ลานรับสัญญาณ ของ ปลายประสาทเมอร์เกิล

ลานรับสัญญาณของตัวรับแรงกล ก็คือบริเวณพื้นที่ที่เซลล์ประสาทตอบสนองต่อสิ่งเร้าโดยคร่าว ๆ แล้ว ถ้ามีการสัมผัสผิวหนังสองที่ภายในลานรับสัญญาณเดียวกัน บุคคลนั้นจะไม่สามารถจำแนกจุดสองจุดจากการสัมผัสที่จุดเดียวได้ (เป็นการทดสอบที่เรียกว่า Two-point discrimination)และถ้ามีการสัมผัสภายในลานสัญญาณที่ต่างกัน บุคคลนั้นก็จะจำแนกได้ดังนั้น ขนาดลานรับสัญญาณของตัวรับแรงกล จึงเป็นตัวกำหนดการจำแนกสิ่งเร้าที่ละเอียดได้ยิ่งมีลานสัญญาณเล็กเท่าไรมีกลุ่มลานรับสัญญาณที่อยู่ใกล้ ๆ กันเท่าไร ก็จะสามารถจำแนกละเอียดยิ่งขึ้นเท่านั้น[16]เพราะเหตุนี้ ปลายประสาทเมอร์เกิลและ Meissner's corpuscle จึงรวมกลุ่มอยู่อย่างหนาแน่นที่ปลายนิ้วมือซึ่งไวความรู้สึก แต่หนาแน่นน้อยกว่าที่ฝ่ามือและหน้าแขนที่ไวสัมผัสน้อยกว่า[ต้องการอ้างอิง]

เซลล์ประสาทที่มีปลายประสาทเมอร์เกิลมีลานรับสัญญาณเล็ก (11 มม2 ที่ปลายนิ้ว[17]) ซึ่งเล็กสุดในบรรดาตัวรับแรงกลที่ผิวหนังเกลี้ยง 4 อย่าง และช่วยให้สามารถจำแนกสัมผัสที่อยู่ใกล้ ๆ กันได้ โดยสามารถจำแนกลายตะแกรงแนวตั้งหรือแนวขวางที่สันห่างกันเพียง 0.5-1.0 มม. (spatial acuity)[18][19]

กลไกรับความรู้สึก

ปลายประสาทรับแรงกลในระบบรับความรู้สึกทางกาย จะมีลักษณะทางกายวิภาคโดยเฉพาะ ๆ ที่เหมาะกับสิ่งเร้า และโดยทั่วไปอาจเป็นแบบที่หุ้มปลอก/แคปซูล (เช่น Merkel ending) อันเป็นเนื้อเยื่อนอกเซลล์ประสาท หรืออาจเป็นปลายประสาทอิสระเมื่อเนื้อเยื่อรอบ ๆ ปลายประสาทแปรรูปเพราะสิ่งเร้าที่เหมาะสม (เช่นปลายแหลมสำหรับปลายประสาทเมอร์เกิล) โปรตีนที่ผิวของเซลล์ประสาทก็จะแปรรูปด้วย ทำให้ไอออน Na+ และ Ca2+ ไหลเข้าผ่านช่องไอออนของเซลล์เป็นกระแสไฟฟ้าที่เรียกว่าศักย์ตัวรับความรู้สึก (receptor potential) ซึ่งถ้าถึงขีดเริ่มเปลี่ยนก็จะทำให้เซลล์สร้างศักยะงานส่งไปยังระบบประสาทกลาง โดยเริ่มต้นส่งไปที่ไขสันหลังหรือก้านสมอง[20][21]ตัวรับความรู้สึกแต่ละประเภท ๆ จากตำแหน่งโดยเฉพาะ ๆ จะมีใยประสาทเป็นของตนเองจนถึงไขสันหลังตลอดไปจนถึงสมอง[22]ความเฉพาะเจาะจงเช่นนี้ทำให้ระบบประสาทกลางจำแนกได้ว่า เป็นความรู้สึกประเภทไรและมาจากส่วนไหนของร่างกาย

ใกล้เคียง

ปลายประสาทรับร้อน ปลายประสาทเมอร์เกิล ปลายประสาทอิสระ ปลายประสาทรับรู้อากัปกิริยา ปลายประสาทรับแรงกล ปลายประสาทพาชีนี ปลายประสาทรับความรู้สึก ปลายประสาทรัฟฟินี ปลายประสาทรับการยืด ปลายี่สก