ประเทศสยามในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
ประเทศสยามในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

ประเทศสยามในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

บทความนี้ใช้ระบบคริสต์ศักราช เพราะอ้างอิงคริสต์ศักราชและคริสต์ศตวรรษ หรืออย่างใดอย่างหนึ่งราชอาณาจักรสยาม หรือประเทศไทยในปัจจุบัน เป็นประเทศหนึ่งที่เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยส่งกำลังพลไปช่วยฝ่ายสัมพันธมิตรรบกับฝ่ายมหาอำนาจกลางที่แนวรบด้านตะวันตกในประเทศฝรั่งเศส สงครามโลกครั้งที่หนึ่งถึงแม้จะไม่มีผลกระทบต่อภายในสยามมากนัก แต่การตัดสินใจเข้าร่วมสงครามก็เป็นหนึ่งในความสำเร็จของสยามที่ทำให้นานาประเทศในยุโรปยอมรับสยามมากขึ้น ส่วนหนึ่งก็มาจากการเสียดินแดนให้กับประเทศยุโรปในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การเสียดินแดน, ลัทธิชาตินิยม และแสนยนิยมของประเทศอื่น ๆ ในเอเชียอย่างจีนและญี่ปุ่นก็เป็นปัจจัยหลักผลักดันทำให้สยามเข้าร่วมสงครามสยามเริ่มมีบทบาทในสงครามหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้สยามประกาศสงครามกับจักรวรรดิเยอรมันและจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี สยามส่งกองกำลังทหารไปร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตรที่แนวหน้าตะวันตกโดยทั้งหมดประจำการอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส กองทัพสยามที่ถูกส่งไปมีจำนวนทหารประจำการอยู่ทั้งหมด 1,248 นาย สยามเข้าร่วมสงครามในวันที่ 22 กรกฎาคม 1917 และส่งทหารไปร่วมรบในกลางเดือนกันยายนของปีเดียวกัน กองทัพสยามที่ถูกส่งไปได้ผ่านการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี พวกเขามีความสามารถในด้านการซุ่มโจมตีเนื่องจากมีกำลังพลที่ค่อนข้างน้อยแต่ก็เรียกได้ว่ามีประสิทธิภาพสูงตามความเห็นของทหารสัมพันธมิตรชาติอื่น ๆ [1] หลังจากที่ฝ่ายสัมพันธมิตรและจักรวรรดิเยอรมันลงนามสงบศึกกันในวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 กองทัพสยามก็เข้าร่วมการยึดครองดินแดนไรน์ สยามทำการเข้ายึดครองเมืองนอยสตัท อัน เดอ ไวน์สตาเซอ (Neustadt an der Weinstraße)ในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง สยามมีความสัมพันธ์อันดีกับทั้งฝ่ายเยอรมันและฝ่ายสัมพันธมิตร ธุรกิจของเยอรมันในสยามเฟื่องฟูทำปริมาณต่อปีได้ 22 ล้านมาร์คทองในช่วงก่อนสงคราม นอกจากนี้ยังมีชาวเยอรมันรับราชการในรัฐบาลสยาม แต่ในขณะเดียวกันพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ เช่น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ และสมเด็จพระเชษฐาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถทรงโปรดฝ่ายไตรภาคี[2] อีกทั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงศึกษาวิชา ณ ประเทศอังกฤษ ทำให้เกิดความเห็นต่างกันในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์ สยามดำรงนโยบายเป็นกลางอย่างเคร่งครัดมาตลอด 3 ปีของสงคราม ก่อนจะเริ่มโอนเอนเมื่อทราบรายงานว่าฝ่ายเยอรมันมีส่วนในการปลุกปั่นชาวอินเดียในสยามให้กระด้างกระเดื่องต่อจักรวรรดิอังกฤษ บวกกับการดำเนินการสงครามเรือดำน้ำแบบไม่จำกัดขอบเขตของฝ่ายเยอรมันที่โจมตีเรือโดยไม่ประกาศล่วงหน้า ส่งผลให้เรือ อาร์เอ็มเอส ลูซิเทเนีย อับปาง เป็นสาเหตุให้สหรัฐเข้าร่วมสงคราม รวมถึงความประสงค์ของสยามที่จะแก้ไขสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมที่ทำไว้กับชาติอื่น[3] วันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ. 1917 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงประกาศสงครามต่อฝ่ายมหาอำนาจกลาง สั่งจับกุมพลเมืองชาวเยอรมันและออสเตรีย-ฮังการีในราชอาณาจักร และยึดทรัพย์สินและเรือที่เทียบท่า[4] ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1917มีการจัดตั้งกองทหารอาสาสยามที่ประกอบด้วยหน่วยขนส่งยานยนต์ บุคลากรทางการแพทย์ และกองบิน จำนวน 1,284 นาย[5] ต่อมาในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1918 กองทหารอาสาสยามเดินทางถึงมาร์แซย์ โดยกองบินถูกส่งไปฝึกที่เมืองอิสตร์ ส่วนหน่วยขนส่งยานยนต์ถูกส่งไปฝึกที่เมืองลียง[6] หน่วยขนส่งยานยนต์มีส่วนในการส่งกำลังพล ยุทธภัณฑ์และเสบียงในการรุกเมิซ–อาร์กงทางตะวันออกเฉียงเหนือของฝรั่งเศส และภายหลังได้รับเหรียญครัวซ์เดอแกร์และเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดีจากความชอบนี้[7] ขณะที่กองบินยังอยู่ในช่วงฝึกซ้อมเมื่อมีการลงนามสงบศึกในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1918หลังสงคราม สยามเป็นประเทศหนึ่งที่เข้าร่วมการประชุมสันติภาพปารีส ค.ศ. 1919 และเป็นหนึ่งในสมาชิกก่อตั้งสันนิบาตชาติ มีโอกาสแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับเยอรมัน อังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐ ด้านกองทหารอาสาสยามเสียกำลังพล 19 นาย ซึ่งอัฐิถูกบรรจุที่อนุสาวรีย์ทหารอาสา นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังโปรดให้สร้างวงเวียน 22 กรกฎาคม เพื่อระลึกถึงการเข้าร่วมสงคราม[8]