การวางตัวเป็นกลาง ของ ประเทศสยามในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

สยามได้ผลกระทบปานกลางจากสงครามที่กำลังปะทุ และ รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ การค้าขายจากประเทศยุโรปหยุดชะงักการค้าขายทันทีในช่วงเดือนแรกของสงคราม ทำให้เกิดผลเสียขึ้นมากมาย โดยเฉพาะราคาของนำเข้าที่พุ่งขึ้นสูงกว่าราคาปกติถึง 30-40% การสร้างรางรถไฟหยุดชะงักลง เนื่องจากการนำเข้าปูนซีเมนต์ และ เหล็ก ได้หยุดลง[13] ชาวอังกฤษ, ฝรั่งเศส และ เยอรมัน ที่อยู่ในสยามก็ถูกเรียกตัวกลับไปประเทศของตนเพื่อให้ไปเกณฑ์ทหาร แต่ชาวเยอรมันส่วนมากก็ทำการหลบหนี เพราะว่าพวกเขาถูกกีดกันไม่ให้ขึ้นเรือโดยสารเดียวกันกับชาวยุโรปอื่น ๆ จากข่าวคราวที่รายงานเกี่ยวกับสงครามในแต่ละวันก็กลายเป็นตัวบีบบังคับให้สยามจำเป็นต้องเลือกข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เดริ่ง อัครราชทูตอังกฤษในสยามก็ทำการโน้มน้าวใจพระมงกุฎเกล้าให้เข้าร่วมสงคราม มีการโฆษณาจากฝ่ายสัมพันธมิตรเกิดขึ้นในสยาม ด้วยการช่วยเหลือของเดริ่งที่ทำงานให้กับอังกฤษเลยมีการตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ที่เนื้อหาเกี่ยวกับความยิ่งใหญ่ของฝ่ายสัมพันธมิตร หนังสือพิมพ์เหล่านั้นถูกตีพิมพ์ในภาษาอังกฤษ และ ภาษาไทย[14] ออตโต เชฟาร์ (Otto Schaefer) นักลงทุนชาวเยอรมัน ที่หลบหนีมาจากอินโดจีนของฝรั่งเศสตั้งแต่ช่วงต้นสงคราม ได้ทำการตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ที่มีเนื้อหาเอียงข้างหาฝ่ายมหาอำนาจกลางในชื่อ Umschau หรือ ในภาษาไทยที่เรียกกันว่า ข่าวเยอรมัน เชฟาร์หวังว่าการกระทำของเขาจะเป็นการโน้มน้าวให้สยามเข้าร่วมฝ่ายมหาอำนาจกลาง อัครราชทูตอังกฤษเมื่อเห็นดังนั้นจึงประท้วงทางการสยามที่ให้มีการตีพิมพ์สื่อที่เอียงข้างไปหาเยอรมันออกมา พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ทรงกล่าวกับอัครราชทูตอังกฤษว่าการสั่งให้ ข่าวเยอรมัน หยุดตีพิมพ์นั้นจะทำให้ต่างชาติมองว่าสยามไม่ได้เป็นกลาง และ ให้ความช่วยเหลือแก่ฝ่ายสัมพันธมิตร อย่างไรก็ตาม ทางการอังกฤษก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรมากเกี่ยวกับการโฆษณาชวนเชื่อของเยอรมันในสยาม เพราะพวกเขารู้ว่าทางการสยามก็เอียงข้างเข้าหาฝ่ายสัมพันธมิตร เห็นได้จากสำนักพิมพ์ทั่วทั้งจังหวัดพระนคร ที่มักจะเขียนข่าวเอียงข้างไปหาฝ่ายสัมพันธมิตรอยู่เสมอ[15]

ภายในสยามก็ได้มีการสร้างความเอกภาพขึ้นมาให้เกิดในสังคมของทุก ๆ ชนชั้น พระมงกุฎเกล้าทรงมองเห็นว่าสงครามครั้งนี้จะเป็นตัวผลักดันความชาตินิยมในหมู่ผู้คนให้เพิ่มมากขึ้น "ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์" พระราชดำรัสของพระองค์ ที่เคยตรัสไว้ใน ค.ศ. 1911 ก็ถูกนำมาใช้อีกครั้ง โดยบทบาทของพระราชดำรัสคือ ชูจุดยืนของประเทศสยาม, ความเป็นผู้นำขององค์พระมหากษัตริย์, ให้ปวงชนยึดมั่นในความเอกภาพของประเทศสยาม, เพิ่มความสนใจต่อการปกป้องประเทศ และ ชูความแสนยนิยมของสยาม[16] ความเป็นกลางของสยามค่อย ๆ ลดลงในปี 1915 เมื่อทางการสยามได้สั่งการให้กองทัพเรือซื้อเรือพิฆาตเพิ่มจากอังกฤษ[9]