เครือข่ายซึ่งนำไปสู่อินเทอร์เน็ต ของ ประวัติศาสตร์อินเทอร์เน็ต

อาร์พาเน็ต

เมื่อรอเบิร์ต เทเลอร์ได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้เป็นหัวหน้าสำนักงานประมวลผลข้อมูลของอาร์พา เขาได้พยายามที่จะทำให้ความคิดของลิกลิเตอร์ในเรื่องระบบเครือข่ายซึ่งเชื่อมต่อกันเป็นจริงขึ้นมา เทเลอร์ได้ขอตัวแลร์รี รอเบิตส์จากเอ็มไอที และตั้งโครงการเพื่อสร้างเครือข่ายดังกล่าวขึ้น การเชื่อมโยงเครือข่ายอาร์พาเน็ตครั้งแรกเป็นการเชื่อมโยงกันระหว่างมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส และสถาบันวิจัยสแตนฟอร์ด ในวันที่ 29 ตุลาคม ค.ศ. 1969 เครือข่ายได้เพิ่มเป็นสี่จุดในวันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ. 1969 โดยเพิ่มมหาวิทยาลัยยูทาห์และมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย แซนทาบาร์บารา หลังจากนั้น โดยอาศัยแนวคิดต่าง ๆ ที่ได้จากการพัฒนาอะโลฮาเน็ต อาร์พาเน็ตได้ถือกำเนิดขึ้นใน ค.ศ. 1972 และเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ใน ค.ศ. 1981 จำนวนโฮสต์ได้เพิ่มขึ้นเป็น 213 โฮสต์ และมีโฮสต์ใหม่เพิ่มขึ้นประมาณทุก ๆ 20 วัน[4][5]

อาร์พาเน็ตได้กลายเป็นแก่นทางเทคนิคของสิ่งที่จะกลายเป็นอินเทอร์เน็ตในเวลาต่อมา และยังเป็นเครื่องมือหลักอันหนึ่งในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้ในอินเทอร์เน็ต การพัฒนาอาร์พาเน็ตนั้นมีศูนย์กลางอยู่ที่กระบวนการอาร์เอฟซี ซึ่งมีไว้สำหรับการเสนอและกระจายเกณฑ์วิธีและระบบอินเทอร์เน็ต กระบวนการนี้ยังคงใช้จนกระทั่งปัจจุบัน อาร์เอฟซี 1 ซึ่งมีชื่อว่า "Host Software" เขียนโดยสตีฟ ครอกเกอร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส และตีพิมพ์เมื่อ 7 เมษายน ค.ศ. 1969 ปีแรก ๆ ของอาร์พาเน็ตได้ถูกบันทึกไว้ในภาพยนตร์สารคดีปี 1972 เรื่อง Computer Networks: The Heralds of Resource Sharing

ความร่วมมือในระดับนานาชาติบนอาร์พาเน็ตนั้นนับว่าเบาบาง ด้วยเหตุผลทางการเมืองหลายข้อ นักวิจัยในยุโรปนั้นจึงข้องเกี่ยวกับการพัฒนาเครือข่าย X.25 มากกว่า ข้อยกเว้นที่ควรบันทึกไว้ได้แก่การเข้าร่วมของกลุ่มเครื่องวัดแผ่นดินไหวนอร์เวย์ ใน ค.ศ. 1972 ตามด้วยสวีเดนใน ค.ศ. 1973 โดยการเชื่อมโยงผ่านดาวเทียมที่สถานีภาคพื้นที่เมืองทานุม และยูนิเวอร์ซิตีคอลเลจลอนดอน

อนึ่ง อาร์พา (ARPA) เปลี่ยนชื่อเป็นดาร์พา (DARPA) ใน ค.ศ. 1972 และมีการเปลี่ยนชื่อกลับไปกลับมาอีกหลายครั้ง แต่อาร์พาเน็ตยังคงใช้ชื่อเดิม

X.25

โดยอาศัยงานวิจัยของอาร์พา สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ได้พัฒนามาตรฐานเครือข่ายแพกเกตสวิตชิงขึ้นในรูปของ X.25 และมาตรฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เมื่อถึง ค.ศ. 1974 X.25 ได้ก่อตั้งพื้นฐานสำหรับเครือข่าย SERCnet ระหว่างสถาบันวิชาการและสถาบันวิจัยต่าง ๆ ในสหราชอาณาจักรขึ้น ซึ่งในภายหลังได้กลายเป็น JANET มาตรฐานขั้นต้นของไอทียูเกี่ยวกับ X.25 ได้รับการรับรองในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1976 โดยมาตรฐานดังกล่าวมีพื้นฐานอยู่บนแนวคิดเรื่องวงจรเสมือน

สำนักงานไปรษณีย์สหราชอาณาจักร เวสเทิร์นยูเนียนอินเตอร์แนชันแนล และทิมเน็ตได้ร่วมมือกันสร้างเครือข่ายแพกเกตสวิตชิงระดับนานาชาติขึ้นเป็นครั้งแรก โดยใช้ชื่อว่า International Packet Switched Service (IPSS) ใน ค.ศ. 1978 เครือข่ายนี้เติบโตจากทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริกาไปยังแคนาดา ฮ่องกง และออสเตรเลียใน ค.ศ. 1981 เครือข่ายนี้ได้กลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานของเครือข่ายระดับโลกในคริสต์ทศวรรษ 1990[6]

ต่างจากอาร์พาเน็ต X.25 นั้นมีให้ใช้ทั่วไปเพื่อการใช้งานทางธุรกิจด้วย X.25 ได้ถูกนำไปใช้ในเครือข่ายสาธารณะเข้าถึงได้ (public access network) โดยการหมุนโทรศัพท์ในยุคแรก ๆ เช่นคอมพิวเซิร์ฟและทิมเน็ต ใน ค.ศ. 1979 คอมพิวเซิร์ฟเป็นผู้ให้บริการรายแรกที่ให้ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลสามารถใช้ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ได้ รวมทั้งมีบริการสอบถามแก้ไขปัญหาทางเทคนิคด้วย คอมพิวเซิร์ฟยังเป็นรายแรกที่ให้บริการสนทนาแบบเรียลไทม์ด้วยโปรแกรม CB Simulator นอกจากคอมพิวเซิร์ฟ ผู้ให้บริการเครือข่ายแบบหมุนโทรศัพท์รายอื่นมีอาทิ อเมริกาออนไลน์ และโพรดิจี นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายกระดานข่าวอิเล็กทรอนิกส์ (บีบีเอส) อีกหลายเครือข่าย เช่น ไฟโดเน็ต สำหรับไฟโดเน็ตนั้นเป็นที่นิยมในหมู่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์เป็นงานอดิเรก ซึ่งหลายคนในนั้นเป็นแฮกเกอร์และนักวิทยุสมัครเล่นตุ

UUCP

ใน ค.ศ. 1979 นักศึกษามหาวิทยาลัยดุกสองคน ได้แก่ ทอม ทรัสคอตต์ และ จิม เอลลิส ได้เกิดความคิดที่จะใช้ภาษาเชลล์สคริปต์บอร์นอย่างง่าย ๆ เพื่อส่งข่าวและข้อความผ่านสายอนุกรมกับมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา ณ แชเพิลฮิลล์ ที่อยู่ใกล้กัน หลังจากซอฟต์แวร์ดังกล่าวได้เผยแพร่สู่สาธารณะ ข่ายของโฮสต์ที่ใช้ UUCP ก็ได้ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว เครือข่ายดังกล่าว ที่ต่อมาจะใช้ชื่อ UUCPnet ยังได้สร้างเกตเวย์และการเชื่อมโยงระหว่างไฟโดเน็ตและโฮสต์บีบีเอสแบบหมุนโทรศัพท์หลาย ๆ แห่งขึ้นด้วย เครือข่าย UUCP ได้แพร่หลายอย่างรวดเร็วเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่า และยังสามารถใช้สายเช่าที่มีอยู่เดิม ลิงก์ของ X.25 หรือการเชื่อมต่อของอาร์พาเน็ตได้ด้วย ใน ค.ศ. 1983 จำนวนโฮสต์ UUCP ได้เพิ่มขึ้นเป็น 550 โฮสต์ และเพิ่มเป็น 940 โฮสต์หรือเกือบสองเท่าใน ค.ศ. 1984

ใกล้เคียง

ประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสนาพุทธ ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ประวัติศาสตร์จีน ประวัติศาสตร์โลก ประวัติศาสตร์สหรัฐ ประวัติศาสตร์สเปน ประวัติศาสตร์เยอรมนี ประวัติการบินไทย