ประวัติ ของ ประเทศแมนจู

ภูมิหลัง

หลังจากที่ชาวแมนจูพิชิตประเทศจีนสำเร็จ ชาวแมนจูจึงโค่นล้มอำนาจการปกครองของราชวงศ์หมิงและสถาปนาราชวงศ์ชิงขึ้นแทนที่ แต่อย่างไรก็ตามจักรพรรดิแมนจูกลับไม่รวมแผ่นดินการปกครองเกิดของพวกตนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีนอย่างเต็มที่นัก ระเบียบการปกครองโดยแบ่งแยกชนชาติดังกล่าวได้ดำเนินต่อมาจนกระทั่งจักรวรรดิของราชวงศ์ชิงเริ่มตกต่ำและแตกแยกในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19

เมื่ออำนาจของราชสำนักปักกิ่งอ่อนแอลง หัวเมืองขึ้นรอบนอกส่วนมากจึงแยกตนเองเป็นอิสระ (เช่น คัชการ์) หรือตกอยู่ในความความคุมของชาติมหาอำนาจลัทธิจักรวรรดินิยม ตลอดช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 นั้น จักรวรรดิรัสเซียนับเป็นชาติที่มีผลประโยชน์มากที่สุดที่ในดินแดนภาคเหนือของจักรวรรดิต้าชิง ในปี ค.ศ. 1858 รัสเซียได้รับสิทธิเข้าควบคุมดินแดนขนาดใหญ่ของจีนซึ่งเรียกว่าแมนจูเรียนอก (Outer Manchuria) อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการทำสนธิสัญญาปักกิ่งฉบับเพิ่มเติม ซึ่งทำให้สงครามฝิ่นครั้งที่สองยุติลง แม้กระนั้นรัสเซียก็ยังไม่พอใจต่อสิ่งที่ตนได้รับ และเมื่อประกอบกับสถานการณ์ของราชวงศ์ชิงยังคงเสื่อมถอยอยู่ รัสเซียจึงพยายามต่อไปเพื่อการควบคุมดินแดนแมนจูเรียที่เหลืออยู่ทั้งหมด ดินแดนแมนจูเรียใน (Inner Manchuria) ได้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของรัสเซียอย่างมากในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1890 จากการสร้างทางรถไฟสายจีนตะวันออกระหว่างเมืองฮาร์บินของแมนจูเรียและวลาดิวอสตอกของรัสเซีย

จุดกำเนิด

ดูเพิ่มเติมที่: กรณีมุกเดน
พิธีสารญี่ปุ่น-แมนจูกัว ลงนามวันที่ 15 กันยายน ค.ศ. 1932ราชบัลลังก์ของจักรพรรดิแมนจู, ราว ค.ศ. 1937

ผลโดยตรงจากสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น ระหว่างปี ค.ศ. 1904-1905 ได้ทำให้อิทธิพลของญี่ปุ่นได้เข้ามาสู่แมนจูเรียในแทนที่อิทธิพลของรัสเซีย โดยในปี ค.ศ. 1906 ประเทศญี่ปุ่นได้สร้างทางรถไฟแมนจูเรียสายใต้จากเมืองท่าพอร์ตอาเธอร์ (ญี่ปุ่นเรียกเมืองนี้ว่า "เรียวจุน") ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสงครามโลกครั้งที่สอง แมนจูเรียได้กลายเป็นสมรภูมิระหว่างรัสเซีย, ญี่ปุ่นและจีน ทั้งทางด้านการเมืองและการทหาร ญี่ปุ่นได้ขยายอิทธิพลสู่แมนจูเรียนอก อันเป็นผลสืบเนื่องมาสถานการณ์อันสับสนจากการปฏิวัติในประเทศรัสเซียเมื่อ ค.ศ. 1918 ความสำเร็จทางการทหารของสหภาพโซเวียตและความกดดันทางเศรษฐกิจจากสหรัฐอเมริกาได้บีบบังคับให้ญี่ปุ่นต้องถอยร่นจากพื้นที่ดังกล่าว และแมนจูเรียนอกก็ได้กลับมาอยู่ในความปกครองรัสเซียอีกครั้งในนามสหภาพโซเวียต​​ในปี ค.ศ. 1925

ด้านประเทศจีนซึ่งอยู่ในยุคแห่งความแตกแยกจากการตั้งตัวเป็นใหญ่ของกลุ่มขุนศึกต่างๆ ขุนศึกจาง โซ่วหลิน (Zhang Zuolin) ได้สถาปนาอำนาจการปกครองของตนเองในเขตแมนจูเรียในขึ้นภายใต้การสนับสนุนของญี่ปุ่น ต่อมาเมื่อกองทัพคันโตตระหนักว่าจาง โซ่วหลิน มีอิสระมากเกินไป จึงได้ทำการลอบสังหารเขาเสียเมื่อ ค.ศ. 1928

หลังจากการรุกรานแมนจูเรียของญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1931 กองทัพญี่ปุ่นได้มุ่งหน้าสู่การแบ่งแยกภูมิภาคแมนจูเรียออกจากการควบคุมจีนและสร้างรัฐหุ่นเชิดภายใต้การควบคุมของญี่ปุ่นขึ้น และเพื่อสร้างบรรยากาศแห่งความชอบธรรมขึ้น อ้ายซินเจว๋หลัว ผู่อี๋ จักรพรรดิของจีนองค์สุดท้ายจึงได้รับเชิญจากญี่ปุ่นพร้อมกับอ้ายซินเจว๋หลัว ผู่เจี๋ยพระอนุชาและบรรดาผู้ติดตาม เพื่อเข้าดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐแมนจูเรียที่จัดตั้งขึ้นใหม่ หนึ่งในผู้ติดตามผู้ซื่อสัตย์ของเขาคือ เจิ้ง เซี่ยวซือ นักปฏิรูปและผู้จงรักภักดีต่อราชวงศ์ชิง[2]

อ้ายซินเจว๋หลัว ผู่อี๋ ในฐานะจักรพรรดิคังเต๋อแห่งแมนจู

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1932 ได้มีการประกาศสถาปนา "ประเทศแมนจู" (จีน: 滿洲國; พินอิน: Mǎnzhōuguó) [3] ญี่ปุ่นได้ให้การรับรองประเทศแมนจูผ่านการลงนามในพิธีสารญี่ปุ่น-แมนจูกัว เมื่อวันที่ 15 กันยายน ค.ศ. 1932 เมืองฉางชุนซึ่งได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "ซิงกิง" (จีน: 新京; พินอิน: Xinjing; "เมืองหลวงใหม่") มีฐานะเป็นเมืองหลวงของรัฐใหม่แห่งนี้ ชาวฮั่นในแมนจูเรียได้รวมตัวกันเป็นกองทัพอาสาสมัครเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น ทำให้รัฐใหม่ดังกล่าวจำเป็นต้องทำสงครามอันยื้ดเยื้ออีกหลายปีเพื่อสร้างความสงบภายในประเทศ

ในขั้นต่อมา ญี่ปุ่นได้ดำเนินการแต่งตั้งให้ผู่อี๋เป็นประมุขแห่งรัฐเป็นในปี ค.ศ. 1932 และอีกสองปีให้หลังจึงได้มีการสถาปนาให้เขาดำรงตำแหน่งจักรพรรดิแมนจู โดยใช้ชื่อศักราชประจำรัชกาลตามแบบจีนว่า "คังเต๋อ" (หมายถึง "ความสงบและคุณธรรม") ประเทศแมนจูจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น "จักรวรรดิแมนจู" (จีน: 滿洲帝國; พินอิน: Mǎnzhōu Dìguó; เวด-ไจลส์: Manchutikuo) หรือในชื่อเต็ม "จักรวรรดิแมนจูเรียอันยิ่งใหญ่" (จีน: 大滿洲帝國; พินอิน: Dà Mǎnzhōu Dìguó) เจิ้ง เซี่ยวซือได้ดำรงตำแหน่งเป็นเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของแมนจูจนถึง ค.ศ. 1935 โดยมีจาง จิงหุยขึ้นดำรงตำแหน่งแทน สำหรับจักรพรรดิผู่อี๋นั้น พระองค์มีฐานะดุจเดียวกับเจว็ด เพราะอำนาจการปกครองประเทศที่แท้จริงนั้นล้วนอยู่ในกำมือของทหารญี่ปุ่นทั้งสิ้น พระราชวังได้ถูกสร้างขึ้นเป็นการเฉพาะสำหรับควบคุมจักรพรรดิ รัฐมนตรีแมนจูทั้งหมดรับบทเป็นเพียงร่างทรงของรองรัฐมนตรีที่เป็นชาวญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผู้ตัดสินใจในทุกเรื่องอย่างแท้จริง

ในลักษณะดังกล่าวนี้ ญี่ปุ่นจึงสามารถตัดประเทศแมนจูออกจากจีนอย่างเป็นทางการในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1930 และด้วยการลงทุนของญี่ปุ่นและทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ พื้นที่ดังกล่าวจึงกลายเป็นฐานการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญยิ่ง

ในปี ค.ศ. 1935 แมนจูได้ซื้อทางรถไฟสายจีนตะวันออกจากสหภาพโซเวียต

แหล่งที่มา

WikiPedia: ประเทศแมนจู http://concise.britannica.com/ebc/article-9371137/... http://naguraka.fc2web.com/museum/japan/manshu/ http://www.grolier.com/wwii/wwii_2.html http://orbat.com/site/history/historical/japan/man... http://ww2db.com/photo.php?list=search&sp=&startRo... http://ww2db.com/photo.php?source=all&color=all&li... http://www.marxists.de/middleast/brenner/ch19.htm http://history.sandiego.edu/GEN/WW2tIMELINE/Prelud... http://www.nationalanthems.info/mch.htm http://www.30giorni.it/sp/articolo.asp?id=9621