การเมืองการปกครอง ของ ประเทศตองงา

ตองงามีรูปแบบรัฐเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ[45][46] โดยใช้ระบอบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน มีรัฐสภา พระมหากษัตริย์เป็นประมุขแห่งรัฐ มีพระราชอำนาจทางพิธีการ ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีที่ได้รับการสนับสนุนจากเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภา และมีพระราชอำนาจอื่นตามรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล

รัฐธรรมนูญ

พระราชวังตองงา ที่ประทับของพระมหากษัตริย์

รัฐธรรมนูญตองงาฉบับแรกใช้บังคับในวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 1875[47] รัฐธรรมนูญตองงาประกอบไปด้วยเนื้อหา 3 ส่วน คือ สิทธิขั้นพื้นฐาน รูปแบบของรัฐบาล และที่ดิน[48] มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหลายครั้ง การแก้ไขเพิ่มเติมครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2010[49] สาระสำคัญของการแก้ไขเพิ่มเติมในครั้งนี้ คือ ยกเลิกสมาชิกรัฐสภาที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และให้ผู้แทนราษฎรเป็นสมาชิกส่วนใหญ่ของรัฐสภา[50] การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของตองงาสามารถทำได้โดยการผ่านการพิจารณาของรัฐสภา 3 วาระ หลังจากนั้นถวายให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธย การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน การสืบราชบัลลังก์ และที่ดินมรดกของชนชั้นขุนนาง[48]

สถาบันพระมหากษัตริย์

พระมหากษัตริย์มีสถานะเป็นประมุขแห่งรัฐ[46] และฮาอูโอเอ โฟนูอา (ประมุขสูงสุดของหัวหน้าชนเผ่าพื้นเมืองของตองงา)[51] พระมหากษัตริย์ตองงาสืบราชสมบัติผ่านทางสายพระโลหิต[52] พระมหากษัตริย์พระองค์ปัจจุบันคือสมเด็จพระราชาธิบดีอะโฮเออิตู อูนูอากีโอโตงา ตูกูอาโฮ ตูโปอูที่ 6 ส่วนมกุฎราชกุมารพระองค์ปัจจุบันคือ เจ้าชายซีอาโอซี มานูมาตาโอโง อาลาอีวาฮามามาโอ อาโฮเออีตู กอนสตันติน ตูกูอาโฮ พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่สำคัญซึ่งพระองค์ใช้ได้เองนั้นได้แก่ การดำรงสถานะเป็นจอมทัพของประเทศ การเรียกประชุมรัฐสภา การยุบสภาผู้แทนราษฎร การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี (จากการเลือกของรัฐสภา) การแต่งตั้งประธานรัฐสภา (ตามคำแนะนำของรัฐสภา) การแต่งตั้งผู้ว่าการเขตการปกครองฮาอะไปและวาวาอู (ตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี) รวมถึงการเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ[51]

ฝ่ายนิติบัญญัติ

อาคารรัฐสภาในกรุงนูกูอาโลฟา

สภานิติบัญญัติตองงา (ตองงา: Fale Alea) เป็นสภาเดี่ยว[48] ประกอบด้วยสมาชิก 26 คน มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 17 คน และมาจากขุนนางเลือกกันเองอีก 9 คน[50] หน้าที่ของสภานิติบัญญัติตองงาหรือฟาเลอาเลอาคือการตรากฎหมาย ร่างกฎหมายจะพิจารณากันทั้งสิ้น 3 วาระ หากผ่านการลงคะแนนทั้งสามวาระ จึงจะนำถวายพระมหากษัตริย์เพื่อลงพระปรมาภิไธย เมื่อผ่านทุกกระบวนการแล้วจึงประกาศใช้เป็นกฎหมายได้[48] นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่กำหนดมูลค่าการเก็บภาษีของประชาชน กำหนดงบประมาณ แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และถอดถอนคณะองคมนตรี รัฐมนตรี ผู้ว่าการเขตการปกครอง (ฮาอะไปและวาวาอู) และผู้พิพากษา[48]

สมาชิกสภานิติบัญญัติมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี[53] การเลือกตั้งในตองงาจะแบ่งเขตการเลือกตั้งออกเป็น 17 เขตเลือกตั้งสำหรับตัวแทนของประชาชน[54] และอีก 5 เขตเลือกตั้งสำหรับขุนนาง[55] ในแต่ละเขตการปกครองมีเขตการเลือกตั้งดังนี้[55][54]

  • โตงาตาปู เขตการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร 10 เขต เขตละ 1 คน สำหรับผู้แทนขุนนางมี 1 เขต เขตละ 3 คน
  • เออัว เขตการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร 1 เขต เขตละ 1 คน สำหรับผู้แทนขุนนางมี 1 เขต เขตละ 1 คน
  • ฮาอะไป เขตการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร 2 เขต เขตละ 1 คน สำหรับผู้แทนขุนนางมี 1 เขต เขตละ 2 คน
  • วาวาอู เขตการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร 3 เขต เขตละ 1 คน สำหรับผู้แทนขุนนางมี 1 เขต เขตละ 2 คน
  • นีอูอาส เขตการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร 1 เขต เขตละ 1 คน สำหรับผู้แทนขุนนางมี 1 เขต เขตละ 1 คน

ฝ่ายบริหาร

อำนาจของฝ่ายบริหารในตองงาอยู่ที่นายกรัฐมนตรี พระมหากษัตริย์เป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามคำแนะนำของรัฐสภา[51] นายกรัฐมนตรีมีวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปี[56] นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ถวายคำแนะนำแด่พระมหากษัตริย์ในการแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่าง ๆ [53] คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากสมาชิกในรัฐสภาและสมาชิกนอกรัฐสภาได้ไม่เกิน 4 คน[57] ปัจจุบันประเทศตองงามีกระทรวง 15 กระทรวง[58] นายกรัฐมนตรีตองงามีหน้าที่เป็นหัวหน้ารัฐบาล ประธานสภาผู้แทนราษฎร[59] เสนอแนะการแต่งตั้งผู้ว่าการเขตต่อพระมหากษัตริย์[57] และบริหารราชการแผ่นดิน

ฝ่ายตุลาการ

ฝ่ายตุลาการในประเทศตองงาเป็นอิสระจากอำนาจอื่น ศาลในตองงามี 4 ประเภท คือ ศาลอุทธรณ์ (Court of Appeal) ศาลสูงสุด (Supreme Court) ศาลที่ดิน (Land Court) และศาลแขวง (Magistrates' Court)[60] พระมหากษัตริย๋แต่งตั้งผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์และศาลสูงสุดตามคำแนะนำของคณะองคมนตรี[60] นอกจากนี้ ศาลสูงสุดมีอำนาจไต่สวนคดีที่เกี่ยวข้องกับคณะรัฐมนตรีหรือข้าราชการ รวมถึงวินิจฉัยว่ากฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ด้วย[60]

พรรคการเมือง

พรรคการเมืองในประเทศตองงาพรรคแรกก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1994 กลุ่มนิยมประชาธิปไตยคือพรรคประชาชน (People's Party) ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นขบวนการสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย (Human Rights and Democracy Movement - HRDM)[61] พรรคการเมืองเข้าร่วมเลือกตั้งในตองงาเป็นครั้งแรกในการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. 1996[54] ในปี ค.ศ. 2005 สมาชิกพรรคบางส่วนของพรรค HRDM ได้ร่วมกันก่อตั้งพรรคประชาธิปไตยประชาชน[62] หลังจากปี ค.ศ. 2005 เป็นต้นมา มีการก่อตั้งพรรคการเมืองเพิ่มขึ้นอีก 3 พรรค คือ พรรคการสร้างชาติอย่างยั่งยืน (Paati Langafonua Tu'uloa) ที่ก่อตั้งในปี ค.ศ. 2007[63] พรรคแรงงานประชาธิปไตยตองงา (Tongan Democratic Labor Party) ซึ่งกลุ่มข้าราชการก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 2010[64] และพรรคประชาธิปไตยแห่งหมู่เกาะมิตรภาพ (Democratic Party of the Friendly Islands) ซึ่งก่อตั้งในปี ค.ศ. 2010[65] ปัจจุบันตองงามีพรรคการเมืองรวมทั้งสิ้น 5 พรรค

การแบ่งเขตการปกครองของตองงา

จากการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. 2010 พรรคการเมืองทุกพรรคได้ที่นั่งในรัฐสภารวมกัน 12 ที่นั่ง จากทั้งหมด 17 ที่นั่ง ที่เหลือเป็นผู้สมัครอิสระ

การแบ่งเขตการปกครอง

ดูบทความหลักที่: รายชื่อเมืองในตองงา

ประเทศตองงาแบ่งเขตการปกครองระดับบนสุดออกเป็น 5 เขตการปกครอง[53] โดยแต่ละเขตการปกครองมีเมืองหลักดังต่อไปนี้[66]

แต่ละเขตการปกครองมีการแบ่งเขตย่อยลงไปเป็นอำเภอและหมู่บ้านหรือเมือง โดยในปี ค.ศ. 2013 ประเทศตองงามีเขตการปกครองระดับอำเภอ 23 อำเภอ และมีหมู่บ้านหรือเมือง 167 หมู่บ้านหรือเมือง[67] ในระดับเขตการปกครองนั้นมีเพียง 2 เขตการปกครองเท่านั้นที่มีผู้ว่าการเขตการปกครองคือฮาอะไปและวาวาอู[67] ส่วนในระดับย่อยลงไปนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ประจำอำเภอ (District Officer) ดูแลการปกครอง การบริหารจัดการในระดับอำเภอและทำรายงานการปกครองต่อนายกรัฐมนตรีหรือผู้ว่าการเขตการปกครอง (ในกรณีของฮาอะไปและวาวาอู)[68] ส่วนในระดับหมู่บ้านหรือเมืองนั้นจะมีเจ้าหน้าที่ประจำเมือง (Town Officer) เป็นผู้ปกครองหลัก เจ้าหน้าที่ประจำอำเภอและเจ้าหน้าที่ประจำเมืองมาจากการเลือกตั้งโดยมีวาระคราวละ 3 ปี[67]

โตงาตาปูวาวาอูฮาอะไปเออัวนีอูอาส

1.  โกโลโฟโออู
2.  โกโลโมตูอา
3.  ไวนี
4.  ตาตากาโมโตงา
5.  ลาปาหา
6.  นูกูนูกู
7.  โกโลไว

8.  เนอิอาฟู
9.  ปาไงโมตู
10.  ฮาฮาเค
11.  เลอิมาตูอา
12.  ฮีฮีโฟ
13.  โมตู

14.  ปาไง
15.  โฟอา
16.  ลูลูงา
17.  มูโอมูอา
18.  ฮาอะโน
19.  อุยฮา

20.  เออัวโมตูอา
21.  เออัวโฟโออู

22.  นีอูอาโตปูตาปู
23.  นีอูอาโฟโออู

อาชญากรรม

ประเทศตองงามีรายงานการเกิดอาชญากรรมส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินเป็นหลัก โดยพบว่าในปี ค.ศ. 2007 เกิดอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สิน 1,400 ครั้งจากอาชญากรรมที่มีการรายงานทั้งหมด 2,316 ครั้ง[69] ประเทศตองงายังคงโทษประหารชีวิตไว้อยู่ แต่องค์การนิรโทษกรรมสากลจัดให้ตองงาเป็นประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ การประหารชีวิตครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1982[70]

สถานเอกอัคราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำตองงา

แหล่งที่มา

WikiPedia: ประเทศตองงา http://www.smh.com.au/articles/2003/01/13/10419902... http://hmcs.scu.edu.au/musicarchive/TonganInstrume... http://www.dfat.gov.au/geo/tonga/tonga_brief.html http://www.11v11.com/teams/tonga/tab/matches/seaso... http://www.11v11.com/teams/tonga/tab/matches/seaso... http://www.11v11.com/teams/tonga/tab/matches/seaso... http://www.bbc.com/news/world-asia-pacific-1619822... http://www.britannica.com/EBchecked/topic/599148/T... http://www.ethnologue.com/language/ton http://www.everyculture.com/To-Z/Tonga.html