การสู้รบ ของ ปฏิบัติการเท็งโง

เส้นทางของกองกำลังฝ่ายจักรวรรดิญี่ปุ่น (เส้นสีดำ) และเรือบรรทุกเครื่องบินฝ่ายสหรัฐ (เส้นประสีแดง) สู่บริเวณสู้รบ

วันที่ 6 เมษายน เวลาประมาณ 16:00 เรือประจัญบานยะมะโตะพร้อมพลเรือโท อิโต บนเรือลาดตระเวนเบา ยะฮะงิ (Yahagi) และเรือพิฆาตอีก 8 ลำออกจากโทะกุยะมะเพื่อเริ่มต้นปฏิบัติการ[11] เรือดำน้ำฝ่ายสหรัฐ 2 ลำคือ ยูเอสเอส เทรดฟิน (USS Threadfin) และ ยูเอสเอส แฮกเคิลแบ็ก (USS Hackleback) พบเห็นกองกำลังฝ่ายญี่ปุ่นกำลังแล่นผ่านทางตอนใต้ของช่องแคบบังโงะ (Bungo Suido) และไม่ได้เข้าโจมตีแต่แจ้งไปยังกองเรือสหรัฐ[12]

รุ่งเช้าวันที่ 7 เมษายน กองกำลังญี่ปุ่นได้แล่นผ่านแหลมโอซุมิ (Ōsumi) สู่ทะเลเปิด มุ่งหน้าลงใต้จากเกาะคีวชูสู่โอะกินะวะ เรือได้แปรขบวนสำหรับตั้งรับ ให้ยะฮะงิแล่นนำยะมะโตะและเรือพิฆาตทั้ง 8 ลำแปรแถวเป็นรูปวงแหวนล้อมรอบเรือหลวงทั้ง 2 ลำไว้ แต่ละลำห่างกัน 1,500 เมตร คงความเร็วที่ 20 นอต[13] เรือพิฆาตอะซะชิโมะ (Asashimo) เกิดปัญหาที่เครื่องยนต์จำต้องหันหลังกลับ เครื่องบินสอดแนมของสหรัฐเริ่มทำการสอดส่องกองกำลังหลักของขบวนเรือญี่ปุ่น เวลา 10:00 กองกำลังญี่ปุ่นได้หันหัวขบวนไปทางตะวันตกซึ่งทำให้ดูเหมือนว่าฝ่ายญี่ปุ่นจะถอนกำลังกลับ แต่เมื่อเวลา 11:30 หลังการตรวจพบโดยเรือบินฝ่ายสหรัฐ พีบีเอ็ม มาร์รินเนอร์ (PBM Mariner) 2 ลำ (โดน ยะมะโตะ ระดมยิงด้วยปืน 460 มม.จากป้อมปืนหัวเรือด้วยกระสุนรวงผึ้งพิเศษ (ญี่ปุ่น: 三式焼散弾 โรมาจิ, san-shiki shōsan dan ทับศัพท์, beehive shells) ขนวบเรือวกกลับและมุ่งสู่โอะกินะวะ[8]

เมื่อได้รับรายงานในช่วงเช้าของวันที่ 7 เมษายน ผู้บัญชาการกองเรือที่ 50 ของสหรัฐ พลเรือเอก เรย์มอนด์ สเพรูเอนซ์ (Raymond Spruance) สั่งให้กองกำลังยิงสนับสนุนภายใต้การบัญชาการของพลเรือเอก มอร์ตัน ดีโย (Morton Deyo) ซึ่งส่วนมากประกอบไปด้วยเรือประจัญบานเก่าที่กู้เรือมาจากท่าเรือเพิร์ล เข้าสกัดกั้นและทำลายกองกำลังเฉพาะกิจของญี่ปุ่น ดีโยได้ดำเนินการตามคำสั่งแต่พลเรือโท มาร์ก เอ. มิตส์เชอร์ (Marc A. Mitscher) แห่งกองกำลังเฉพาะกิจที่ 58 ดำเนินการตัดหน้าดีโยโดยสั่งโจมตีทางอากาศโดยปราศจากคำสั่งจากสพรัวนซ์[14]

เครื่องบินสหรัฐ เช่น เคอร์ทิสส์ เฮลล์ไดเวอร์ (Curtiss Helldiver) เริ่มทำการโจมตี ยะมะโตะ (ซ้าย) เรือพิฆาตของญี่ปุ่นอยู่ทางขวาของภาพ[15]

ราว 10:00 น.ในวันที่ 7 เมษายน หมวดเฉพาะกิจที่ 58.1 และ 58.3 เริ่มต้นส่งเครื่องบินเกือบ 400 ลำหลายระลอกจากเรือบรรทุกเครื่องบิน 8 ลำ (หมวดเฉพาะกิจที่ 58.1: ฮอร์เน็ต (Hornet), เบนนิงตัน (Bennington), เบลโลวูด (Belleau Wood), แซนจาซินโท (San Jacinto) ; หมวดเฉพาะกิจที่ 58.3 แอสซิกซ์ (Essex), บันเคอร์ฮิล (Bunker Hill), แฮนค็อก (Hancock) และ บาแทน (Bataan)) ที่อยู่บริเวณทิศตะวันออกของโอะกินะวะ เครื่องบินประกอบไปด้วยเครื่องบินขับไล่ F6F เฮลแคท (F6F Hellcat) และ F4U คอร์แซร์ (F4U Corsair) เครื่องบินดำทิ้งระเบิด SB2C เฮลไดเวอร์ (SB2C Helldiver) และ ครื่องบินทิ้งตอร์ปิโด TBF เอเวนเจอร์ (TBF Avenger) เรือประจัญบาน 6 ลำ (แมสซาชูเซตส์, อินดีแอนา, นิวเจอร์ซีย์, เซาท์ดาโคตา, วิสคอนซิน และ มิสซูรี) เรือลาดตระเวน (รวมทั้ง อะแลสกา และ กวม) และเรือพิฆาตรวมตัวเข้าสกัดกั้นกองเรือของญี่ปุ่นถ้าการโจมตีทางอากาศไม่ประสบความสำเร็จ[16]

เนื่องจากกองกำลังฝ่ายญี่ปุ่นไม่มีกองบินคุ้มกัน เครื่องบินของสหรัฐจึงสามารถโจมตีได้สะดวกโดยไม่ต้องกังวลถึงเครื่องบินฝ่ายตรงข้าม เครื่องบินสหรัฐเดินทางมาถึงกองเรือยะมะโตะ หลังจากใช้เวลาบินสองชั่วโมงจากโอะกินะวะ เครื่องบินสามารถบินเป็นวงกลมรอบขบวนเรือญี่ปุ่นนอกระยะของอาวุธต่อต้านอากาศยาน ด้วยวิธีนี้เครื่องบินเข้าโจมตีเรือรบที่อยู่ด้านล่าง[8]

การโจมตีระลอกแรกจากเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐเริ่มในเวลา 12:30 น. เรือรบญี่ปุ่นได้เพิ่มความเร็วเป็น 25 นอต เริ่มแล่นหลบหลีกและเปิดฉากยิงปืนต่อสู้อากาศยาน ยะมะโตะนั้นมีปืนต่อสู้อากาศยานเกือบ 150 กระบอก รวมถึงปืนใหญ่ 460 มม.ซึ่งสามารถยิงกระสุนต่อต้านอากาศยานพิเศษ "Common Type 3 (กระสุนร่วมประเภท 3)" ได้[17] เครื่องบินตอร์ปิโดเป็นเครื่องบินหลักที่เข้าโจมตีด้านกราบซ้ายของเรือ เพื่อที่ว่าถ้าตอร์ปิโดส่วนใหญ่ยิงโดนในด้านนั้นมันจะเพิ่มความเป็นไปได้ที่จะทำให้เรือเป้าหมายพลิกคว่ำ[18]

เรือลาดตระเวนเบา ยะฮะงิ ภายใต้การโจมตีด้วยระเบิดและตอร์ปิโด[19]

เมื่อเวลา 12:46 น. ยะฮะงิโดนยิงด้วยตอร์ปิโดเข้าที่บริเวณห้องเครื่องยนต์ส่งผลให้ลูกเรือในห้องนั้นตายทั้งหมดและเรือไม่สามารถแล่นต่อไปได้ ยะฮะงิโดนยิงตอร์ปิโดอย่างน้อย 6 ลูกและโดนระเบิดอย่างน้อย 12 ลูกจากการโจมตีทางอากาศ เรือพิฆาตอิโซะกะเซะ (Isokaze) ได้พยายามเข้าไปช่วยเหลือแต่กลับถูกโจมตีเสียหายหนักและอับปางลงในเวลาต่อมา ยะฮะงิพลิกคว่ำและจมลงเมื่อเวลา 14:05 น.[20]

ในระหว่างการโจมตีระลอกแรก ทั้งที่พยายามหลบหลีกอย่างเต็มความสามารถ แม้ระเบิดและตอร์ปิโดส่วนใหญ่จะพลาดเป้า แต่ยะมะโตะก็ยังโดนระเบิดเจาะเกราะ 2 ลูกและตอร์ปิโด 1 ลูก[21] แม้ความเร็วของเรือไม่ได้รับผลกระทบแต่ระเบิดที่โดนทำให้เกิดไฟไหม้ท้ายเรือที่บริเวณโครงสร้างส่วนบนซึ่งไม่สามารถดับได้ และในช่วงเวลาในการโจมตีระลอกแรกเช่นกัน เรือพิฆาตของญี่ปุ่น ฮะมะกะเซะ (Hamakaze) และ ซุซุสึกิ (Suzutsuki) ได้รับความเสียหายอย่างหนักและถอนตัวจากการรบ ฮะมะกะเซะจมลงหลังจากนั้น[19]

ภาพทางกราบซ้ายของ ยะมะโตะ ซึ่งกำลังไฟไหม้

ระหว่างเวลา 13:20 น.ถึง 14:15 น.เครื่องบินสหรัฐได้เข้าโจมตีระลอกสองและระลอกสาม ส่วนใหญ่มุ่งเน้นที่จะโจมตียะมะโตะ ในช่วงเวลานี้ ยะมะโตะโดนโจมตีด้วยตอร์ปิโดอย่างน้อย 8 ลูกและระเบิดมากถึง 15 ลูก ระเบิดได้ก่อความเสียหายเป็นวงกว้างบริเวณด้านบนของเรือ รวมถึงตัดพลังงานของเครื่องช่วยเล็งทำให้ปืนต่อต้านอากาศยานแต่ละกระบอกต้องเล็งและยิงด้วยมือซึ่งลดประสิทธิผลลงอย่างมาก[22] ตอร์ปิโดที่ยิงโดนยะมะโตะนั้นส่วนมากจะโดนเข้าที่กราบซ้ายส่งผลให้ยะมะโตะเริ่มเอียงจนเกือบถึงจุดอันตราย[23] สถานีควบคุมความเสียหายจากน้ำโดนทำลายโดยระเบิดจึงเป็นไปไม่ได้ที่ช่องถ่วงเรือที่ได้รับการออกแบบมาพิเศษภายในเรือจะต้านทานต่อความเสียหายของเรือได้ เวลา 13:33 น.ในความพยายามอย่างเอาเป็นเอาตายในการที่จะรักษาเรือไว้ไม่ให้พลิกคว่ำ หน่วยควบคุมความเสียหายของยะมะโตะได้จึงถ่วงห้องเครื่องยนต์และห้องหม้อน้ำทางกราบขวา แม้จะช่วยบรรเทาความอันตรายลงแต่ลูกเรือหลายร้อยคนที่ประจำการในสถานีนั้นๆ ได้จมน้ำตายเพราะไม่ได้รับแจ้งเตือนว่าจะมีการเติมน้ำในห้องนั้นเพื่อทำการถ่วงเรือ[24][25] จากการสูญเสียเครื่องยนต์ทางกราบขวาบวกกับน้ำหนักของน้ำที่ใช้ถ่วงเรือเป็นเหตุให้ยะมะโตะลดความเร็วลงเหลือประมาณ 10 นอต[26]

เพราะยะมะโตะแล่นได้ช้ามากทำให้ตกเป็นเป้าได้ง่าย เครื่องบินตอร์ปิโดสหรัฐได้มุ่งการโจมตีไปที่หางเสือและท้ายเรือเพื่อจะได้ส่งผลต่อความสามารถในการคัดท้ายและพวกเขาก็ทำสำเร็จ[27] เวลา 14:02 น.หลังจากได้รับแจ้งว่าเรือไม่สามารถคัดท้ายได้และกำลังจะจมลง พลเรือโท อิโต ได้สั่งยกเลิกภารกิจ ทำการสละเรือ และให้เรือที่เหลืออยู่เริ่มทำการช่วยเหลือผู้รอดชีวิต[19] ยะมะโตะได้ส่งข้อความนี้ต่อเรือที่เหลือด้วยสัญญาณธงเพราะเครื่องรับส่งวิทยุประจำเรือถูกทำลาย[28]

ยะมะโตะได้ระเบิดและพลิกคว่ำหลังจากโดนโจมตีด้วยระเบิดและตอร์ปิโดจำนวนมาก[15]

เวลา 14:05 น. ยะมะโตะก็หยุดลงอย่างสิ้นเชิงและเรือเริ่มเอียงตัว พลเรือโท อิโต และกัปตันเรือปฏิเสธที่จะสละเรือหนีไปพร้อมกับลูกเรือที่รอดชีวิต เวลา 14:20 น. ยะมะโตะได้พลิกคว่ำและเริ่มจมลง (30°22′N 128°04′E / 30.367°N 128.067°E / 30.367; 128.067) เวลา 14:23 น. เรือเกิดระเบิดขึ้นอย่างรุนแรง ตามรายงานที่ได้รับสามารถมองเห็นและได้ยินไกลถึงเมืองคะโงะชิมะซึ่งห่างออกไป 200 กม. และก่อให้เกิดเมฆรูปเห็ดสูง 20,000 ฟุตกลางอากาศ[29] มีการกล่าวอ้างว่าแรงระเบิดของเรือทำให้เครื่องบินสหรัฐที่สังเกตการอยู่ในขณะนั้นตกหลายลำ[29] เชื่อกันว่าการระเบิดเกิดจากไฟของระเบิดที่โดนเข้าบริเวณคลังแสงหลักของเรือ[30]

เรือพิฆาตอะซะชิโมะโดนระเบิดและจมลงด้วยน้ำมือของเครื่องบินสหรัฐขณะเดินทางกลับไปที่ท่า เรือพิฆาตคะซุมิ (Kasumi) อับปางจากการโจมตีของเครื่องบินจากเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐระหว่างการรบ เรือพิฆาตซุซุสึกิทั้งๆที่หัวเรือได้รับความเสียหายอย่างหนักแต่เรือก็สามารถแล่นกลับไปที่เมืองซะเซะโบะ (Sasebo) ได้ด้วยวิธีการแล่นถอยหลัง[19]

เรือพิฆาตที่เหลือ 3 ลำ (ฟุยุซุกิ (Fuyuzuki), ยุกิกะเซะ (Yukikaze),และ ฮะสึชิโมะ (Hatsushimo)) ได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อยและสามารถช่วยเหลือลูกเรือ 280 นายจากเรือยะมะโตะ (จำนวนลูกเรือของยะมะโตะแตกต่างกันไปตามแหล่งข้อมูล ระหว่าง 2,750-3,300 นาย) บวกกับผู้รอดชีวิต 555 คนจากยะฮะงิ (จากลูกเรือ 1,000 นาย) และมากกว่า 800 คนจาก อิโซะกะเซะ, ฮะมะกะเซะ, และ คะซุมิ มีทหารเรือญี่ปุ่น 3,700-4,250 นายเสียชีวิตในการรบ[19][31] เรือได้นำผู้รอดชีวิตกลับไปที่ฐานทัพในซะเซะโบะ[32]

ยะมะโตะ หลังการระเบิดเพียงชั่วครู่[15]

เครื่องบินสหรัฐโดนยิงตก 10 ลำ โดยปืนต่อต้านอากาศยานของญี่ปุ่น นักบินบางคนได้รับการช่วยเหลือจากอากาศยานสะเทินน้ำสะเทินบกหรือเรือดำน้ำ ทหารสหรัฐเสียชีวิต 12 นาย ผู้รอดชีวิตชาวญี่ปุ่นบางคนรายงานว่าเครื่องบินขับไล่สหรัฐกราดยิงปืนกลใส่ผู้รอดชีวิตที่ลอยคออยู่ในทะเล[33][34] และยังรายงานอีกว่าเครื่องบินสหรัฐหยุดยิงเรือพิฆาตญี่ปุ่นชั่วคราวในช่วงเวลาที่เรือกำลังช่วยเหลือผู้รอดชีวิตจากในทะเล[35]

ระหว่างการรบ กองทัพญี่ปุ่นได้โจมตีกองเรือสหรัฐทางอากาศที่โอะกินะวะตามที่ได้ให้สัญญาไว้แต่ประสบความล้มเหลวไม่สามารถจมเรือได้เลย จากเครื่องบิน 115 ลำ มีเครื่องบินจำนวนมากทำการโจมตีเรือรบสหรัฐแบบคะมิกะเซะตลอดทั้งวันของวันที่ 7 เมษายน เครื่องบินคะมิกะเซะได้โจมตีโดนเรือแฮนค็อก, เรือประจัญบานแมริแลนด์ และเรือพิฆาตเบนเน็ตต์ (Bennett) แฮนค็อกและแมริแลนด์เสียหายปานกลาง เบนเน็ตต์เสียหายหนัก ญี่ปุ่นสูญเสียเครื่องบินประมาณ 100 ลำ[36]

ใกล้เคียง

ปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยถ้ำหลวง ปฏิบัติการบาร์บาร็อสซา ปฏิบัติการเอนเทบเบ ปฏิบัติการสะพานลอนดอน ปฏิบัติการดาวน์ฟอล ปฏิบัติการระห่ำ โคตรคนฟอร์จูน ปฏิบัติการเท็งโง ปฏิบัติการวัลคือเรอ ปฏิบัติการแอสพิเดส ปฏิบัติการบากราตีออน

แหล่งที่มา

WikiPedia: ปฏิบัติการเท็งโง http://www.combinedfleet.com/yamato.htm http://www.imdb.com/title/tt0140644/ http://www.imdb.com/title/tt0451845/ http://navweaps.com/index_oob/OOB_WWII_Pacific/OOB... http://www.navweaps.com/index_oob/OOB_WWII_Pacific... http://www.pbs.org/wgbh/nova/supership/ http://www.pbs.org/wgbh/nova/supership/surv-ishida... //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... https://commons.wikimedia.org/wiki/Category:Operat...