ประวัติศาสตร์ ของ ประเทศตองงา

วัฒนธรรมแลพีตา

เครื่องปั้นดินเผาแลพีตา

ชาวแลพีตา กลุ่มคนที่พูดภาษาในตระกูลภาษาออสโตรนีเชียนเป็นกลุ่มแรกที่เข้ามาอยู่อาศัยในตองงา มีความเกี่ยวเนื่องกับกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ทางตะวันออกของประเทศปาปัวนิวกินีและหมู่เกาะโซโลมอนในปัจจุบัน[16] ช่วงเวลาที่ชาวแลพีตาเข้ามาอาศัยในหมู่เกาะตองงาเป็นครั้งแรกยังเป็นข้อถกเถียงในปัจจุบัน โดยในระยะแรกนั้นมีการสันนิษฐานว่ากลุ่มคนที่เชื่อว่าเข้ามาอยู่อาศัยในดินแดนประเทศตองงาปัจจุบันเดินทางถึงหมู่เกาะตองงาในช่วงเวลาประมาณ 1,500 - 1,000 ปีก่อนคริสตกาล[16] ในระยะเวลาต่อมา ได้มีการนำเครื่องมือในสมัยนั้นผ่านการหาอายุจากคาร์บอนกัมมันตรังสี ซึ่งช่วยกำหนดได้ว่าชาวแลพีตาเดินทางเข้ามาอยู่ในตองงาในปี 826 ± 8 ก่อนคริสตกาล[10] เมื่อชาวแลพีตาเดินทางมาถึงหมู่เกาะตองงาแล้ว ได้ลงหลักปักฐานในนูกูเลกา บนเกาะโตงาตาปูเป็นที่แรก[10] และได้ลงหลักปักฐานในฮาอะไปเป็นที่ต่อมา[17] ชาวแลพีตาใช้ชีวิตโดยพึ่งพาทะเลเป็นส่วนใหญ่ อาหารของชาวแลพีตาจึงเน้นอาหารทะเลเป็นหลัก ยกตัวอย่างเช่น ปลานกแก้ว ปลานกขุนทอง เต่า ปลาไหล เป็นต้น[16] นอกจากนี้ยังมีการทำเกษตรกรรมและเลี้ยงสัตว์อีกด้วย[16] หลักฐานที่สำคัญทางโบราณคดีในช่วงเวลานี้คือเครื่องปั้นดินเผาแลพีตา ซึ่งเป็นเครื่องปั้นดินเผาที่ทำมาจากเปลือกหอยและหิน[18] โดยพบมากในบริเวณเขตการปกครองฮาอะไปในปัจจุบัน[19]

จักรวรรดิตูอีโตงา

อาณาเขตจักรวรรดิตูอีโตงา

ประมาณ ค.ศ. 950 อะโฮเออิตูได้สถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นตูอีโตงาแห่งจักรวรรดิตูอีโตงาพระองค์แรก[20] จักรวรรดิตูอีโตงาเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุดในคริสต์ศตวรรษที่ 12 ในรัชสมัยพระเจ้าโมโม พระเจ้าตูอิตาตูอิ และพระเจ้าตาลาตามา ซึ่งพระมหากษัตริย์ทั้ง 3 พระองค์ได้ขยายอาณาเขตของจักรวรรดิจนมีอาณาเขตครอบคลุมบางส่วนของฟีจี ซามัว โทเคอเลา นีวเว และหมู่เกาะคุก[20] บรรดาดินแดนในการปกครองเหล่านี้จะส่งบรรณาการที่เรียกว่า อีนาซี ซึ่งต้องส่งมาถวายตูอีโตงาที่เมืองมูอาอันเป็นนครหลวงของจักรวรรดิทุกปีในฤดูเก็บเกี่ยว[21] อำนาจของจักรวรรดิตูอีโตงาเริ่มตกต่ำลงหลังจากเกิดเหตุลอบปลงพระชนม์ตูอีโตงาหลายพระองค์[22] ส่งผลให้ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 พระเจ้าเกาอูลูโฟนูอาตูอีโตงาพระองค์ที่ 24 ตั้งพระอนุชาของพระองค์คือเจ้าชายโมอูงาโมตูอาขึ้นเป็นตูอิฮาอะตากาเลาอาพระองค์แรก เพื่อช่วยเหลือตูอีโตงาในการปกครองจักรวรรดิ[23] และอีก 2 ศตวรรษต่อมาได้มีการตั้งราชวงศ์ตูอิกาโนกูโปลูขึ้นเพื่อช่วยเหลืออีก 2 ราชวงศ์ในการปกครองจักรวรรดิ[24] ซึ่งต่อมาตูอิกาโนกูโปลูสามารถก้าวขึ้นมาเป็นราชวงศ์ที่มีอิทธิพลแทนที่ตูอิฮาอะตากาเลาอาได้[24]

กัปตันเจมส์ คุก

ในยุคจักรวรรดิตูอีโตงานี้ มีนักสำรวจชาวยุโรปเดินทางเข้ามาหลายกลุ่ม โดยนักสำรวจที่เดินทางเข้ามาเป็นกลุ่มแรกนั้นเป็นนักสำรวจชาวดัตช์ชื่อว่ายาโกบ เลอ แมเรอ และวิลเลิม สเคาเติน ซึ่งเดินทางมาถึงจักรวรรดิตูอีโตงาในปี ค.ศ. 1616[25] ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่จักรวรรดิเกิดสงครามกลางเมือง[26] โดยเข้ามาสำรวจในบริเวณเกาะนีอูอาโตปูตาปู[27] ในปี ค.ศ. 1643 อาเบิล ตัสมัน ได้เดินทางเข้ามาในตองงาในบริเวณเกาะโตงาตาปูและฮาอะไป[27] แต่การเดินทางเข้ามาทั้ง 2 ครั้งของชาวยุโรปนี้ ยังไม่มีการติดต่อกับชาวพื้นเมืองอย่างเป็นทางการมากเท่าใดนัก[26] การติดต่อกับชาวพื้นเมืองอย่างเป็นทางการของชาวยุโรปและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในจักรวรรดิคือการเดินทางเข้ามาสำรวจของกัปตันเจมส์ คุก ในปี ค.ศ. 1773 1774 และ 1777[26] ซึ่งเจมส์ คุกได้ตั้งชื่อหมู่เกาะนี้ว่า "หมู่เกาะมิตรภาพ" (Friendly Islands) โดยชื่อนี้มาจากความประทับใจของเจมส์ คุก ต่อลักษณะนิสัยของชาวพื้นเมือง[26] หลังจากนั้นอเลสซานโดร มาลาสปินาเข้ามาสำรวจตองงาในปี ค.ศ. 1793[26] ในปี ค.ศ. 1797 หลังจากการเข้ามาของอเลสซานโดร มาลาสปินาได้มีมิชชันนารีเข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์ให้แก่ชาวพื้นเมือง โดยคณะแรกที่เข้ามานั้นคือ London Missionary Society แต่มิชชันนารีกลุ่มนี้ไม่ประสบความสำเร็จมากนักในการเผยแผ่ศาสนา[25] อย่างไรก็ตามมิชชันนารีในคณะเวสเลยันที่เข้ามาในตองงาปี ค.ศ. 1822 ประสบความสำเร็จในการเผยแผ่ศาสนาและเป็นส่วนสำคัญในการช่วยให้เตาฟาอาเฮาได้รับชัยชนะในสงครามกลางเมือง[25]

ในช่วงปลายของจักรวรรดิเกิดสงครามกลางเมืองระหว่างผู้นำตามเกาะต่าง ๆ ระหว่างกลุ่มที่นับถือศาสนาพื้นเมืองกับกลุ่มที่นับถือศาสนาคริสต์[28] สงครามกลางเมืองครั้งนี้มีสาเหตุมาจากการลอบปลงพระชนม์ตูอิกาโนกูโปลูพระเจ้าตูกูอาโฮ[29] ในท้ายที่สุดตูอิกาโนกูโปลูเตาฟาอาเฮา ซึ่งเป็นกลุ่มที่นับถือศาสนาคริสต์ได้รับชัยชนะและรวมดินแดนที่แตกแยกเข้าเป็นอาณาจักรเดียวกันในปี ค.ศ. 1845[28]

หลังการรวมชาติตองงา

พระเจ้าจอร์จ ตูโปอูที่ 1

หลังจากที่พระเจ้าจอร์จ ตูโปอูที่ 1 ได้รับชัยชนะจากสงครามกลางเมืองตองงาแล้ว พระองค์ได้ตั้งเมืองปาไงในฮาอะไป ซึ่งเป็นเขตอำนาจเดิมของพระองค์เป็นเมืองหลวงในปี ค.ศ. 1845[30] หลังจากนั้นได้ย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่ลิฟูกา ในท้ายที่สุดได้ย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่เมืองนูกูอาโลฟาซึ่งเป็นเมืองหลวงปัจจุบันในปี ค.ศ. 1851[30] ในรัชสมัยของพระเจ้าจอร์จ ตูโปอูที่ 1 มีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายวาวาอู ในปี ค.ศ. 1839 ซึ่งเกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและลดบทบาทเจ้านายในท้องถิ่นต่าง ๆ โดยประมวลกฎหมายฉบับนี้เป็นพื้นฐานที่สำคัญของรัฐธรรมนูญตองงาที่ประกาศใช้ในปี ค.ศ. 1875[31] การประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรกก็เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ โดยเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1862[30] นอกจากนี้มีการประกาศความสัมพันธ์กับสหราชอาณาจักร เยอรมนีและสหรัฐอเมริกา ประเทศเหล่านี้ต่างรับรองความเป็นเอกราชของตองงา[32] การเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าจอร์จ ตูโปอูที่ 1 นั้นเหล่ามิชชันนารีล้วนมีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมืองการปกครองและในรัชสมัยนี้ศาสนาคริสต์ก็แผ่ได้มากขึ้นจากการอุปถัมภ์ของพระมหากษัตริย์[31]

ในรัชกาลของพระเจ้าจอร์จ ตูโปอูที่ 2 ได้ลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพ (Treaty of Friendship) กับสหราชอาณาจักร ในวันที่ 18 พฤษภาคม ค.ศ. 1900[33] ส่งผลให้ตองงาเป็นรัฐภายใต้การอารักขาของสหราชอาณาจักร โดยสหราชอาณาจักรจะควบคุมทางด้านการต่างประเทศ รวมไปถึงสิทธิสภาพนอกอาณาเขตเท่านั้น ส่วนกิจการภายในอื่น ๆ รัฐบาลตองงายังคงมีสิทธิบริหาร[34] อย่างไรก็ตามพบว่ารัฐบาลอังกฤษพยายามที่จะแทรกแซงกิจการภายในของตองงาอยู่เสมอ[34] เหตุผลที่ต้องลงนามในสนธิสัญญานี้เนื่องจากรัฐบาลตองงาเกรงว่าชาวต่างชาติอาจรุกรานและยึดตองงาเป็นอาณานิคม[33] ตองงาเริ่มได้อำนาจการปกครองส่วนใหญ่คืนใน ค.ศ. 1958[35] และได้เอกราชโดยสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 1970[36]

การเรียกร้องประชาธิปไตย

การจลาจลในกรุงนูกูอาโลฟา ค.ศ. 2006

หลังจากตองงาพ้นจากการอารักขาของสหราชอาณาจักรแล้ว ตองงาได้ปกครองตนเองโดยสมบูรณ์ภายใต้การนำของสมเด็จพระราชาธิบดีเตาฟาอาเฮา ตูโปอูที่ 4 ในปี ค.ศ. 1992 มีการก่อตั้งกลุ่มนิยมประชาธิปไตยขึ้นในตองงา[35] โดยกลุ่มนิยมประชาธิปไตยได้พยายามเรียกร้องให้มีตัวแทนของประชาชนในรัฐสภามากขึ้น ซึ่งมีเพียง 9 คนเท่านั้น ส่วนตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมักมาจากขุนนางและชนชั้นสูงที่มีความสนิทสนมกับราชวงศ์[37] ความไม่พอใจในการปกครองมีมากขึ้นจากการที่รัฐบาลเชื้อพระวงศ์และขุนนางดำเนินการผิดพลาดหลายประการ ทั้งการลงทุนที่ผิดพลาดจนสูญเสียงบประมาณ 26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[35] การพิจารณาให้ตองงาเป็นสถานที่กำจัดกากนิวเคลียร์[38] การขายหนังสือเดินทางตองงาแก่ชาวต่างประเทศ[39] การอนุญาตขึ้นทะเบียนเรือต่างประเทศ[40] การถือสัญญาเช่าเครื่องบินโบอิง 757 ระยะยาวโดยไม่ได้ใช้งาน ซึ่งนำไปสู่การล้มละลายของสายการบินรอยัลตองงาแอร์ไลน์[41] รวมไปถึงการเพิ่มพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์และการจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชน[35]

จากความไม่พอใจในการบริหารงานของรัฐบาลจึงเกิดการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยทั่วกรุงนูกูอาโลฟาในปี ค.ศ. 2005 เพื่อเรียกร้องการปฏิรูปการปกครองให้เป็นระบอบประชาธิปไตย[42] การประท้วงในครั้งนี้นำไปสู่การลาออกของเจ้าชายอูลูกาลาลา ลาวากา อาตานายกรัฐมนตรี และ ดร. เฟเลติ เซเวเล ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน ซึ่งถือได้ว่าเป็นนายกรัฐมนตรีพลเรือนคนแรกของตองงา[35] อย่างไรก็ตามการสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายตูอิเปเลหะเกจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ทำให้กระบวนการปฏิรูปการปกครองล่าช้ายิ่งขึ้น[43] ความล่าช้าในการปฏิรูปการปกครองก่อให้เกิดการจลาจลทั่วกรุงนูกูอาโลฟาในปี ค.ศ. 2006 ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียชีวิตและเศรษฐกิจ[44] ในปี ค.ศ. 2008 สมเด็จพระราชาธิบดีจอร์จ ตูโปอูที่ 5 ทรงสละพระราชอำนาจของพระองค์ส่วนใหญ่และเริ่มการปฏิรูปการปกครอง[35] โดยปี ค.ศ. 2010 เป็นปีแรกที่มีการเลือกตั้งทั่วไปที่สมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน[12]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ประเทศตองงา http://www.smh.com.au/articles/2003/01/13/10419902... http://hmcs.scu.edu.au/musicarchive/TonganInstrume... http://www.dfat.gov.au/geo/tonga/tonga_brief.html http://www.11v11.com/teams/tonga/tab/matches/seaso... http://www.11v11.com/teams/tonga/tab/matches/seaso... http://www.11v11.com/teams/tonga/tab/matches/seaso... http://www.bbc.com/news/world-asia-pacific-1619822... http://www.britannica.com/EBchecked/topic/599148/T... http://www.ethnologue.com/language/ton http://www.everyculture.com/To-Z/Tonga.html