วัฒนธรรม ของ ประเทศตองงา

การเต้นรำโอตูฮากา

สังคมตองงามีการแบ่งชนชั้นตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตามการแบ่งชนชั้นในสังคมตองงาเริ่มลดลงหลังมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปัจจุบัน[136] ในสังคมตองงาแบ่งผู้คนออกเป็นสามกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มเชื้อพระวงศ์และชนชั้นสูงซึ่งเป็นชนชั้นนำของสังคม กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มของนักบวชและชนชั้นนำอื่น ๆ ส่วนกลุ่มที่สามเป็นกลุ่มสามัญชน สถานภาพของบุคลในตองงาตามโครงสร้างทางสังคมและครอบครัวนั้นขึ้นอยู่กับสถานะและอำนาจของบุคคลนั้น เพศและอายุมีส่วนในการจัดโครงสร้างชนชั้นด้วย โดยทั่วไปเพศหญิงมีสถานภาพสูงกว่าผู้ชาย[137] อย่างไรก็ตาม ชายเป็นเจ้าของที่ดินและสามารถส่งต่อบรรดาศักดิ์ของตนแก่บุตรหลานที่เป็นชายได้[136]

ดนตรี

กลองลาลี

ข้อมูลเกี่ยวกับดนตรีและเครื่องดนตรีพื้นเมืองของตองงาช่วงก่อนมีการติดต่อกับชาวตะวันตกนั้นมีอยู่น้อยมาก อย่างไรก็ตามกัปตันเจมส์ คุก และวิลเลียม มาริเนอร์ ได้บันทึกเกี่ยวกับดนตรีและเพลงของตองงาไว้[138] เครื่องดนตรีตองงาส่วนใหญ่เป็นประเภทเครื่องกระทบ[139] เครื่องดนตรีในกลุ่มเครื่องกระทบที่สำคัญของตองงา เช่น กลองนาฟาซึ่งทำจากไม้ ตาฟูอาซึ่งทำจากไม้ไผ่และอูเตเตซึ่งมีลักษณะคล้ายกับพิณ เป็นต้น นอกจากกลุ่มนี้แล้ว เครื่องดนตรีพื้นเมืองของตองงายังมีทั้งกลุ่มเครื่องสายและกลุ่มเครื่องลม[139] อย่างไรก็ตาม เครื่องดนตรีในกลุ่มเครื่องหนังนั้นเพิ่งเข้ามาแพร่หลายในตองงาเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยนำเข้าจากซามัว พร้อมกับการเต้นมาอูลูอูลู[139] ปัจจุบันดนตรีและบทเพลงของตองงาได้รับอิทธิพลจากดนตรีของยุโรปและแคริบเบียน โดยนำดนตรีที่ได้รับอิทธิพลจากภูมิภาคอื่นเหล่านี้มาใช้ร่วมกับดนตรีพื้นเมืองและบทเพลงพื้นเมือง[140]

การเต้นรำลากาลากา

การเต้นรำ

การเต้นรำของตองงาได้รับการอนุรักษ์และสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน การเต้นรำที่ขึ้นชื่อที่สุดของตองงาในปัจจุบันคือการเต้นเมเอตูอูปากี ซึ่งเป็นการเต้นรำที่ใช้ผู้ชายแสดงเท่านั้น โดยใช้เครื่องดนตรีประกอบการแสดง 3 ชิ้น คือ กลอง อูเตเตและ Ratchet โดยมีผู้ชายและผู้หญิงที่นั่งอยู่ด้านหน้าผู้เต้นเป็นผู้ร้องสนับสนุน ในอดีตการเต้นเมเอตูอูปากีจะเต้นในโอกาสการเฉลิมฉลองระดับชาติเท่านั้น แต่ในปัจจุบันมีการจัดแสดงเมเอตูอูปากีตามหมู่บ้านต่าง ๆ บ่อยครั้ง[141] นอกจากนี้ยังมีการเต้นรำอีกแบบหนึ่งซึ่งเรียกว่าโอตูฮากา ที่ใช้นักแสดงทั้งชายและหญิง การแสดงประเภทนี้เป็นการแสดงที่ใช้มือประกอบการแสดงบ่อยมาก[141] เครื่องดนตรีที่นิยมใช้ประกอบการแสดงคือเครื่องดนตรีตะวันตกผสมผสานกับเครื่องดนตรีพื้นเมือง โดยเครื่องดนตรีตะวันตกที่นำมาใช้คือกีตาร์ ในขณะที่ตาฟูอาเป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองที่ใช้ประกอบการแสดง[142]

การเต้นรำอีกประเภทหนึ่งของตองงาที่มีชื่อเสียงมากและได้รับการยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ในปี ค.ศ. 2013 คือลากาลากา โดยการเต้นรำประเภทนี้ถือได้ว่าเป็นนาฏศิลป์ประจำชาติของประเทศตองงา การเต้นรำลากาลากาเป็นการเต้นรำที่ใช้ทั้งการเต้น การพูด การใช้เสียงและเครื่องดนตรี การเต้นลากาลากาจะใช้ผู้แสดงประมาณ 100 คน ผสมผสานกันทั้งชายและหญิง ชายจะแสดงท่าทางที่มีพลัง ขณะที่หญิงจะแสดงท่าทางที่สวยงาม[143]

โอไต เครื่องดื่มพื้นเมืองของตองงา

อาหารและเครื่องดื่ม

ชาวตองงาสมัยก่อนนิยมรับประทานผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเป็นอาหารหลัก อันได้แก่ มันเทศ กล้วย มะพร้าว และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอื่น ๆ ผลิตภัณฑ์จากทะเลก็สำคัญเนื่องจากสามารถหาได้ง่ายในท้องถิ่น ชาวตองงาสมัยโบราณนิยมบริโภคปลาและสัตว์จำพวกหอย โดยที่ปลาต้องผ่านกรรมวิธีการอบความร้อนก่อน ขณะที่สัตว์จำพวกหอยชาวตองงาสมัยโบราณนิยมบริโภคแบบดิบ นิยมบริโภคน้ำกะทิเป็นเครื่องดื่ม นอกจากนี้ยังพบหลักฐานการเลี้ยงสุกรในครัวเรือนชาวตองงาสมัยโบราณอีกด้วย[144]

หลังชาวยุโรปเข้ามา ชาวยุโรปได้นำพืชต่างถิ่นเข้ามาในตองงาส่งผลให้อาหารและเครื่องดื่มของตองงาในยุคหลังได้รับอิทธิพลมาจากพืชเหล่านั้น โดยพืชที่ชาวยุโรปนำเข้ามาในตองงาคือ หัวหอม กะหล่ำปลี แคร์รอต มะเขือเทศ ส้ม มะนาว ยักกา รวมไปถึงแตงโม[145] แตงโมกลายเป็นหนึ่งในพืชที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศตองงา เนื่องจากแตงโมเป็นวัตถุดิบสำคัญในการทำเครื่องดื่มของตองงาที่ได้รับความนิยมมากที่สุดอย่างหนึ่งคือโอไต ซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่มีแตงโมและมะพร้าวเป็นส่วนประกอบ บางครั้งมีการนำมะม่วงหรือสับปะรดเป็นวัตถุดิบด้วย[146] ชาวตองงานอกจากจะนำพืชที่ชาวยุโรปนำเข้ามาทำเป็นเครื่องดื่มแล้ว ยังนำพืชนั้นมาปรุงเป็นอาหารพื้นเมืองด้วย ยกตัวอย่างเช่น ลูปูลู ซึ่งนำมะเขือเทศและหัวหอมมาปรุงพืชพื้นเมืองตองงาและเนื้อจนได้เป็นอาหารที่ได้รับความนิยมในตองงาอย่างหนึ่ง[147]

นอกจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ประเทศตองงายังมีเครื่องดื่มยอดนิยมอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า คาวา โดยคาวานั้นทำมาจากต้นคาวา นิยมใช้ในพิธีการรวมทั้งพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ นอกจากนี้ชาวตองงานิยมนำคาวามาใช้รักษาโรคและบรรเทาอาการหลากหลาย ซึ่งคาวามีสรรพคุณในการรักษาอาการปวดข้อ วัณโรค หนองในและอาการไข้[148]

กีฬา

รักบี้ทีมชาติตองงา (ชุดสีแดง)

กีฬาประจำชาติและได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศตองงา คือ รักบี้[149] ประเทศตองงาเข้าร่วมการแข่งขันรักบี้ชิงแชมป์โลกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1987 ซึ่งเป็นการจัดชิงแชมป์โลกครั้งแรก[150] การแข่งขันที่ตองงาประสบความสำเร็จมากที่สุดคือการแข่งขันรักบี้ชิงแชมป์โลกในปี ค.ศ. 2007 และ ค.ศ. 2011 ซึ่งสามารถจบในอันดับที่ดีพอที่จะเข้าแข่งขันในครั้งต่อไปโดยอัตโนมัติ[149]

ด้านกีฬาฟุตบอล ประเทศตองงาเป็นสมาชิกของสหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศและสมาพันธ์ฟุตบอลโอเชียเนียตั้งแต่ปี ค.ศ. 1994[151] ฟุตบอลทีมชาติตองงาเข้าแข่งขันระดับนานาชาติครั้งแรกในเซาธ์แปซิฟิกเกมส์ โดยการแข่งขั้นในครั้งแรกนั้นพบกับฟุตบอลทีมชาติตาฮีตี ซึ่งฟุตบอลทีมชาติตองงาแพ้ 8–0[152] ผลการแข่งขันที่แย่ที่สุดของฟุตบอลทีมชาติตองงาคือการแพ้ต่อฟุตบอลทีมชาติออสเตรเลีย 22–0 ในปี ค.ศ. 2001[153] ส่วนผลการแข่งขันที่ดีที่สุดของฟุตบอลทีมชาติตองงาคือการชนะฟุตบอลทีมชาติไมโครนีเซีย 7 –0 ในปี ค.ศ. 2003[154]

คณะกรรมการโอลิมปิกของประเทศตองงานั้นก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1963 และได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการโอลิมปิกสากลในปี ค.ศ. 1984[155] ประเทศตองงาเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งแรกในปี ค.ศ. 1984[156] ประเทศตองงาเคยได้รับ 1 เหรียญรางวัลจากการแข่งขันโอลิมปิกในปี ค.ศ. 1996 ที่ลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา โดยในครั้งนั้น ปาเออา วอฟแฟรม นักกีฬามวยสากลสมัครเล่น ได้เหรียญเงิน[155] ส่วนการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวนั้น ตองงาจะเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว 2014 ที่เมืองโซชิ ประเทศรัสเซีย เป็นครั้งแรก[157]

วันหยุดราชการ

ประเทศตองงาประกาศให้มีวันหยุดราชการ 10 วัน โดยมีวันหยุดราชการที่มีความเกี่ยวข้องกับประเทศ 6 วันและมีวันหยุดราชการที่เป็นสากลอีก 4 วัน เช่น วันอีสเตอร์และวันคริสต์มาส[158]

วันที่ชื่อชื่อวันในภาษาอังกฤษ
1 มกราคมวันขึ้นปีใหม่New Year’s Day
-วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรตองงาBirthday of the reigning Sovereign of Tonga
-วันเฉลิมพระชนมพรรษามกุฎราชกุมารแห่งราชอาณาจักรตองงาBirthday of the Heir to the Crown of Tonga
-วันศุกร์ประเสริฐGood Friday
-วันจันทร์ศักดิ์สิทธิ์Easter Monday
4 มิถุนายนวันเอกราชEmancipation Day
-วันเฉลิมฉลองการครองราชย์ของพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรตองงาthe Anniversary of the Coronation Day of the reigning Sovereign of Tonga
4 ตุลาคมวันรัฐธรรมนูญConstitution Day
4 ธันวาคมวันเฉลิมฉลองการครองราชย์ของพระเจ้าจอร์จ ตูโปอูที่ 1The Anniversary of the Coronation of H.M. King George Tupou I
25 ธันวาคมวันคริสต์มาสChristmas Day and the day immediately succeeding Christmas Day

แหล่งที่มา

WikiPedia: ประเทศตองงา http://www.smh.com.au/articles/2003/01/13/10419902... http://hmcs.scu.edu.au/musicarchive/TonganInstrume... http://www.dfat.gov.au/geo/tonga/tonga_brief.html http://www.11v11.com/teams/tonga/tab/matches/seaso... http://www.11v11.com/teams/tonga/tab/matches/seaso... http://www.11v11.com/teams/tonga/tab/matches/seaso... http://www.bbc.com/news/world-asia-pacific-1619822... http://www.britannica.com/EBchecked/topic/599148/T... http://www.ethnologue.com/language/ton http://www.everyculture.com/To-Z/Tonga.html