ภูมิหลัง ของ ปฏิบัติการเท็งโง

ต้นปี ค.ศ. 1945 หลังจากการทัพหมู่เกาะโซโลมอน ยุทธนาวีทะเลฟิลิปปินส์ และยุทธนาวีอ่าวเลย์เต กองเรือผสมของกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นที่เคยน่าเกรงขามในอดีตได้ลดจำนวนลงเหลือเพียงเรือรบ อากาศยาน และนักบินที่สามารถปฏิบัติการได้เพียงหยิบมือเดียวเท่านั้น เรือรบที่เหลือส่วนใหญ่ของกองเรือผสมจอดประจำอยู่ที่ท่าเรือในญี่ปุ่น ซึ่งเรือรบขนาดใหญ่ส่วนมากอยู่ที่อู่ทหารเรือคุเระ จังหวัดฮิโระชิมะ[2]

กองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรได้เริ่มต้นแผนการทัพที่จะโจมตีแผ่นดินแม่ของญี่ปุ่น ด้วยการรุกรานเกาะไซปันและเกาะอิโวะจิมะ กองกำลังฝ่ายสัมพันธมิตรรุกรานเกาะโอะกินะวะในวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1945 ซึ่งนับเป็นก้าวถัดมาก่อนการเริ่มแผนการที่เตรียมไว้สำหรับการโจมตีแผ่นดินใหญ่ญี่ปุ่น ในเดือนมีนาคม ในแถลงการสรุปต่อสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโระฮิโตะเกี่ยวกับการตอบโต้ของญี่ปุ่นต่อการโจมตีเกาะโอะกินะวะของฝ่ายสัมพันธมิตร ผู้นำทางทหารของญี่ปุ่นอธิบายว่ากองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นวางแผนที่จะโจมตีทางอากาศเป็นวงกว้างรวมถึงการใช้คะมิกะเซะด้วย ตามที่มีรายงานไว้ สมเด็จพระจักรพรรดิได้ตรัสถามว่า "แล้วกองทัพเรือละ? พวกเขาจะทำสิ่งใดเพื่อช่วยป้องกันโอะกินะวะ?" ด้วยความกดดันจากสมเด็จพระจักรพรรดิให้มีการโจมตีบางรูปแบบ ทำให้บรรดาผู้บัญชาการกองทัพเรือคิดปฏิบัติการอัตวินิบาตกรรมขึ้นโดยใช้เรือขนาดใหญ่ที่ยังใช้การได้อยู่ รวมไปถึงเรือประจัญบานยะมะโตะด้วย[3]

ในแผนปฏิบัติการที่ร่างขึ้นภายใต้คำสั่งของผู้บัญชาการสูงสุดของกองเรือผสม พลเรือเอกโทะโยะดะ โซะเอะมุ (Toyoda Soemu) [4] ได้มีคำสั่งให้เรือประจัญบานยะมะโตะและเรือคุ้มกันโจมตีกองเรือสหรัฐที่คอยสนับสนุนทหารที่ยกพลขึ้นบกทางตะวันตกของเกาะโอะกินะวะ ยะมะโตะและเรือคุ้มกันจะสู้รบไปตลอดทางสู่เกาะโอะกินะวะและเข้าเกยหาดระหว่างหมู่บ้านฮิงะชิ (Higashi) และหมู่บ้านโยะมิตัง (Yomitan) ก่อนจะทำหน้าที่เสมือนเป็นป้อมปืนใหญ่ชายฝั่งและต่อสู้จนกระทั่งเรือถูกทำลาย เมื่อเรือถูกทำลาย ลูกเรือที่ยังรอดชีวิตต้องสละเรือและเข้าต่อสู้กับกองกำลังสหรัฐบนแผ่นดิน มีเครื่องบินคุ้มกันเพียงน้อยนิดที่สามารถจัดเตรียมได้ซึ่งไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิงเมื่อเผชิญกับการโหมโจมตีทางอากาศของสหรัฐ[3] ในการเตรียมพร้อมเพื่อดำเนินการตามแผน เรือที่กำหนดได้ออกจากคุเระไปยังเมืองโทะกุยะมะ (Tokuyama) จังหวัดยะมะงุชิ นอกชายฝั่ง มิตะจิริ (Mitajiri) ประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ 29 มีนาคม[5] อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะเชื่อฟังปฏิบัติตามคำสั่งที่ให้เตรียมตัวสำหรับภารกิจ พลเรือโท เซอีชิ อิโต (Seiichi Itō) ผู้บัญชาการกองกำลังปฏิบัติการเท็งโง ยังคงปฏิเสธที่จะออกคำสั่งให้เรือของเขาดำเนินการตามแผนด้วยเชื่อว่าแผนปฏิบัติการนี้เป็นสิ่งไร้ประโยชน์และสูญเปล่า[6]

ผู้บัญชาการคนอื่น ๆ ของราชนาวีจักรวรรดิญี่ปุ่นมีความรู้สึกในเชิงลบต่อปฏิบัติการเป็นอย่างมากเช่นเดียวกัน และเชื่อว่าเป็นการสูญเปล่าในชีวิตมนุษย์และเชื้อเพลิง นาวาเอก อะสึชิ โออิ (Atsushi Ōi) ผู้บัญชาการกองเรือคุ้มกัน ผู้ซึ่งได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากจากการที่เชื้อเพลิงและทรัพยากรถูกยักย้ายถ่ายเทไปจากปฏิบัติการของเขา กล่าวไว้ว่าจุดประสงค์ของปฏิบัติการนี้เป็นเพียง "ประเพณีนิยมและเกียรติยศของกองทัพเรือ" เขาตะโกนว่า:[7]

สงครามนี้เป็นของชาติเรา ทำไมต้องสนใจในเกียรติยศของ "กองเรือผิวน้ำ" มากด้วยเล่า? ใครสนใจชื่อเสียงของพวกแกกัน? ไอ้พวกโง่!

("กองเรือผิวน้ำ" หมายถึงเรือหลวง โดยเฉพาะเรือประจัญบานที่ "ควรจะมีชัยชนะในสงคราม")

พลเรือโท รีวโนะซุเกะ คุซะกะ (Ryūnosuke Kusaka) บินออกจากโตเกียวในวันที่ 5 เมษายนสู่โทะกุยะมะในความพยายามครั้งสุดท้ายที่จะโน้มน้าวเหล่าผู้บัญชาการกองเรือผสมรวมถึงพลเรือโท อิโต ให้ตกลงยอมรับในแผนการ ครั้งแรกที่ได้ฟังถึงปฏิบัติการที่เสนอขึ้นมานั้น (ได้มีการปกปิดปฏิบัติการเป็นความลับจากผู้บัญชาการส่วนใหญ่) ผู้บัญชาการและกัปตันเรือของกองเรือผสมมีมติเป็นเอกฉันท์ที่จะเข้าร่วมกับพลเรือโทอิโตในการปฏิเสธที่จะดำเนินการตามแผนการด้วยเหตุผลเดียวกันกับที่เขาได้แสดงออกไว้ข้างต้น จากนั้นพลเรือโท คุซะกะ ได้ชี้แจงว่าการโจมตีของกองทัพเรือจะช่วยเปลี่ยนเส้นทางเครื่องบินสหรัฐจากการโจมตีทางอากาศของกองทัพตามแผนกองเรือสหรัฐที่โอะกินะวะ คุซะกะยังอธิบายอีกว่าบรรดาผู้นำรวมถึงสมเด็จพระจักรพรรดิคาดหวังว่ากองทัพเรือจะพยายามทำให้ดีที่สุดในการสนับสนุนการป้องกันโอะกินะวะ

เมื่อได้ยินดังนี้ เหล่าผู้บัญชาการกองเรือผสมจึงยอมอ่อนข้อและยอมรับแผนการที่เสนอ ลูกเรือได้ฟังบรรยายสรุปถึงลักษณะของภารกิจและได้รับโอกาสเลือกที่จะอยู่ต่อเบื้องหลังถ้าต้องการ แต่ไม่มีผู้ใดยอมรับโอกาสนั้น อย่างไรก็ตามลูกเรือใหม่ ป่วย และทุพพลภาพ ได้รับคำสั่งให้ลงจากเรือ[8] ลูกเรือเข้ารับการฝึกอย่างเข้มข้นจนนาทีสุดท้ายเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับภารกิจโดยมากจะเป็นขั้นตอนควบคุมความเสียหาย[9] ณ เวลาเที่ยงคืนเรือได้รับการเติมเชื้อเพลิง ตามรายงาน มีการต่อต้านคำสั่งอย่างลับๆ ตามคำสั่งสั่งให้เตรียมเรือให้มีเชื้อเพลิงเพียงพอที่จะไปแค่โอะกินะวะเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วบุคลากรในโทะกุยะมะได้เติมเชื้อเพลิงที่เหลือเกือบทั้งหมดในท่าเรือกับให้เรือประจัญบานยะมะโตะและเรือลำอื่นๆ แม้ว่าจะไม่เพียงพอให้กองกำลังเดินทางกลับจากโอะกินะวะมาสู่ประเทศญี่ปุ่น[10]

ใกล้เคียง

ปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยถ้ำหลวง ปฏิบัติการบาร์บาร็อสซา ปฏิบัติการเอนเทบเบ ปฏิบัติการสะพานลอนดอน ปฏิบัติการดาวน์ฟอล ปฏิบัติการระห่ำ โคตรคนฟอร์จูน ปฏิบัติการเท็งโง ปฏิบัติการวัลคือเรอ ปฏิบัติการแอสพิเดส ปฏิบัติการบากราตีออน

แหล่งที่มา

WikiPedia: ปฏิบัติการเท็งโง http://www.combinedfleet.com/yamato.htm http://www.imdb.com/title/tt0140644/ http://www.imdb.com/title/tt0451845/ http://navweaps.com/index_oob/OOB_WWII_Pacific/OOB... http://www.navweaps.com/index_oob/OOB_WWII_Pacific... http://www.pbs.org/wgbh/nova/supership/ http://www.pbs.org/wgbh/nova/supership/surv-ishida... //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... https://commons.wikimedia.org/wiki/Category:Operat...