กองทัพราชอาณาจักรลาว ของ ประวัติศาสตร์การทหารของประเทศลาว

พ.ศ. 2497 – 2504

หลังจากสิ้นสุดสงคราม ลาวได้ออกจากสหภาพฝรั่งเศสและได้เป็นประเทศเอกราช ลาวได้แบ่งเขตทหารออกเป็น 5 เขต การควบคุมกองทัพลาวขึ้นกับกระทรวงกลาโหมที่เวียงจันทน์[3]

ในการต่อต้านกองทัพปะเทดลาวที่เหลืออยู่ กองทัพลาวพึ่งการฝึกอบรมจากกองทัพฝรั่งเศสขนาดเล็กที่ได้รับการยกเว้นตามข้อตกลงเจนีวา การจัดองค์กรทางทหารของลาวเป็นไปตามแบบฝรั่งเศส อาวุธส่วนใหญ่ได้มาจากสหรัฐ ซึ่งเป็นอาวุธที่สหรัฐส่งมาช่วยเหลือฝรั่งเศสในสงครามอินโดจีนครั้งที่ 1 มีเจ้าหน้าที่ทหารของสหรัฐจำนวนหนึ่งอยู่ในเวียงจันทน์ ต่อมา สหรัฐเข้ามามีบทบาทในการฝึกกองทัพลาวแทนที่ฝรั่งเศส มีการส่งทหารลาวมาฝึกในไทยและไปเรียนในโรงเรียนทหารของสหรัฐ

การที่ห้ามลาวเข้ารับความช่วยเหลือทางทหาร ทำให้ลาวไม่เข้าร่วมในซีโต แต่ซีโตก็จัดให้ลาวเป็นประเทศที่ต้องให้ความคุ้มครองเพราะเป็นเหยื่อของความก้าวร้าว นอกจากนั้น ความล้มเหลวในการรวมกองทัพปะเทดลาวเข้ากับกองทัพราชอาณาจักรลาว ทำให้เพิ่มโอกาสที่ลาวจะถูกเวียดนามเหนือโจมตี มีการสู้รบกับเวียดนามเหนือตามแนวชายแดน ใน พ.ศ. 2502 ทำให้สหรัฐเข้ามาช่วยเหลือลาวการรัฐประหารของนายพลกองแลเมื่อ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2503 ทำให้มีความแตกแยกภายในกองทัพระหว่างองค์กรปฏิวัติเพื่อความเป็นกลางของลาวของฝ่ายกองแลหรือฝ่ายเป็นกลาง กับฝ่ายของนายพลพูมี หน่อสะหวัน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของลาว การสู้รบระหว่างฝ่ายของพูมีกับกองแลทำให้กองแลหนีไปเป็นพันธมิตรกับฝ่ายปะเทดลาว

พ.ศ. 2504 – 2511

ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2504 สหรัฐได้เพิ่มความช่วยเหลือให้แก่กองทัพลาวแต่ต้องยกเลิกไปใน พ.ศ. 2505 เพราะขัดกับข้อตกลงเจนนีวา แต่เวียดนามเหนือไม่ยอมรับการยกเลิกนี้ สหรัฐยังคงช่วยเหลือกองทัพลาวต่อไป เพียงแต่ไม่มีทหารเข้ามา ซีไอเอได้ตั้งหน่วยปฏิบัติการลับที่อุดรธานี นำทหารม้งเข้ามาฝึกการรบ และส่งเครื่องบินไปทิ้งระเบิดเพื่อช่วยเหลือฝ่ายม้ง ส่งกองทัพลับเข้าไปในลาว ในช่วงนี้ วังเปาได้เป็นนายพลในกองทัพราชอาณาจักรลาว และบังคับบัญชาเขตทหารที่ 2

ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2507 สหรัฐได้ตอบโต้การรุกรานของเวียดนามเหนือและปะเทดลาวในบริเวณทุ่งไหหินโดยใช้ปฏิบัติการทางอากาศในการโจมตีที่ตั้งของปะเทดลาวและเวียดนามเหนือ จนกระทั่งเดือนมีนาคม พ.ศ. 2509 ที่ภูกูด ทางตะวันตกเฉียงเหนือของทุ่งไหหิน กองทัพปะเทดลาวเป็นฝ่ายชนะ ต่อมา ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2509 ฝ่ายปะเทดลาวรบชนะอีกในยุทธการที่หุบเขาน้ำบกทางเหนือของหลวงพระบางในขณะเดียวกัน ในลาวภาคใต้ กองทัพเวียดนามเหนือได้เดินทัพผ่านเส้นทางโฮจิมินห์ลงไปเวียดนามใต้ ทำให้มีการโจมตีทางอากาศเพิ่มขึ้น การโจมตีทางอากาศควบคุมโดยสถานทูตสหรัฐในเวียงจันทน์ กองทหารสหรัฐในไซ่ง่อน กองทัพอากาศในไทยและผู้บัญชาการสูงสุดทางแปซิฟิกที่โฮโนลูลู และบางครั้งจากทำเนียบขาว

พ.ศ. 2512 – 2516

ในช่วงฤดูฝนเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2512 ทหารปะเทดลาวและเวียดนามเหนือได้ขับไล่ทหารของฝ่ายกองทัพราชอาณาจักรลาวและฝ่ายเป็นกลางออกจากเมืองซัว ทางตะวันตกเฉียงเหนือของทุ่งไหหิน การสู้รบดำเนินไปตลอดฤดูมรสุม ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2512 วังเปาได้นำทหารม้งปะทะกับทหารเวียดนามเหนือในสมรภูมิที่สำคัญในทุ่งไหหิน และฝ่ายเวียดนามยึดได้ในที่สุดในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2513 ใน พ.ศ. 2513 นี้เป็นช่วงที่ขบวนการปะเทดลาวเติบโตมากที่สุด มีทหารถึง 48,000 คน

ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514 การรุกครั้งใหญ่ของเวียดนามใต้ที่ได้รับการสนับสนุนทางอากาศจากสหรัฐ ได้เข้ายึดเซโปนในลาวเพื่อตัดเส้นทางลำเลียงของเวียดนามเหนือ แต่ขาดการส่งกำลังบำรุง ทำให้ต้องถอยทัพกลับ ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2514 ฝ่ายปะเทดลาวเข้ายึดปากซองในที่ราบสูงโบละเวนได้และยึดท่าแขกและเวียงจันทน์ได้ใน พ.ศ. 2515 การเจรจาสงบศึกเกิดขึ้นเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2516 การทิ้งระเบิดของสหรัฐสิ้นสุดลงและการสู้รบในฤดูร้อนพ.ศ. 2518 กองทัพฝ่ายปะเทดลาวรบชนะกองทัพของฝ่ายวังเปาได้อย่างเด็ดขาด

ใกล้เคียง

ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสนาพุทธ ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ประวัติศาสตร์จีน ประวัติศาสตร์โลก ประวัติศาสตร์สหรัฐ ประวัติศาสตร์สเปน ประวัติศาสตร์เยอรมนี ประวัติการบินไทย