ประวัติศาสตร์ ของ ปรัสเซีย

เดิมทีปรัสเซียเป็นรัฐบริวารของโปแลนด์ ก่อนที่ในปี 1651 ปรัสเซียจำยอมต้องโอนอ่อนหันไปอยู่กับจักรวรรดิสวีเดน แต่หลังจากนั้นไม่กี่ปีก็เกิดสงครามเหนือครั้งที่สองขึ้น ปรัสเซียฉวยโอกาสต่อรองกับสวีเดน ว่าจะยอมช่วยสวีเดนทำศึกแลกกับการให้เอกราชแก่ปรัสเซีย หลังปรัสเซียได้รับเอกราชแล้วก็เริ่มผงาดตนเองขึ้นมาจนสามารถสถาปนาเป็นราชอาณาจักรในปี 1701[2][3][4][5] และมีอิทธิพลสูงที่สุดในศตวรรษที่ 18 ถึง 19 ปรัสเซียรุ่งเรืองอย่างก้าวกระโดดและกลายเป็นมหาอำนาจในสมัยพระเจ้าฟรีดริชที่ 2 มหาราช โดยขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีกองทัพบกที่ทรงแสนยานุภาพมากที่สุดในโลก และยิ่งเรืองอำนาจขึ้นอีกในสมัยมุขมนตรี ออทโท ฟอน บิสมาร์ค ชัยชนะของปรัสเซียในสงครามสามครั้งได้แก่ สงครามชเลสวิชครั้งที่สองกับเดนมาร์กในปี 1864, สงครามออสเตรีย-ปรัสเซียในปี 1866 และสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซียในปี 1870–71 ทำให้บิสมาร์คสามารถรวมรัฐเยอรมันเล็กน้อยต่างๆเข้าด้วยกันเป็นสมาพันธรัฐเยอรมันเหนือ โดยกีดจักรวรรดิออสเตรีย (ซึ่งถือเป็นรัฐเยอรมันเช่นกัน) ออกไป

ในปีค.ศ. 1871 บรรดารัฐเยอรมันทั้งหลายได้ถูกผนวกเข้าด้วยกันเป็นจักรวรรดิเยอรมันภายใต้การนำของปรัสเซีย อย่างไรก็ตาม การพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งทำให้บ้านเมืองเกิดกลียุค จนเกิดการปฏิวัติเยอรมันขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 1918 ซึ่งได้ทำให้ระบอบจักรพรรดิได้ล่มสลายลงและขุนนางทั้งหลายต่างก็สูญสิ้นอิทธิพลทางการเมือง ราชอาณาจักรปรัสเซียจึงถูกยุบและมีการจัดตั้งเสรีรัฐปรัสเซียซึ่งปกครองด้วยระบอบสาธารณรัฐขึ้น ตั้งแต่นั้นมาปรัสเซียก็มีสถานะเป็นรัฐอิสระในประเทศเยอรมนีจนกระทั่งในปี 1933 เมื่อพรรคนาซีขึ้นเถลิงอำนาจ รัฐบาลนาซีได้ใช้กฎหมาย ไกลช์ชัลทุง (Gleichschaltung) เพื่อจัดตั้งการปกครองแบบรัฐเดี่ยว โดยรวบอำนาจการปกครองทั้งหมดในเยอรมนีไว้ที่รัฐบาลนาซีในกรุงเบอร์ลิน เมื่อระบอบนาซีล่มสลายลงในปี 1945 เยอรมนีถูกแบ่งออกเป็นโซนต่างๆซึ่งอยู่ในบังคับของกองทัพฝ่ายสัมพันธมิตร และมีการแบ่งเยอรมนีออกเป็นตะวันออกและตะวันตก ซึ่งถือเป็นจุดจบทางพฤตินัยของปรัสเซีย แต่ในทางนิตินัย ปรัสเซียยังคงดำรงอยู่จนถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 1947 อันเป็นวันที่มีข้อบัญญัติสภาบังคับแห่งสัมพันธมิตรที่ 46 ซึ่งได้ยุบปรัสเซียอย่างเป็นทางการ[6]

ราชอาณาจักรปรัสเซียสิ้นสุดลงในปี 1918 พร้อมๆกับบรรดาราชวงศ์ต่างๆในรัฐต่างๆของเยอรมันจากผลของการปฏิวัติในประเทศภายหลังจากที่เยอรมันพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง หลังจากนั้น ในสมัยสาธารณรัฐไวมาร์ ปรัสเซียมีสถานะเป็นเสรีรัฐปรัสเซียโดยยังมีอำนาจในการปกครองและออกกฎหมายเอง ปรัสเซียสูญเสียอำนาจทางการเมืองและนิติบัญญัติของตัวเองแทบทั้งหมดเมื่อมีการรัฐประหารปี 1932 ที่นำโดยฟรันซ์ ฟอน พาเพิน ต่อมาในปี 1935 รัฐบาลนาซีได้ยุบรัฐเล็กน้อยต่างๆทั้งหมดในเยอรมนีและจัดตั้งระบบเขตปกครองที่เรียกว่า เกา (Gau เทียบเท่าจังหวัด) ขึ้นมา อย่างไรก็ตาม ยังมีการคงตำแหน่งในคณะมนตรีปรัสเซียบางตำแหน่งไว้ และแฮร์มันน์ เกอริง ยังคงเป็นมุขมนตรีปรัสเซียไปจนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง