จุดกำเนิด ของ ฝ่ายอักษะ

ดูบทความหลักที่: กติกาสัญญาไตรภาคี
โยอาคิม ฟ็อน ริบเบินทร็อพ แห่งเยอรมนี, กาลีอาซโซ ซิอาโน แห่งอิตาลี และ ซาบูโร คูรูซุ แห่งญี่ปุ่น ในกติกาสัญญาไตรภาคี ค.ศ. 1940

คำว่า "อักษะ" (Axis) เชื่อกันว่าเป็นคำสร้างของนายกรัฐมนตรีฟาสซิสต์ฮังการี กยูลา เกิมเบิส ผู้ให้การสนับสนุนการลงนามเป็นพันธมิตรระหว่างเยอรมนี ฮังการีและอิตาลี ซึ่งตนเป็นตัวกลางเชื่อมความแตกต่างระหว่างเยอรมนีและอิตาลีเพื่อให้บรรลุข้อตกลงความเป็นพันธมิตรระหว่างกัน การถึงแก่อสัญกรรมอย่างกะทันหันของเกิมเบิสในปี ค.ศ. 1936 เป็นการยุติการเจรจาระหว่างฮังการีกับเยอรมนี และความพยายามสร้างอักษะสามฝ่ายของฮิตเลอร์ แต่ก่อนหน้านั้น การตกลงระหว่างเยอรมนีและอิตาลีได้นำไปสู่การตั้งอักษะสองฝ่ายเรียบร้อยแล้ว[ต้องการอ้างอิง]

ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1936 ผู้นำอิตาลี เบนิโต มุสโสลินี ใช้คำว่า "อักษะ" เป็นคนแรก[ต้องการอ้างอิง] เมื่อเขากล่าวถึงแกนโรม-เบอร์ลิน ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 1936 มุสโสลินีประกาศว่า ความเป็นแกนกลางของทั้งสองประเทศจะทำให้ประเทศอื่นต้องโคจรรอบ อิตาลีร่างสนธิสัญญาดังกล่าวก่อน ในตอนแรก เยอรมนีปฏิเสธที่จะลงนาม และถูกสันนิบาติชาติต่อต้านเพราะการทำสงครามในเอธิโอเปีย และได้รับการสนับสนุนจากเยอรมนี ต่อมา เมื่อถึงเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1939 ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้นระหว่างอิตาลีและเยอรมนีนำไปสู่การลงนามความเป็นพันธมิตร ซึ่งมุสโสลินีเรียกสนธิสัญญาดังกล่าวว่า "สนธิสัญญาเหล็ก"

ส่วนการรวมตัวกันเป็น "ฝ่ายอักษะ" อย่างเป็นทางการได้ชื่อหลังการลงนามสนธิสัญญาไตรภาคีระหว่างเยอรมนี อิตาลีและญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 27 กันยายน ค.ศ. 1940 ในกรุงเบอร์ลิน ซึ่งต่อมามีประเทศเข้าร่วมอีก โดยประเทศที่ทรงอำนาจทางทหารมากที่สุด ได้แก่ เยอรมนีและญี่ปุ่น โดยก่อนหน้าการลงนามสนธิสัญญาไตรภาคี เยอรมนีและญี่ปุ่นเป็นพันธมิตรกันหลังร่วมลงนามสนธิสัญญาต่อต้านองค์การคอมมิวนิสต์สากล