การลงมือปฏิบัติ ของ ปฏิบัติการวัลคือเรอ

พันเอก ฟ็อน ชเตาเฟินแบร์ค (ซ้ายสุด) และฮิตเลอร์ที่รังหมาป่า ก่อนเริ่มปฏิวัติการวัลคือเรอ

บุคคลหลักของแผนการ คือ พันเอกเคลาส์ ฟ็อน ชเตาเฟินแบร์ค ก่อนที่จะลงมือปฏิบัติการจริงหลังจากการลอบสังหารฮิตเลอร์ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1944 พันเอกชเตาเฟินแบร์คยังได้ปรับปรุงแผนการวัลคือเรอเพิ่มเติม ตำแหน่งหัวหน้ากองเสนาธิการกองทัพสำรองทำให้เขาสามารถเข้าถึงตัวฮิตเลอร์ในการรายงานต่าง ๆ ได้ ในตอนแรก พันเอกเทร็สโคและพันเอกชเตาเฟินแบร์คได้พยายามเสาะหานายทหารคนอื่นๆ ที่สามารถเข้าถึงตัวฮิตเลอร์และสามารถลงมือลอบสังหารเขาได้ ซึ่งพลเอกเฮลมูท ชตีฟ ผู้อำนวยการโครงสร้างบุคลากรของกองบัญชาการใหญ่กองทัพบกเยอรมัน ก็ได้อาสาที่จะเป็นมือสังหารฮิตเลอร์แต่ได้ถอนตัวออกไปในภายหลัง เทร็สโคพยายามหลายครั้งในการขอโอนย้ายตัวเองไปอยู่ในกองบัญชาการใหญ่ของฮิตเลอร์ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ท้ายที่สุด พันเอกชเตาเฟินแบร์คจึงตัดสินใจที่จะลงมือเองในการปฏิบัติการลอบสังหารฮิตเลอร์และปฏิบัติการวัลคือเรอไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งเป็นการลดโอกาสที่จะสำเร็จเป็นอย่างมาก หลังจากความพยายามสองครั้งไม่ประสบผล ชเตาเฟินแบร์คจึงแอบลอบวางระเบิดไว้ในห้องประชุมในกองบัญชาการสนาม "รังหมาป่า" (มณฑลปรัสเซียตะวันออก) ในวันที่ 20 กรกฎาคม เพื่อสังหารฮิตเลอร์ ส่วนตนเองก็รีบออกจากรังหมาป่าบินกลับมาดำเนินการตามแผนการต่อในกรุงเบอร์ลิน อย่างไรก็ดี ฮิตเลอร์รอดชีวิตมาจากการลอบวางระเบิดดังกล่าวมาได้

หลังจากที่พลเอกอาวุโสฟร็อมได้รับยืนยันว่าฮิตเลอร์ไม่ได้ถูกสังหารโดยการลอบวางระเบิด เขาจึงออกคำสั่งให้ประหารชีวิตพลเอกอ็อลบริชท์ พันเอกอัลบรีชต์ ริทเทอร์ เมอร์ทซ์ ฟ็อน เควอร์นไฮม์ (หัวหน้านายทหารเสนาธิการของพลเอกอ็อลบริชท์) พันเอกชเตาเฟินแบร์ค และร้อยโทแวร์เนอร์ ฟ็อน เฮ็ฟเทิน (ผู้ช่วยชเตาเฟินแบร์ค) ทั้งหมดถูกนำตัวไปยิงประหารภายในลานของกองบัญชาการใหญ่เบนด์เลอร์บล็อก[4] ไม่นานหลังจากเที่ยงคืน วันที่ 21 กรกฎาคม 1944

อย่างไรก็ตาม หลังการสั่งประหารผู้สมคบก่อการในปฏิบัติการวัลคือเรอแล้ว ต่อมา ตัวพลเอกอาวุโสฟร็อมเองก็ไม่สามารถรอดพ้นไปจากชะตากรรมเดียวกันได้ เขาถูกเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคนาซี กล่าวหาว่า จงใจเร่งสั่งประหารชีวิตผู้ร่วมก่อการพยายามรัฐประหารดังกล่าว (แทนที่จะเก็บตัวไว้ก่อนเพื่อไต่สวนต่อไป) เพื่อปิดปากมิให้มีการให้การพาดพิงมาถึงตัวพลเอกอาวุโสฟร็อมเองว่าเคยมีส่วนรู้เห็นในแผนการดังกล่าวด้วย พลเอกอาวุโสฟร็อมถูกสอบสวน ถูกถอดยศ และถูกประหารชีวิตในวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ. 1945 ที่บรันเดินบวร์ค จากความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่ผิดพลาดร้ายแรงและล้มเหลวในการรายงานผู้บังคับบัญชาเกี่ยวกับความพยายามก่อรัฐประหาร แม้ทางการนาซีเยอรมันจะไม่สามารถหาหลักฐานที่ชัดเจนว่าเขามีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับปฏิบัติการวัลคือเรอก็ตาม

ใกล้เคียง

ปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยถ้ำหลวง ปฏิบัติการบาร์บาร็อสซา ปฏิบัติการเอนเทบเบ ปฏิบัติการสะพานลอนดอน ปฏิบัติการดาวน์ฟอล ปฏิบัติการระห่ำ โคตรคนฟอร์จูน ปฏิบัติการเท็งโง ปฏิบัติการวัลคือเรอ ปฏิบัติการแอสพิเดส ปฏิบัติการบากราตีออน

แหล่งที่มา

WikiPedia: ปฏิบัติการวัลคือเรอ http://www.atypon-link.com/OLD/doi/pdf/10.1524/VfZ... http://www.valkyrie-plot.com http://www.stmuk.bayern.de/blz/web/20juli/6.html http://www.stmuk.bayern.de/blz/web/20juli/index.ht... http://www.bpb.de/publikationen/XR9P2V,0,0,Auf_dem... http://ghi-dc.org/ http://germanhistorydocs.ghi-dc.org/index.cfm?lang... http://germanhistorydocs.ghi-dc.org/sub_image.cfm?... http://www.germanhistorydocs.ghi-dc.org/sub_docume...