บทบาททางการเมืองหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ของ ปรีดี_พนมยงค์

รัฐบุรุษอาวุโส

ด้วยคุณูปการที่เป็นผู้นำในการกอบกู้บ้านเมืองในยามคับขัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ยกย่องปรีดี พนมยงค์ ไว้ในฐานะ "รัฐบุรุษอาวุโส" ซึ่งถือได้ว่าเป็นตำแหน่งทางการเมืองอันทรงเกียรติสูงสุด ดังที่ปรากฏในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2488 ความว่า

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่ทรงพระราชดำริเห็นว่า นายปรีดี พนมยงค์ ได้เคยรับหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินในตำแหน่งสำคัญ ๆ มาแล้วหลายตำแหน่ง จนในที่สุดได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรให้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และปรากฏว่า ตลอดเวลาที่ นายปรีดี พนมยงค์ ดำรงตำแหน่งเหล่านี้ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและด้วยความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ ทั้งได้แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ในความปรีชาสามารถ บำเพ็ญคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติเป็นเอนกประการ

จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมยกย่อง นายปรีดี พนมยงค์ ไว้ในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส และให้มีหน้าที่รับปรึกษากิจราชการแผ่นดิน เพื่อความวัฒนาถาวรของชาติสืบไปทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป[13]

ในโอกาสนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ ซึ่งเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดที่สามัญชนพึงได้รับพระราชทาน[115][116] แก่รัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2488[117]

ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ปรีดี พนมยงค์ ได้รับเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี[6] เขาได้ใช้ความรู้ความสามารถเจรจาต่อรองกับฝ่ายสัมพันธมิตรในปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงกับอังกฤษ เรื่องสัญญาสมบูรณ์แบบ และการเจรจาให้รัฐบาลสหรัฐยกเลิกคำสั่งเพิกถอนเงินซึ่งได้ถูกกักกันไว้ในสหรัฐ ให้ประเทศไทยสามารถแก้ไขสถานะผู้แพ้สงครามได้สำเร็จอย่างละมุนละม่อม สามารถเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติลำดับที่ 55[118]

วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคต รัฐบาลปรีดีที่เพิ่งชนะเลือกตั้งหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 จึงขอความเห็นชอบต่อรัฐสภาให้อัญเชิญพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นครองราชย์สืบสันตติวงศ์ต่อไป[119][120] เมื่อสภามีมติเห็นชอบแล้ว ปรีดีก็ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ทั้งที่เพิ่งได้รับโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2489[121] แต่สภาผู้แทนราษฎรก็สนับสนุนให้ปรีดีดำรงตำแหน่งตามเดิม[122][123]

กรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้ทำให้ศัตรูทางการเมืองของปรีดี ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มทหารสาย จอมพล ป. พิบูลสงครามที่สูญเสียอำนาจหลังสงครามโลกครั้งที่สอง พรรคการเมืองฝ่ายค้านนำโดย พรรคประชาธิปัตย์[124] และกลุ่มอำนาจเก่า[125] ฉวยโอกาสนำมาใช้ทำลายปรีดีทางการเมือง โดยการกระจายข่าวไปตามหนังสือพิมพ์ ร้านกาแฟ และสถานที่ต่าง ๆ รวมทั้งส่งคนไปตะโกนในศาลาเฉลิมกรุงว่า "ปรีดีฆ่าในหลวง"[14][126] และนำไปสู่การลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเขาในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2489 โดยหลังจากนั้น หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มปรีดี ให้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน[127]

ต้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2489 ภายหลังจากที่ปรีดีลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ก็ได้รับเชิญจากรัฐบาลหลายประเทศให้ไปเยือนประเทศเหล่านั้น รัฐบาลไทยจึงมอบหมายให้เขาเป็นหัวหน้าคณะทูตสันถวไมตรีเดินทางรอบโลกเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีและพบปะกับผู้นำนานาประเทศ โดยได้ไปเยือนประเทศจีนเป็นแห่งแรก จากนั้นก็ไปฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน และนอร์เวย์ รวมทั้งสิ้นเก้าประเทศ และกลับมาถึงกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 รวมเวลาที่ออกไปปฏิบัติภารกิจในต่างประเทศ 3 เดือนเต็ม[128][129]

ลี้ภัยรัฐประหาร

ต่อมาในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 คณะรัฐประหาร ประกอบด้วย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ พ.อ.กาจ กาจสงคราม พ.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ พ.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ พ.อ.ถนอม กิตติขจร พ.ท.ประภาส จารุเสถียร และ ร.อ.สมบูรณ์ (ชาติชาย) ชุณหะวัณ ได้ยึดอำนาจการปกครองประเทศ จากรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ด้วยสาเหตุที่รัฐบาลไม่สามารถคลี่คลายคดีสวรรคตลงได้ ประกอบกับการลดบทบาทของกองทัพ และปัญหาทางเศรษฐกิจ[18] หลังจากยึดอำนาจสำเร็จ คณะรัฐประหารได้นำกำลังทหารพร้อมรถถังบุกยิงทำเนียบท่าช้างวังหน้าซึ่งปรีดีและครอบครัวอาศัยอยู่ แล้วพยายามจะจับกุมตัวปรีดี แต่เขาก็หลบหนีไปได้ภายใต้การอารักขาของทหารเรือและได้อาศัยฐานทัพเรือสัตหีบเป็นที่หลบภัยอยู่ชั่วระยะหนึ่ง เมื่อพิจารณาเห็นว่ายังไม่พร้อมที่จะต่อต้านคณะรัฐประหาร จึงได้ลี้ภัยการเมืองไปยังประเทศสิงคโปร์ จนถึงปลายเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2491 จึงออกเดินทางต่อไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน[130]

ต่อมา ใน พ.ศ. 2492 ปรีดี พนมยงค์ กลับมาประเทศไทยเพื่อยึดอำนาจคืนจากรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในเหตุการณ์ "ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์" เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492 แต่กระทำไม่สำเร็จ (เรียกกันว่า "กบฏวังหลวง")[131] ทำให้ปรีดี พนมยงค์ ต้องเดินทางออกจากประเทศไทยไปพำนักยังประเทศสิงคโปร์เพื่อจะไปสู่สหรัฐอเมริกา แต่ด้วยเหตุที่มีปัญหาเกี่ยวกับหนังสือเดินทาง ทำให้ปรีดีต้องเดินทางไปยังประเทศจีนซึ่งขณะนั้นยังอยู่ภายใต้รัฐบาลก๊กมินตั๋งแทน ต่อมา พ.ศ. 2513 จึงได้เดินทางต่อไปยังกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และได้พำนักอยู่ที่นั่นตลอดมาจนเสียชีวิต[132]

ใกล้เคียง

ปรีดี พนมยงค์ ปรีดี เกษมทรัพย์ ปรีดี ดาวฉาย ปรีดี (เทวีในศาสนาฮินดู) วันปรีดี พนมยงค์ ปรีดา กรรณสูต ปรีดา พัฒนถาบุตร ปรีดา วิบูลย์สวัสดิ์ ปรีดา เปี่ยมวารี ปรีดา ทัศนประดิษฐ

แหล่งที่มา

WikiPedia: ปรีดี_พนมยงค์ http://202.143.176.132/ict/dw57/5121/Predeepanomyo... http://www.baanjomyut.com/library/2548/thaiwriters... http://downmerngnews.blogspot.com/2009/02/blog-pos... http://socialitywisdom.blogspot.com/2007/05/blog-p... http://www-cgi.cnn.com/ASIANOW/asiaweek/aoc http://www.prachatai.com/journal/2009/06/24781 http://www.prachatai.com/journal/2009/08/25472 http://www.pridiinstitute.com/autopage/show_page.p... http://www.sakulthai.com/DSakulcolumndetail.asp?st... http://www.sarakadee.com/feature/2000/04/100y_prid...