แหล่งข้อมูลของประมวลเรื่องปรัมปรากรีก ของ ประมวลเรื่องปรัมปรากรีก

ประมวลเรื่องปรัมปรากรีกซึ่งรู้จักกันอยู่ทุกวันนี้ มีรากฐานมาจากวรรณกรรมกรีกโบราณและภาพในสื่อที่มองเห็นด้วยตาซึ่งมีอายุนับย้อนไปถึงยุคจีโอเมทริก (Geometric Style) ประมาณปีที่ 900-800 ก่อนคริสตกาล[5]

แหล่งข้อมูลทางโบราณคดี

เวอร์จิล กวีเอกชาวโรมัน ได้สงวนรักษารายละเอียดเกี่ยวกับประมวลเรื่องปรัมปรากรีกไว้ในงานเขียนของตนหลายชิ้น

การค้นพบอารยธรรมไมซีนี โดยนักโบราณคดีสมัครเล่น ไฮน์ริช ชลีมาน ในศตวรรษที่ 19 และการค้นพบอารยธรรมไมนอสที่เกาะครีตโดยนักโบราณคดีชาวอังกฤษ อาร์เธอร์ อีวานส์ ในศตวรรษที่ 20 มีส่วนช่วยอธิบายเกี่ยวกับมหากาพย์ของโฮเมอร์ และให้หลักฐานรับรองทางโบราณคดีเกี่ยวกับรายละเอียดของนิทานปรัมปราหลาย ๆ เรื่อง อย่างไรก็ดีหลักฐานเหล่านี้เป็นหลักฐานสิ่งปลูกสร้างและอนุสาวรีย์เป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากสมัยนั้นยังไม่มีการใช้ตัวอักษรเขียนเพื่อจดบันทึกเรื่องราว และแผ่นจารึกไลเนียร์บีที่ขุดพบ ก็เป็นเพียงบันทึกเกี่ยวกับคลังเก็บสินค้าเท่านั้น[6]

การตกแต่งด้วยลวดลายเราขาคณิตบนเครื่องปั้นดินเผาสมัยศตวรรษที่ ๘ ก่อนค.ศ. แสดงภาพเนื้อเรื่องของวัฎมหากาพย์กรุงทรอย และการผจญภัยของเฮราคลีส[6] การแสดงออกเชิงประจักษ์ของเรื่องราวปรัมปราเหล่านี้มีความสำคัญสองประการ ประการแรก ตำนานปรัมปราส่วนใหญ่ปรากฏอยู่บนเครื่องปั้นดินเผารูปเขียนสี ก่อนที่จะมีหลักฐานทางวรรณคดีนานหลายศตวรรษ[7][5] ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีของวีรกรรมสิบสองประการของเฮราคลีส มีแค่การผจญสุนัขปีศาจเคเบรอสเท่านั้นที่มีบันทึกไว้ในวรรณกรรมร่วมสมัย ประการที่สอง แหล่งข้อมูลเชิงประจักษ์บางครั้งแสดงรายละเอียด หรือฉากของเรื่องราวในตำนานที่ไม่ปรากฏอยู่ในแหล่งข้อมูลทางวรรณคดีใดๆเลย ในสมัยอาร์เคอิก (ปีที่ ๗๕๐ - ๕๐๐ ก่อนค.ศ.), สมัยคลาสสิก (ปีที่ ๔๘๐ - ๓๒๓ ก่อนค.ศ.), และสมัยเฮลเลนิสติก (ปีที่ ๓๒๓ - ๑๔๖ ก่อนค.ศ.) หลักฐานเชิงประจักษ์เหล่านี้มีบทบาทในการสนับสนุนและเพิ่มเติมหลักฐานทางวรรณคดี[6]

แหล่งข้อมูลในทางวรรณกรรม

โปรมีเธียส (ภาพวาดปี 1868 โดย กุสตาฟ โมเรอ) ผู้บันทึกตำนานโพรมีเธียสครั้งแรกคือ เฮสิโอด และต่อมาเป็นรากฐานของบทละครโศกนาฏกรรมไตรภาค ซึ่งคาดว่าเป็นของ Aeschylus ได้แก่ พันธนาการโพรมีเทียส, Prometheus Unbound, และ Prometheus Pyrphoros

การปูพื้นหลังเกี่ยวกับตำนานประมวลเรื่องปรัมปรามีบทบาทอย่างมากกับวรรณกรรมกรีกโบราณในทุกสาขา ถึงกระนั้น หนังสือตำนานปรัมปราเพียงเล่มเดียวที่เหลือรอดมาจากยุคกรีกโบราณ ก็คือ Library หรือ บิบลิโอเธกา (Bibliotheca) ของอพอลโลดอรัสตัวปลอม งานชิ้นนี้พยายามหาข้อยุติในความขัดแย้งกันระหว่างเรื่องเล่าต่าง ๆ ของบทกวีมากมาย และพยายามเรียบเรียงออกมาเป็นตำนานเทพเจ้าและวีรบุรุษกรีกในยุคดั้งเดิม[8] อพอลโลดอรัสแห่งเอเธนส์มีชีวิตในช่วงปีที่ 180-125 ก่อนคริสตกาล และเขียนเรื่องราวเหล่านี้ขึ้นหลายชิ้น งานเขียนของเขาอาจจัดเป็นชุดที่ต่อเนื่องกัน แต่ "Library" นั้นเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังการเสียชีวิตของเขาเป็นเวลานาน ดังนั้นมันจึงได้ชื่อว่าเป็นของอพอลโลดอรัสเทียม

ในบรรดาแหล่งข้อมูลที่เก่าแก่ที่สุด มีบทกวีมหากาพย์ของโฮเมอร์ สองเรื่อง คือ อีเลียด และ โอดิสซีย์ นอกจากนี้ยังมีกวีรายอื่นอีกที่ช่วยเติมเต็ม "วัฏมหากาพย์" ทว่าในภายหลังต่างสูญหายไปเกือบหมด บทกวีเหล่านี้มักเรียกกันว่า "เพลงสวดของโฮเมอร์" (Homeric Hymns) แต่อันที่จริงไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับโฮเมอร์เลย มันเป็นบทสวดสรรเสริญที่สืบทอดมาแต่ยุคบทกวีไลริค (Lyric Poetry)[9] เฮสิโอดซึ่งน่าจะเป็นกวีร่วมสมัยกับโฮเมอร์ ได้เขียนเรื่องเกี่ยวกับตำนานกรีกที่เก่าแก่ที่สุดไว้ในผลงานชื่อ ธีออโกนี (เทวพงศาวดาร) โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการสร้างโลก พงศาวดารการกำเนิดของเทพเจ้าต่าง ๆ ตลอดจนพงศาวลีที่มีรายละเอียดสูง มีนิทานพื้นบ้าน และตำนานเกี่ยวกับจุดกำเนิดของสิ่งต่าง ๆ ในงานเขียนของเฮสิโอดอีกเรื่องคือ งานและวัน (Works and Days) ซึ่งเป็นบทกวีสั่งสอนเกี่ยวกับชีวิตในไร่ ได้รวมเอาตำนานเกี่ยวกับโพรมีเทียส แพนดอรา และยุคทั้งห้าของมนุษยชาติเอาไว้ด้วย ผู้ประพันธ์ได้แนะนำวิธีที่ดีที่สุดในการประสบความสำเร็จในโลกอันแสนอันตราย ซึ่งยิ่งถูกทำให้เป็นอันตรายมากขึ้นโดยพวกเทพนั่นเอง[6]

บทกวีประกอบเสียงพิณ (lyric poetry) มักจะนำเนื้อเรื่องมาจากตำนาน แต่วิธีการเล่าจะมีเนื้อหาน้อยกว่าและค่อนข้างคลุมเครือกว่า กวีเพลงของกรีกซึ่งรวมไปถึง พินดาร์, แบคคิลิดีส (Bacchylides), ไซโมนิดีส (Simonides of Ceos) และกวีท้องทุ่ง (bucolic poet) หรือพาสโตรัล เช่น ธีโอคริตัส (Theocritus) และ ไบออนแห่งสเมอร์นา (Bion of Smyrna) มักรวมเอาเหตุการณ์เหนือธรรมชาติของแต่ละคนเข้าไปด้วย[10] นอกจากนี้ นิทานประมวลเรื่องปรัมปรายังเป็นแกนกลางของศิลปะการละครในเอเธนส์ยุคคลาสสิก นักเขียนบทละครโศกนาฏกรรม เช่น เอสคิลัส, โซโฟคลีส, และ ยูริพิดีส ใช้พล็อตเรื่องส่วนใหญ่จากตำนานในยุคแห่งวีรบุรุษและสงครามเมืองทรอย เรื่องราวโศกนาฏกรรมที่สำคัญ ๆ (เช่น อะกาเมมนอนกับลูก ๆ, อีดิปัส, เจสัน, เมเดีย, ฯลฯ) ก็ถูกเล่าผ่านละครโศกนาฏกรรมของกวีที่สำคัญเหล่านี้ จนกลายเป็นเวอร์ชันที่ยอมรับกันเป็นมาตรฐาน อริสโตฟานีส นักเขียนบทละครตลกขบขันยังใช้ตำนานเหล่านี้ในงานบทละครเรื่อง วิหก (The Birds) และ กบ (The Frogs)[11]

นักประวัติศาสตร์ เฮโรโดตัส และ ดิโอดอรัส ซิคุลัส กับนักภูมิศาสตร์ เปาซาเนีย และ สตราโบ ซึ่งเดินทางไปทั่วแผ่นดินกรีกและบันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ที่ได้ยิน ได้ให้ข้อมูลจำนวนมากเกี่ยวกับตำนานและเรื่องเล่าของท้องถิ่น โดยมักจะเป็นเวอร์ชันที่ต่างออกไปและไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก[10] โดยเฉพาะเฮรอโดตัสนั้นเที่ยวค้นหาประเพณีต่าง ๆ ที่ตนพบเจอและพบรากฐานทางประวัติศาสตร์หรือตำนานปรัมปราอยู่ในการเผชิญหน้าระหว่างกรีกกับประเทศตะวันออก[12] เฮรอโดตัสพยายามจะนำต้นกำเนิดต่าง ๆ เหล่านี้ที่มาจากต้นกำเนิดวัฒนธรรมที่แตกต่างกันมาผสมผสานเข้าด้วยกัน

บทกวีในยุคเฮลเลนิสติกและยุคโรมันโบราณล้วนมีต้นกำเนิดในฐานะวรรณกรรมมากกว่าที่จะเป็นพิธีกรรมทางศาสนา ถึงกระนั้นมันก็ยังบรรจุรายละเอียดสำคัญมากมาย ซึ่งอาจจะสูญหายไปหมดแล้ว บทกวีจำพวกนี้รวมถึงงานต่าง ๆ ต่อไปนี้คือ

  1. กวีชาวโรมัน โอวิด, สเตเชียส, วาเลเรียส ฟลัคคัส, เซเนกาผู้เยาว์, และเวอร์จิล กับบทบรรยายของเซอร์วิอัส
  2. กวีชาวกรีกในยุค ปลายสมัยโบราณ ได้แก่ นอนนัส, อันโตนินัส ลิเบราลิส และ ควินตัส สมีเนียส
  3. กวีชาวกรีกในยุคเฮเลนนิสติก ได้แก่ อพอลโลนีอัสแห่งโรดส์, คัลลิมาคัส, เอราทอสเทนีสเทียม, และ พาร์ธีนิอัส
  4. นิยายยุคโบราณของกรีกและโรมัน เช่น แอพิวลีอัส, เปโตรนิอัส, Lollianus, และ เฮลิโอดอรัส

ใกล้เคียง

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลเรื่องปรัมปรากรีก ประมวลเรื่องปรัมปรานอร์ส ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ประเทศไทย) ประมวล สภาวสุ ประมวลเรื่องปรัมปราโรมัน ประมวลกฎหมายนโปเลียน ประมวล กุลมาตย์ ประมวล ตั้งบริบูรณ์รัตน์ ประมวลกฎหมายฮัมมูราบี

แหล่งที่มา

WikiPedia: ประมวลเรื่องปรัมปรากรีก http://www.ancientlibrary.com/smith-bio/ http://books.google.com/?id=EpbZLRPGgBsC&printsec=... http://books.google.com/?id=OFO_NQJh8L0C&printsec=... http://books.google.com/?id=TQyRX6WmMUMC&printsec=... http://books.google.com/books?id=OFO_NQJh8L0C&pg=P... http://books.google.com/books?id=xQzlzYEUm2QC&pg=P... http://www.sacred-texts.com/cla/argo/argo00.htm http://www.sacred-texts.com/cla/gpr/gpr07.htm http://www.sacred-texts.com/cla/hesiod/works.htm http://www.sacred-texts.com/cla/hh/hh1000.htm