย่างไรก็ตามเมื่อสนธิสัญญาได้รับการลงนามแล้ว ทั้งนาซีเยอรมนีและสหภาพโซเวียตก็กลายเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญ และมีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเหนียวแน่น โดยที่สหภาพโซเวียตเป็นผู้ส่งน้ำมันและวัตถุดิบต่าง ๆ ให้กับเยอรมนี ซึ่งช่วยให้เยอรมนีรอดพ้นจากการปิดล้อมทางทะเลของอังกฤษ ในขณะที่เยอรมนีก็ส่งมอบเทคโนโลยีทางการทหารให้กับสหภาพโซเวียต แต่ทว่าทั้งสองฝ่ายก็ยังคงความคลางแคลงในเจตนาของอีกฝ่าย หลังจากเยอรมนีได้เข้าร่วมกับฝ่ายอักษะร่วมกับอิตาลีและญี่ปุ่น เยอรมนีได้เจรจาเชิญชวนให้สหภาพโซเวียตเข้าเป็นสมาชิกด้วย หลังจากการเจรจานานสองวันในกรุงเบอร์ลินระหว่างวันที่ 12–14 พฤศจิกายน เยอรมนีได้ส่งข้อเสนอเป็นลายลักษณ์อักษรให้แก่สหภาพโซเวียตเพื่อเชิญชวน ทางด้านสหภาพโซเวียตได้ส่งข้อเสนอของตนกลับมาในวันที่ 25 พฤศจิกายน ค.ศ. 1940 แต่ไร้ท่าทีตอบสนองจากเยอรมนี เนื่องจากความเป็นอริต่อกันของทั้งสองประเทศเพิ่มมากขึ้นทุกที และเมื่อเกิดข้อพิพาทที่ขัดแย้งกันขึ้นในยุโรปตะวันออก จึงเป็นผลให้การปะทะกันทางทหารเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

แผนการรุกรานของเยอรมนี

การกระทำของสตาลินได้ทำให้นาซีเยอรมนีใช้อ้างเหตุผลเพื่อเตรียมการรุกรานและเพิ่มความเชื่อมั่นในความสำเร็จ ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษ 1930 สตาลินได้สั่งประหารและคุมขังประชาชนจำนวนหลายล้านคนระหว่างการกวาดล้างครั้งใหญ่ ซึ่งผู้ที่ถูกสั่งประหารและคุมขังนั้นได้รวมไปถึงบุคลากรทางทหารที่มีความสามารถ ทำให้กองทัพแดงอ่อนแอและขาดผู้นำ พรรคนาซียังได้ใช้ความโหดร้ายดังกล่าวในการโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งมีเนื้อหากล่าวหาว่า กองทัพแดงเตรียมการที่จะรุกรานเยอรมนี และการรุกรานของเยอรมนีนั้นเป็นการกระทำเพื่อป้องกันตัว

ระหว่างช่วงฤดูร้อนของปี ค.ศ. 1940 เมื่อปริมาณวัตถุดิบของเยอรมนีตกอยู่ในสภาวะวิกฤต และขีดความสามารถในการรุกรานสหภาพโซเวียตเหนือดินแดนคาบสมุทรบอลข่านมีความเป็นไปได้สูง ดังนั้น ฮิตเลอร์จึงมีความมั่นใจในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการรุกรานสหภาพโซเวียต แต่ในขณะนั้น ฝ่ายเยอรมนียังไม่มีแผนการที่เป็นรูปเป็นร่างชัดเจน ฮิตเลอร์ได้กล่าวแก่นายพลของเขาในเดือนมิถุนายนถึงชัยชนะในยุโรปตะวันตกว่า "เป็นการเตรียมการต่อเป้าหมายสำคัญที่แท้จริง นั่นคือ การจัดการกับพวกบอลเชวิค" แต่นายพลของเขาได้แย้งว่าการยึดครองสหภาพโซเวียตภาคพื้นยุโรปจะทำให้เกิดความสิ้นเปลืองมากกว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ แต่ฮิตเลอร์ได้คาดหวังผลประโยชน์หลายประการที่จะได้หลังจากการเอาชนะสหภาพโซเวียตไว้ว่า:

  • เมื่อสหภาพโซเวียตพ่ายแพ้แล้ว จะทำให้สามารถปลดประจำการทหารส่วนใหญ่ในกองทัพเพื่อนำไปแก้ปัญหาการขาดแรงงานของเยอรมนีในขณะนั้น เนื่องจากเมื่อการรบสำคัญสิ้นสุดลงแล้ว จึงไม่ต้องการทหารจำนวนมากอีกต่อไป
  • ยูเครนจะกลายเป็นแหล่งอาหารราคาถูกที่อุดมสมบูรณ์ให้กับชาวเยอรมัน เนื่องจากมีความเหมาะสมต่อเกษตรกรรมเป็นอย่างยิ่ง
  • เนื่องจากสหภาพโซเวียตมีประชากรมากมาย ทำให้ฮิตเลอร์มองโซเวียตเป็นแหล่งแรงงานทาสราคาถูกซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่นคงทางภูมิยุทธศาสตร์ให้กับประเทศเยอรมนีอย่างมาก
  • ความพ่ายแพ้ของสหภาพโซเวียตจะยิ่งทำให้จักรวรรดิอังกฤษ ซึ่งกำลังจะพ่ายแพ้อยู่แล้ว ถูกโดดเดี่ยวมากขึ้นไปอีก
  • สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำมันบากู เพื่อตอบสนองความต้องการทางเศรษฐกิจได้

ในวันที่ 5 ธันวาคม ฮิตเลอร์ได้รับทราบแผนการรุกรานที่เป็นไปได้ และอนุมัติแผนการทั้งหมด ต่อมา ในวันที่ 18 ธันวาคม ฮิตเลอร์ได้ลงนามในคำสั่งสงครามหมายเลข 21 ไปยังกองบัญชาการทหารสูงสุดของเยอรมนีในเรื่องปฏิบัติการซึ่งตั้งชื่อว่า "บาร์บาร็อสซา" กล่าวว่า "กองทัพเยอรมันต้องพร้อมที่จะบดขยี้สหภาพโซเวียตได้อย่างรวดเร็ว" โดยแผนการรุกรานถูกกำหนดให้มีขึ้นในวันที่ 15 พฤษภาคม ค.ศ. 1941 ส่วนทางด้านสหภาพโซเวียต สตาลินได้กล่าวแก่นายพลของเขาว่า จากที่ฮิตเลอร์ได้กล่าวถึงการรุกรานสหภาพโซเวียตใน ไมน์คัมพฟ์ กองทัพแดงจะต้องพร้อมที่จะตั้งรับการรุกรานจากเยอรมนี และพูดว่า ฮิตเลอร์คิดว่ากองทัพแดงจะต้องใช้เวลาเตรียมการนานถึงสี่ปี แต่เราจะต้องพร้อมได้เร็วกว่านั้นและเราคิดจะยืดเวลาของสงครามได้นานออกไปอีกสองปี

ช่วงฤดูใบไม้ร่วงของปี ค.ศ. 1940 นายทหารระดับสูงของกองทัพเยอรมันได้ร่างบันทึกซึ่งกล่าวถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นภายหลังการรุกรานสหภาพโซเวียต รวมไปถึงความคิดที่ว่ายูเครน เบโลรุสเซียและรัฐแถบบอลติกจะเป็นภาระใหญ่หลวงทางเศรษฐกิจต่อเยอรมนี ส่วนนายทหารอีกพวกหนึ่งได้แย้งว่าระบบรัฐการของโซเวียตจะไม่ได้รับผลกระทบ และการยึดครองดังกล่าวจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดต่อเยอรมนี รวมไปถึงไม่เข้าใจว่าเหตุใดจึงต้องเข้าไปเกี่ยวยุ่งกับพวกบอลเชวิคด้วย ฮิตเลอร์ปฏิเสธความคิดเห็นทั้งหมด รวมไปถึงนายพลจอร์จ โธมัส ซึ่งกำลังเตรียมการรายงานเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจในแง่ลบที่จะเกิดขึ้นภายหลังจากการรุกรานสหภาพโซเวียต

ปฏิบัติการบาร์บาร็อสซาส่วนใหญ่เริ่มต้นมาจากความคิดของฮิตเลอร์แต่เพียงผู้เดียว ในขณะที่บุคลากรทางทหารและสมาชิกในพรรคนาซีแนะนำว่าเขาควรที่จะจัดการกับเกาะบริเตนให้เสร็จสิ้นไปก่อน แล้วจึงค่อยเปิดการโจมตีสหภาพโซเวียตในแนวหน้าตะวันออก แต่ส่วนใหญ่เหล่านายพลของฮิตเลอร์ก็เห็นด้วยกับฮิตเลอร์ว่าการบุกโซเวียตนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะต้องเกิดขึ้นในวันใดวันหนึ่ง ในตอนนั้นฮิตเลอร์พิจารณาแล้วว่าตนเองนั้นเป็นอัจฉริยะทางการทหารและการเมือง และเป็นที่แน่ชัดว่าในขณะนั้นเขาได้รับชัยชนะอย่างรวดเร็วในแทบทุกประเทศที่เขาโจมตี (ยกเว้นเกาะบริเตนที่ยังสามารถยันการโจมตีของเยอรมันได้อยู่) ทั้ง ๆ ที่ก่อนการโจมตี โอกาสที่เขาจะชนะนั้นมีน้อยมาก อย่างไรก็ตามเขาละเลยคำแนะนำของผู้บัญชาการกองทัพเยอรมัน ซึ่งเกิดมาจากความไม่ยั้งคิดและความยินดีที่จะเสี่ยง ประสมกับระเบียบวินัยของทหารของเขาและยุทธวิธีการโจมตีสายฟ้าแลบ ทำให้เขาสามารถเอาชนะซูเดเทนแลนด์ ออสเตรีย และเชโกสโลวาเกียอย่างง่ายดาย จากนั้นเขาก็สามารถเอาชนะประเทศโปแลนด์ เดนมาร์ก และนอร์เวย์ได้โดยประสบกับปัญหาเล็กน้อยเท่านั้น จากนั้นเขาก็ยังสามารถทำลายกองทัพของฝรั่งเศสได้อย่างรวดเร็วโดยการบุกผ่านลักเซมเบิร์กซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของแนวมายิโนต์ (Maginot Line) และทำการปิดล้อมกองกำลังสัมพันธมิตร แล้วกองทัพของเขาจึงมุ่งหน้าไปทางใต้ไปยังชายแดนสวิส ต่อมากองกำลังสัมพันธมิตรสามารถโจมตีฝ่าส่วนปิดล้อมด้านเหนือออกมาได้ แต่ก็ถูกต้อนไปยังเมืองดันเคิร์ก และจนมุมโดยสิ้นเชิง จนกระทั่งกองทัพบริเตนกู้ภัยออกมาได้ ซึ่งทำให้ตอนนี้ผืนดินในภูมิภาคยุโรปตะวันตกเป็นของฮิตเลอร์โดยสิ้นเชิง แต่กองทัพของเขาไม่สามารถบุกข้ามช่องแคบอังกฤษไปยังเกาะบริเตนได้ในทันทีเนื่องจากความเหนือกว่าของอังกฤษในด้านการรบทางทะเล และมีอำนาจเท่าเทียมกันทางอากาศ ซึ่งข้อได้เปรียบดังกล่าวของอังกฤษทำให้ยังไม่ยอมจำนนโดยง่าย แม้ว่าจะต้องยันกับเยอรมัน โดยไม่สามารถตอบโต้กลับได้ก็ตาม เมื่อความด้อยกว่าของกองทัพเรือเยอรมันในด้านกองกำลังทางทะเล และไร้ความได้เปรียบในด้านกองกำลังทางอากาศ ทำให้การบุกมิอาจทำได้ ในช่วงเวลาสั้น ๆ ทำให้ฮิตเลอร์หมดความอดทน และในขณะเดียวกันความต้องการในการบุกโซเวียตนั้นมีมากกว่าการบุกเกาะบริเตน (เนื่องจากฮิตเลอร์เชื่อว่าชาวอังกฤษเป็นเผ่าพันธุ์ที่เท่าเทียมกับเผ่าพันธุ์อารยัน) ทำให้ฮิตเลอร์โน้มน้าวบุคลากรของเขาว่ารัฐบาลบริเตนจะต้องพยายามสงบศึกกับเยอรมันแน่นอนเมื่อสหภาพโซเวียตถูกล้มไปแล้ว โดยเขากล่าวว่า:

"เราเพียงแค่ต้องถีบประตูลงมา แล้วอาคารที่เสื่อมโทรมทั้งอาคารก็จะถล่มลงมาด้วย"

แต่ฮิตเลอร์นั้นมั่นใจเกินไปจากการที่เขาประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วในการรบในยุโรปตะวันตก อีกทั้งยังสบประมาทความสามารถของโซเวียตที่จะสู้รบในสงครามนอกฤดูหนาว ทำให้เขาเชื่อว่าการรบจะจบลงก่อนฤดูหนาวในรัสเซีย และไม่ได้สั่งการให้เตรียมเสบียงเสื้อผ้ากันความหนาวเย็นให้กับทหาร ซึ่งจะส่งผลรุนแรงในเวลาต่อมา อดอล์ฟ ฮิตเลอร์หวังไว้ว่าเมื่อเขาเอาชนะกองทัพแดงได้แล้ว รัฐบาลอังกฤษจะต้องเจรจาขอสงบศึกกับนาซีเยอรมนีอย่างแน่นอน

ใกล้เคียง

ปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยถ้ำหลวง ปฏิบัติการบาร์บาร็อสซา ปฏิบัติการเอนเทบเบ ปฏิบัติการสะพานลอนดอน ปฏิบัติการเท็งโง ปฏิบัติการบากราตีออน ปฏิบัติการวัลคือเรอ ปฏิบัติการดาวน์ฟอล ปฏิบัติการเสาค้ำเมฆา ปฏิบัติการคอนดอร์

แหล่งที่มา

WikiPedia: ปฏิบัติการบาร์บาร็อสซา http://www.britannica.com/bps/topic/335949/Siege-o... http://www.militaryhistoryonline.com/wwii/articles... http://www.english.uiuc.edu/maps/ww2/barbarossa.ht... http://www.foia.cia.gov/CPE/CAESAR/caesar-25.pdf http://www.army.mil/cmh-pg/books/wwii/balkan/20_26... http://www.army.mil/cmh-pg/books/wwii/balkan/appen... http://www.rus-sky.org/history/library/w/ http://www.ushmm.org/wlc/article.php?lang=en&Modul... http://www.hrono.ru/dokum/197_dok/1979zhukov2.html http://militera.lib.ru/research/meltyukhov/index.h...