พระราชประวัติ ของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล_พระอัฐมรามาธิบดินทร

(ด้านหน้า จากขวามาซ้าย) พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช; สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ทรงฉายระหว่างการเสด็จนิวัตพระนครเมื่อปี พ.ศ. 2481 (ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร)
พระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรี
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร
พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

ขณะทรงพระเยาว์

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เป็นพระโอรสในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 11 ปีฉลู ตรงกับวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 ณ เมืองไฮเดิลแบร์ค สาธารณรัฐไวมาร์ (ปัจจุบันคือประเทศเยอรมนี) ขณะที่สมเด็จพระราชชนกทรงศึกษาการแพทย์ที่ประเทศเยอรมนี โดยได้รับพระราชทานพระนามจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า หม่อมเจ้าอานันทมหิดล มหิดล หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล [3][4] โดยสมเด็จพระราชชนนีทรงออกพระนามเรียกพระองค์เป็นการลำลองว่า นันท [5] พระองค์ทรงมีสมเด็จพระเชษฐภคินี 1 พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และสมเด็จพระอนุชา 1 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

เมื่อทรงพระเยาว์ได้ตามเสด็จสมเด็จพระราชชนกและสมเด็จพระราชชนนีไปยังประเทศต่าง ๆ ทั้งประเทศฝรั่งเศส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และสหรัฐ ซึ่งสมเด็จพระราชชนกทรงเข้าทรงศึกษาวิชาแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สหรัฐอเมริกา ในระหว่างปี พ.ศ. 2469 - 2471 แล้วจึงเสด็จกลับประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อพระชนมายุได้ 3 พรรษา ประทับ ณ วังสระปทุม ในระหว่างนั้นสมเด็จพระราชชนกทรงพระประชวรและสิ้นพระชนม์ ดังนั้น พระองค์จึงอยู่ในความดูแลของสมเด็จพระราชชนนีเพียงพระองค์เดียว [6]

พระองค์ทรงเริ่มการศึกษาชั้นต้นที่โรงเรียนมาแตร์เดอี และเข้าทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ แต่หลังจากเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 นั้น สมเด็จพระราชชนนีได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการที่จะทรงนำพระโอรสและพระธิดาไปประทับที่เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยพระองค์ได้เข้าทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนมีเรมองต์ ต่อมาย้ายไปทรงศึกษาที่โรงเรียน "เอกอลนูแวลเดอลาซืออิสโรมองต์" และทรงศึกษาภาษาไทย ณ ที่ประทับ โดยมีพระอาจารย์ตามเสด็จไปจากกรุงเทพ[7]

การขึ้นทรงราชย์

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์ในฉลองพระองค์เต็มยศ เมื่อเสด็จนิวัตพระนครครั้งที่ 1 พ.ศ. 2481-2482

วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ และมิได้ทรงสมมติเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่งเป็นรัชทายาท ดังนั้น คณะรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรจึงได้อัญเชิญเสด็จพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลที่มีพระชันษาเพียง 9 ปี ซึ่งเป็นเจ้านายเชื้อพระบรมวงศ์พระองค์ที่ 1 ในลำดับพระราชสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 ขึ้นทรงราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล สืบพระราชสันตติวงศ์ต่อไปตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478[8] และได้รับการเฉลิมพระนามใหม่เมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2478 ว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล[9][10]

ในขณะนั้นพระองค์ทรงมีพระชนมพรรษาเพียง 8 พรรษา และยังทรงประทับอยู่ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จึงทำให้ต้องมีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพื่อบริหารราชการแผ่นดินแทนจนกว่าจะทรงบรรลุนิติภาวะ ได้แก่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) [11]

เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2478 พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์สิ้นพระชนม์ สภาผู้แทนราษฎรจึงได้แต่งตั้งให้นายพลเอก เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม อินทรโยธิน) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์[12] และเมื่อเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ถึงแก่อสัญกรรม จึงมีการแต่งตั้งให้นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แทน[13] หลังจากนั้น เมื่อเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม อินทรโยธิน) ถึงแก่อสัญกรรม รวมทั้ง พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง นายปรีดี พนมยงค์ จึงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพียงผู้เดียว[14] จนกระทั่งสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จกลับสู่พระนคร[15]

การเสด็จนิวัตพระนคร

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เสด็จพระราชดำเนินตรวจแถวกองทหารฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ 2 พร้อมกับหลุยส์ เมานต์แบ็ตเทน เอิร์ลเมานต์แบ็ตเทนแห่งพม่า เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2489

รัฐบาลได้กราบบังคมทูลอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จนิวัตพระนคร เมื่อปลายปี พ.ศ. 2477 เพื่อประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แต่เนื่องจากพระพลานามัยของพระองค์ไม่สมบูรณ์แข็งแรงจึงได้เลื่อนกำหนดออกไปก่อน และได้กราบบังคมทูลอัญเชิญเสด็จฯ อีกครั้งในปี พ.ศ. 2478 แต่ก็ทรงติดขัดเรื่องพระพลานามัยอีกเช่นกัน หลังจากนั้น รัฐบาลได้ส่งพลโท พระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (หม่อมราชวงศ์สิทธิ์ สุทัศน์) ไปเข้าเฝ้าสมเด็จพระราชชนนีที่โลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อทูลอัญเชิญสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จนิวัตพระนครอีกครั้งในปี พ.ศ. 2479 อย่างไรก็ตาม ในระหว่างเตรียมการเสด็จนิวัตพระนครนั้น ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ คณะรัฐบาลใหม่จึงขอเลื่อนการรับเสด็จออกไปอย่างไม่มีกำหนด[16]

หลังจากนั้น รัฐบาลได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จนิวัตพระนครอีกครั้ง ในครั้งนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พร้อมด้วย สมเด็จพระราชชนนี, สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินจากเมืองโลซานที่ประทับโดยทางรถไฟมายังเมืองมาเชลล์ เพื่อประทับเรือเมโอเนีย ในการเสด็จพระราชดำเนินกลับสู่ประเทศไทย และเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 เรือพระที่นั่งได้เทียบจอดทอดสมอที่เกาะสีชัง รัฐบาลได้จัดเรือหลวงศรีอยุธยาออกไปรับเสด็จมายังจังหวัดสมุทรปราการ ณ ที่นั้น สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ได้เสด็จไปคอยรับพระราชนัดดาและพระสุนิสาด้วย หลังจากนั้น จึงได้เสด็จโดยเรือหลวงศรีอยุธยาเข้าสู่กรุงเทพมหานคร และทรง

ประทับที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ซึ่งนับเป็นการเสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นครั้งแรกหลังจากเสด็จขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ ทรงใช้เวลาอยู่ในประเทศไทยเป็นระยะเวลาประมาณ 2 เดือน จึงได้เสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์[16]

เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองสงบลง พระองค์จึงเสด็จนิวัตพระนครอีกครั้ง พร้อมด้วยสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช แต่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา มิได้ตามเสด็จด้วย เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2488 ซึ่งการเสด็จนิวัตประเทศในครั้งนี้ ทางราชการได้จัดพระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวังเป็นที่ประทับ และเนื่องจากพระองค์ทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว จึงสามารถบริหารราชการแผ่นดินได้โดยไม่ต้องมีผู้สำเร็จราชการแผ่นดินอีก[15]

สวรรคต

พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงตั้งพระทัยจะทรงศึกษาปริญญาเอก สาขานิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์จนเรียบร้อยแล้วจึงจะเสด็จนิวัตพระนครเป็นการถาวรและจะทรงรับการบรมราชาภิเษกในภายหลัง แต่พระองค์ได้เสด็จสวรรคตเสียก่อนด้วยพระแสงปืนในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 เวลาประมาณ 9 นาฬิกา ณ ห้องพระบรรทม พระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง ก่อนกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพียง 4 วัน ในชั้นต้นทางราชการได้มีการแถลงข่าวสาเหตุการสวรรคตว่าเป็นอุบัติเหตุจากพระแสงปืนลั่น[17] แต่การสอบสวนในภายหลังกลับพบสาเหตุว่าเป็นการลอบปลงพระชนม์[18]

หลังจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคต ได้อัญเชิญพระบรมศพมาประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง และจัดให้มีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในระหว่างวันที่ 28 - 29 มีนาคม พ.ศ. 2493 ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง วันรุ่งขึ้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินเก็บพระบรมอัฐิ และอัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิประดิษฐานที่บุษบกเหนือพระแท่นแว่นฟ้าทองภายในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มุขตะวันตก และจัดให้มีการพระราชกุศลพระบรมอัฐิขึ้น หลังจากนั้น ได้อัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิขึ้นประดิษฐาน ณ พระวิมานทองกลาง ชั้นบนสุดของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท[19]

วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2493 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินอัญเชิญพระผอบพระบรมราชสรีรางคารพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ไปยังวัดสุทัศน์เทพวราราม และอัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารบรรจุลงในหีบ พร้อมทั้งเคลื่อนหีบพระบรมราชสรีรางคารเข้าสู่พระพุทธบัลลังก์ พระศรีศากยมุนี พระประธานในพระวิหารหลวง วัดสุทัศน์เทพวราราม[20]

ใกล้เคียง

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

แหล่งที่มา

WikiPedia: พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล_พระอัฐมรามาธิบดินทร http://www.mdcualumni.com/th/kingRama8.php http://www.rakbankerd.com/01_jam/thaiinfor/country... http://www.watsuthat.thai2learn.com/rama8.php http://story.thaimail.com/5may/5_2.html http://www.mdcu.net/opr.htm http://se-ed.net/kingrama8/ http://se-ed.net/kingrama8/logo.html http://bcnnon.ac.th/webnon/Load/2013/01/king22.pdf http://www.chula.ac.th/chula/th/about/king_Ananda_... http://www.dailynews.co.th/politics/118420