แผนการ ของ ปฏิบัติการวัลคือเรอ

พันเอกเคลาส์ ฟ็อน ชเตาเฟินแบร์ค ผู้นำหลักในการรัฐประหาร

แผนการดั้งเดิมได้รับการออกแบบมาเพื่อรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินภายในประเทศ โดยกองเสนาธิการของพลเอกฟรีดริช อ็อลบริชท์[1] และได้รับการรับรองเห็นชอบจากฮิตเลอร์เอง อันที่จริง แนวคิดในการวางแผนดึงเอากองกำลังสำรองของกองทัพบกเยอรมันในแนวหลัง (ในดินแดนเยอรมันเองหลังแนวรบ) มาใช้ในการก่อรัฐประหารเคยถูกหยิบยกขึ้นมาขบคิดก่อนหน้านี้แล้ว แต่ถูกพลเอกอาวุโสฟรีดริช ฟร็อม ปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือ

การที่พลเอกเอกอาวุโสฟรีดริช ฟร็อม ผู้บัญชาการกองทัพสำรอง เป็นนายทหารคนเดียวที่สามารถออกคำสั่งเริ่มปฏิบัติการวัลคือเรอ ถือเป็นอุปสรรคต่อคณะรัฐประหารอย่างร้ายแรง แต่กระนั้น หลังจากบทเรียนที่ได้รับมาหลังจากความพยายามลอบสังหารฮิตเลอร์ ในวันที่13 มีนาคม ค.ศ. 1943 แล้ว พลเอกอ็อลบริชท์รู้สึกว่าแผนการก่อรัฐประหารฉบับเดิมนั้นไม่ดีพอ และจะต้องมีการดึงเอากองทัพสำรองมาใช้ในการก่อรัฐประหารด้วยให้ได้ แม้ว่าจะไม่ได้รับความร่วมมือจากพลเอกอาวุโสฟร็อมก็ตาม

พลตรีเฮ็นนิง ฟ็อน เทร็สโค

แผนวัลคือเรอฉบับเดิมมีเจตนาเพียงที่จะจัดยุทธศาสตร์เพื่อเตรียมความพรั่งพร้อมและความพร้อมรบของกองทัพสำรองที่มีหน่วยทหารในสังกัดต่างๆ กระจายกันอยู่เท่านั้น แต่พลเอกอ็อลบริชท์ได้ดัดแปลงโดยการเพิ่มเติมส่วนที่สองของแผนการดังกล่าวเข้าไป ซึ่งทำให้กลายเป็นการเรียกระดมหน่วยต่างๆในสังกัดกองทัพสำรองให้มาระดมกำลังกันโดยเร่งด่วน เพื่อจัดตั้งเป็นกองทหารขนาดใหญ่ที่พร้อมสามารถปฏิบัติการรบได้ทันที ระหว่างเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน ค.ศ. 1943 พันเอกเทร็สโคพบว่า การดัดแปลงแก้ไขของพลเอกอ็อลบริชท์ก็ยังดีไม่พอ จึงได้เพิ่มเติมวัลคือเรอออกไปอีกโดยร่างคำสั่งเพิ่มเติม กำหนดให้ออกประกาศลับที่ขึ้นต้นด้วยด้วยประโยคลวง ที่ว่า:

I.) ท่านผู้นำฮิตเลอร์ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว!พวกคนไร้คุณธรรมในกลุ่มผู้นำพรรค กำลังพยายามใช้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้ทำการแทงข้างหลังกองทัพ และยึดอำนาจไว้เพื่อตนเองII.) ในยามวิกฤตยิ่งเช่นนี้ รัฐบาลไรช์ขอประกาศภาวะฉุกเฉินทางทหารเพื่อรักษากฎระเบียบ พร้อมกันนี้ ได้โอนอำนาจบริหารกองบัญชาการใหญ่แห่งแวร์มัคท์มายังข้าพเจ้าIII.) ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงขอสั่งการ: 1.) โอนอำนาจบริหาร พร้อมสิทธิ์มอบช่วงต่อ ให้กับผู้บัญชาการบนดินแดนดังต่อไปนี้ –ในเขตสงครามเคหะได้แก่ผู้บัญชาการกองทัพสำรอง พร้อมกันนี้ได้ตั้งเป็นผู้บัญชาการใหญ่เขตสงครามเคหะ –เขตยึดครองตะวันตกได้แก่ผู้บัญชาการใหญ่ตะวันตก –ในอิตาลีได้แก่ผู้บัญชาการใหญ่ตะวันตกเฉียงใต้ –เขตยึดครองตะวันออกได้แก่เหล่าแม่ทัพกลุ่มและผู้บัญชาการทหารแวร์มัคท์แดนตะวันออกตามลำดับพื้นที่บัญชาการ –ในเดนมาร์กและนอร์เวย์ได้แก่ผู้บัญชาการทหารแวร์มัคท์2.) ให้ผู้ถืออำนาจบริหารเข้าบังคับเหนือ:a) ทหารแวร์มัคท์ทุกกรมกอง ตลอดจนวัฟเฟิน-เอ็สเอ็ส กองแรงงานไรช์ และองค์การท็อท ในพื้นที่ใต้บังคับb) อำนาจฝ่ายรัฐทั้งหมด (ของไรช์, เยอรมนี, มลรัฐ และเทศบาล) โดยเฉพาะตำรวจรักษาความสงบ, ตำรวจรักษาความมั่นคง และตำรวจอำนวยการc) เจ้าหน้าที่และหน่วยงานย่อยทั้งหมดของพรรคกรรมกรชาติสังคมนิยมเยอรมัน ตลอดจนสมาคมในสังกัดd) บริการคมนาคมขนส่งและสาธารณูปโภค3.) ให้ผนวกวัฟเฟิน-เอ็สเอ็สทั้งหมดเข้ากับกองทัพบก มีผลในทันที4.) ให้ผู้ถืออำนาจบริหารรับผิดชอบรักษาระเบียบความมั่นคงของส่วนรวม และเอาใจใส่ต่อa) ความมั่นคงในการข่าวb) การขจัดตำรวจเอ็สเดการฝ่าฝืนอำนาจบังคับทหารจะถูกทำลายล้างอย่างไม่เว้นในยามวิกฤตของปิตุภมิเช่นนี้ ความสมานฉันท์ของกองทัพและการรักษาระเบียบวินัยคือสิ่งสำคัญที่สุดข้าพเจ้าจึงมีความจำเป็นต้องมอบหมายหน้าที่แก่ผู้บัญชาการทั้งหมดของกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ให้การสนับสนุนทุกวิถีทางแก่ผู้ถืออำนาจบริหารเพื่อปฏิบัติภารกิจอันยากลำบากนี้ รวมถึงเอาใจใส่ว่าคำสั่งการของพวกเขาได้ถูกปฏิบัติตามโดยหน่วยใต้บังคับบัญชา ทหารเยอรมันกำลังยืนอยู่บนภารกิจแห่งประวัติศาสตร์ผู้บัญชาการใหญ่แห่งแวร์มัคท์(ลงนาม) ฟ. วิทซ์เลเบินจอมพล


คำสั่งอย่างละเอียดถูกร่างขึ้นเพื่อใช้สำหรับการเข้ายึดที่ทำการกระทรวงทั้งหลายในกรุงเบอร์ลิน, กองบัญชาการใหญ่ของฮิมม์เลอร์ในปรัสเซียตะวันออก, สถานีวิทยุและโทรศัพท์ และสายบังคับบัญชาของระบอบนาซีในมณฑลทหารบกต่างๆ ตลอดจนค่ายกักกัน[1] (ก่อนหน้านี้ เชื่อกันว่าพันเอกชเตาเฟินแบร์คเป็นผู้รับผิดชอบในแผนวัลคือเรอ แต่เอกสารที่ถูกค้นพบหลังจากสงครามยุติโดยสหภาพโซเวียต ซึ่งเผยแพร่ในปีค.ศ. 2007 ได้ชี้ว่า แผนดังกล่าวถูกพัฒนาขึ้นโดยพันเอกเทร็สโคในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 1943[2]) ข้อมูลทั้งหมดถูกเขียนขึ้นและเก็บรักษาไว้โดยภรรยาและเลขานุการของพันเอกเทร็สโค ซึ่งทั้งสองคนใส่ถุงมือเพื่อปิดบังรอยนิ้วมือเอาไว้ตลอดเวลา[3]

ใจความหลักของแผนการดังกล่าว คือการหลอกให้กองทัพสำรองเข้ายึดอำนาจในกรุงเบอร์ลินและล้มล้างรัฐบาลฮิตเลอร์ โดยให้ข้อมูลเท็จว่า หน่วยเอ็สเอ็สพยายามจะก่อการรัฐประหารและได้ลอบสังหารฮิตเลอร์แล้ว ปัจจัยที่สำคัญคือ นายทหารระดับล่าง (ผู้ซึ่งแผนการนี้ถือว่าจะเป็นผู้นำแผนการไปปฏิบัติ) จะถูกลวงและกระตุ้นให้กระทำการดังกล่าว จากความเชื่อผิด ๆ ที่ว่า กลุ่มผู้นำรัฐบาลนาซีไม่มีความจงรักภักดีและทรยศต่อไรช์ ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องล้มล้างลงเสีย เหล่าผู้สมคบคิดในแผนการนี้ตั้งความหวังไว้กับการที่เหล่าทหารที่ได้รับคำสั่งจะยอมทำตามคำสั่ง (หลอก) ของพวกเขาด้วยดี หากคำสั่งดังกล่าวมาจากช่องทางการสั่งการและบังคับบัญชาที่ถูกต้อง กล่าวคือ ผ่านทางกองบัญชาการกองทัพสำรองมา โดยเฉพาะในสถานการณ์ฉุกเฉินหลังจากฮิตเลอร์ถูกสังหารแล้ว

หากฮิตเลอร์ตายแล้ว จะมีเพียงพลเอกอาวุโสฟรีดริช ฟร็อม ผู้บัญชาการกองทัพสำรองเท่านั้น ที่จะออกคำสั่งใช้ปฏิบัติการวัลคือเรอได้ ดังนั้นเขาจะต้องถูกดึงตัวเข้าร่วมกับคณะรัฐประหารหรืออย่างน้อยให้ดำรงตนเป็นกลางด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ถ้าต้องการให้แผนการดังกล่าวประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ ตัวพลเอกอาวุโสฟร็อมเองก็ทราบอย่างคร่าวๆว่ามีแผนสมคบคิดในกลุ่มทหารเพื่อต่อต้านฮิตเลอร์ (นายทหารระดับสูงของเยอรมันส่วนใหญ่ก็ทราบเช่นกัน) แต่เขาก็ไม่ได้ให้การสนับสนุนแผนดังกล่าว ขณะเดียวกันก็ไม่ได้รายงานเรื่องนี้ต่อเกสตาโพแต่อย่างใดด้วย

ใกล้เคียง

ปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยถ้ำหลวง ปฏิบัติการบาร์บาร็อสซา ปฏิบัติการเอนเทบเบ ปฏิบัติการสะพานลอนดอน ปฏิบัติการดาวน์ฟอล ปฏิบัติการระห่ำ โคตรคนฟอร์จูน ปฏิบัติการเท็งโง ปฏิบัติการวัลคือเรอ ปฏิบัติการแอสพิเดส ปฏิบัติการบากราตีออน

แหล่งที่มา

WikiPedia: ปฏิบัติการวัลคือเรอ http://www.atypon-link.com/OLD/doi/pdf/10.1524/VfZ... http://www.valkyrie-plot.com http://www.stmuk.bayern.de/blz/web/20juli/6.html http://www.stmuk.bayern.de/blz/web/20juli/index.ht... http://www.bpb.de/publikationen/XR9P2V,0,0,Auf_dem... http://ghi-dc.org/ http://germanhistorydocs.ghi-dc.org/index.cfm?lang... http://germanhistorydocs.ghi-dc.org/sub_image.cfm?... http://www.germanhistorydocs.ghi-dc.org/sub_docume...