ประเด็นทางปรัชญา ของ ปรัชญา

นักปรัชญาสนใจในเรื่องของ การมีอยู่ (Existence) หรือการเป็นอยู่ คุณธรรม ความรู้ ความจริง และความงามนักปรัชญา ตั้งคำถามกับแนวคิดเหล่านี้ --- ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่นอกขอบเขตของการศึกษาของวิทยาศาสตร์ในอดีต

เรื่องที่อยู่ในขอบเขตการศึกษาของปรัชญา มีจำนวนมาก อาทิเช่น

  • ความคิดที่ถูกต้อง เป็นอย่างไร?

เราจะตรวจสอบว่า ความคิดใดถูกต้องหรือไม่ ได้อย่างไร? ธรรมชาติของความคิดและการคิดเป็นอย่างไร?

  • ความคิด ที่ถูกต้องนั้นเป็นสิ่งสัมบูรณ์หรือว่าเป็นสิ่งสัมพัทธ์?
  • ธรรมชาติของความรู้เป็นอย่างไร?
  • ความรู้เกิดจากเหตุปัจจัยใดบ้าง และอะไรคือกระบวนการที่ทำให้ได้มาซึ่งความรู้?
  • การกระทำ ควรจะมีเป้าหมายขั้นสุดท้ายอยู่ที่อะไร?
  • มีความแตกต่างระหว่างสิ่งที่ดีกับสิ่งที่ชั่วหรือไม่? อะไรคือเกณฑ์ในการแบ่งแยกระหว่างสิ่งที่ดีและสิ่งที่ชั่ว?
  • ความจริงคืออะไร? อะไรคือสิ่งที่เรามีอยู่? ในจักรวาลนี้มีพระเจ้าหรือไม่?
  • ธรรมชาติพื้นฐานของสรรพสิ่งคืออะไร?
  • สรรพสิ่ง ที่มีอยู่ได้ด้วยตัวของมันเองและอยู่นอกเหนือการรับรู้ของเราหรือไม่?
  • ธรรมชาติ ของสถานที่และเวลาเป็นอย่างไร?
  • คนเรา เกิดมาทำไม? การมีสติรู้ คืออะไร?
  • ความงามเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับผู้ที่รับรู้หรือไม่? หรือว่าความงามเป็นสิ่งสากลที่เป็นจริงในตัวเองแม้จะไม่ถูกรับรู้?
  • องค์ประกอบของความงามคืออะไร? อะไรคือศิลปะ?

เหล่านี้ เป็นต้น

ในปรัชญากรีกโบราณ กลุ่มของคำถามเหล่านี้จะถูกพิจารณาถึงในสาขาแยกย่อยของปรัชญา คือ การวิเคราะห์ หรือตรรกศาสตร์, ญาณวิทยา จริยศาสตร์ อภิปรัชญา และสุนทรียศาสตร์ โดยที่จริยศาสตร์กับสุนทรียศาสตร์ถูกรวมเรียกว่าอรรฆวิทยา/คุณวิทยา (Axiology) อย่างไรก็ตามปรัชญามิได้สนใจเฉพาะเรื่องเหล่านี้เท่านั้น อริสโตเติลผู้ริเริ่มการแบ่งสาขาในลักษณะนี้ยังคงจัดให้การเมือง ฟิสิกส์สมัยใหม่ ธรณีวิทยา ชีววิทยา อุตุนิยมวิทยา และดาราศาสตร์เป็นสาขาหนึ่งของการศึกษาทางปรัชญาด้วยเช่นกัน แวดวงปรัชญากรีกได้พัฒนากระแสการคิดแบบวิเคราะห์ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากโสกราตีสและวิธีการของเขา ซึ่งเสนอให้แบ่งปัญหาที่สนใจออกเป็นส่วน ๆ เพื่อทำให้เข้าใจปัญหาได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตามปรัชญาแนวอื่น เช่นในปรัชญาตะวันออก อาจไม่จำเป็นต้องใช้การแบ่งสาขาย่อยในลักษณะที่กล่าวมา หรือว่าสนใจในเรื่องเดียวกัน