พระบรมราชานุสาวรีย์ ของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล_พระอัฐมรามาธิบดินทร

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลได้ทรงปฏิบัติพระราชกิจสำคัญน้อยใหญ่เป็นจำนวนมาก ดังนั้น จึงมีการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ขึ้น เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ เช่น

พระบรมราชานุสาวรีย์ ณ วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหารพระบรมราชานุสาวรีย์ ณ โรงเรียนเทพศิรินทร์สะพานพระราม 8พระบรมราชานุสาวรีย์ ณ วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร

วัดสุทัศนเทพวรารามถือเป็นวัดประจำรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เนื่องจากเป็นสถานที่ที่ประดิษฐานพระบรมราชสรีรางคารของพระองค์ ดังนั้น จึงมีการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ขึ้น ณ บริเวณลานประทักษิณ ชั้นล่างมุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือ พระวิหารหลวง พระบรมรูปหล่อด้วยสำริด ขนาดเท่าพระองค์จริง ทรงฉลองพระองค์ชุดจอมทัพ ประทับยืน ประดิษฐานบนแท่นหินอ่อนยกพื้นสูง มีแผ่นทองเหลืองจารึกเกี่ยวกับกำหนดการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ เบื้องหลังเป็นแผ่นหินอ่อนวงโค้ง ประดิษฐานพระปรมาภิไธยย่อ "อปร" ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ[26]

พระบรมราชานุสาวรีย์ ณ โรงเรียนเทพศิรินทร์

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร พระองค์ทรงเข้ารับการศึกษา ณ โรงเรียนเทพศิรินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2475 เลขประจำพระองค์ 2329 หลังจากนั้นอีกเพียง 2 ปี พระองค์เจ้าอานันทมหิดลก็ได้เสด็จเถลิงถวัลย์ครองสิริราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์ องค์ที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ทรงมีความผูกพันกับโรงเรียนเทพศิรินทร์มาโดยตลอด มีพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมแก่ โรงเรียนเทพศิรินทร์ สมาคมนักเรียนเก่าฯ ตลอดจนมวลหมู่ลูกแม่รำเพยทุกคน ซึ่ง พระบรมราชานุสาวรีย์ ณ โรงเรียนเทพศิรินทร์ มีขนาดเท่าพระองค์จริง ทรงฉลองพระองค์ชุดจอมทัพ ประทับยืน เช่นเดียวกับ พระบรมราชานุสาวรีย์ ณ วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ซึ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ ด้วยพระองค์เอง

พระบรมราชานุสาวรีย์ ณ โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย

โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนหนึ่งแสนบาท สร้างอาคารเรียน 2 ชั้น 1 หลัง หอประชุม 1 หลังพร้อมบ้านพักครูอีก 20 หลัง และในวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2519 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์เสด็จมาเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 8

พระบรมราชานุสาวรีย์ ณ โรงพยาบาลอานันทมหิดล

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการสร้างโรงพยาบาลในจังหวัดลพบุรี และพระราชทานนามโรงพยาบาลแห่งนี้ว่า โรงพยาบาลอานันทมหิดล[27] หลังจากการสร้างแล้วเสร็จ พระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดโรงพยาบาลแห่งนี้เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2481 ดังนั้น คณะกรรมการโรงพยาบาลจึงได้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ประดิษฐาน ณ หน้าตึกอำนวยการของโรงพยาบาล

พระบรมราชานุสาวรีย์ ณ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลมีพระราชปรารภต่อรัฐบาลในสมัยนั้น เรื่องการผลิตแพทย์เพิ่มให้เพียงพอต่อประชาชน อันเป็นจุดกำเนิดโรงเรียนแพทย์แห่งที่ 2 ของประเทศ ซึ่งปัจจุบัน คือ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ คณะกรรมการบริหารสมาคมศิษย์เก่าแพทย์จุฬาลงกรณ์ ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จึงได้ติดต่อให้ คุณไข่มุกด์ ชูโต เป็นผู้ออกแบบปั้นพระบรมราชานุสาวรีย์ โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์แท่นประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2528 และ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 พระบรมรูปหล่อด้วยส่วนผสมของทองเหลืองและทองแดง มีขนาดหนึ่งเท่าครึ่งของพระองค์จริง ประทับนั่งเหนือพระเก้าอี้ ผินพระพักตร์ไปทางเบื้องขวาเล็กน้อย ประดิษฐาน ณ ลานหน้าอาคาร อานันทมหิดล ภายในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์[28]

พระบรมราชานุสาวรีย์ ณ สวนหลวงพระราม 8

สวนหลวงพระราม 8 เป็นสวนสาธารณะเนื้อที่ประมาณ 35 ไร่ ติดแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณเชิงสะพานพระราม 8 เขตบางพลัด ฝั่งธนบุรี ได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชว่า "สวนหลวงพระราม 8" ณ สวนแห่งนี้ มีพระบรมราชานุสาวรีย์ที่ทางกรุงเทพมหานคร สร้างร่วมกับกรมศิลปากร ความสูงขนาด 3 เท่าของพระองค์จริง คือ ประมาณ 5.4 เมตร พระอิริยาบถทรงยืน ประดิษฐานบนแท่นที่ความสูงระดับเดียวกันกับราวสะพานพระราม 8 เพื่อเป็นสิริมงคลแก่สวนแห่งนี้ด้วย นอกจากนั้น บริเวณอาคารเฉลิมพระเกียรติข้างใต้พระบรมราชานุสาวรีย์ยังจัดให้มีห้องรวบรวมพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจขององค์รัชกาลที่ 8 เพื่อให้ประชาชนที่สนใจพระราชประวัติเข้าไปทรงศึกษาค้นคว้าเรื่องราว[29] พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และสวนหลวงพระราม 8 อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2555[30]

ใกล้เคียง

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

แหล่งที่มา

WikiPedia: พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล_พระอัฐมรามาธิบดินทร http://www.mdcualumni.com/th/kingRama8.php http://www.rakbankerd.com/01_jam/thaiinfor/country... http://www.watsuthat.thai2learn.com/rama8.php http://story.thaimail.com/5may/5_2.html http://www.mdcu.net/opr.htm http://se-ed.net/kingrama8/ http://se-ed.net/kingrama8/logo.html http://bcnnon.ac.th/webnon/Load/2013/01/king22.pdf http://www.chula.ac.th/chula/th/about/king_Ananda_... http://www.dailynews.co.th/politics/118420