พระราชกรณียกิจ ของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล_พระอัฐมรามาธิบดินทร

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เสด็จเยี่ยมชาวไทยเชื้อสายจีนเป็นครั้งแรก ณ สำเพ็ง พระนคร เมื่อ พ.ศ. 2489

การปกครอง

พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินไปในพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 และเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2489 นอกจากนี้ ยังเสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรในจังหวัดต่าง ๆ และทรงเยี่ยมชาวไทยเชื้อสายจีนเป็นครั้งแรก ณ สำเพ็ง พระนคร พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดความขัดแย้งกันระหว่างชาวไทยและชาวไทยเชื้อสายจีนจนเกือบเกิดสงครามกลางเมือง เมื่อพระองค์ทรงทราบเรื่อง มีพระราชดำริว่า หากปล่อยความขุ่นข้องบาดหมางไว้เช่นนี้ จะเป็นผลร้ายตลอดไป จึงทรงตัดสินพระทัยเสด็จพระราชดำเนินสำเพ็ง ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 4 ชั่วโมง และพระองค์ทรงพระราชดำเนินด้วยพระบาทเป็นระยะประมาณ 3 กิโลเมตร การเสด็จพระราชดำเนินสำเพ็งในครั้งนี้จึงเป็นการประสานรอยร้าวที่เกิดขึ้นให้หมดไป

การศาสนา

ในการเสด็จนิวัตพระนครครั้งแรกนั้น พระองค์ได้ประกอบพิธีทรงปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ ท่ามกลางมณฑลสงฆ์ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 นอกจากนี้ ยังเสด็จพระราชดำเนินไปทรงนมัสการพระพุทธรูปในพระอารามที่สำคัญ เช่น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร และวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร โดยเฉพาะที่วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหารนั้น พระองค์เคยมีพระราชดำรัสกล่าวว่า "ที่นี่สงบเงียบน่าอยู่จริง" ดังนั้น เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต จึงได้นำพระบรมราชสรีรางคารของพระองค์มาประดิษฐาน ณ วัดแห่งนี้[16]

พระองค์ยังทรงตั้งพระราชหฤทัยว่าจะผนวชในพระพุทธศาสนา โดยได้มีพระราชหัตเลขาถึงสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2489 ทรงขอสังฆราชานุเคราะห์ในการศึกษาตำราทางพระพุทธศาสนาเพื่อใช้ในการเตรียมพระองค์ในการที่จะอุปสมบท แต่ก็มิได้ผนวชตามที่ตั้งพระราชหฤทัยไว้[16] นอกจากนี้ยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์บำรุงวัดวาอาราม กับพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์แก่ศาสนาอื่นตามสมควร[23]

การศึกษา

พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 8 ในคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในการเสด็จนิวัตพระนครในครั้งที่ 2 พระองค์ทรงได้ประกอบพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของประเทศ โดยเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรกิจการของหอสมุดแห่งชาติ รวมทั้ง เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมสถานศึกษาหลายแห่ง เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงเรียนอัสสัมชัญ โรงเรียนเทพศิรินทร์ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ทรงศึกษาขณะทรงพระเยาว์ นอกจากนี้ พระองค์ยังได้เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานปริญญาบัตรเป็นครั้งแรกของพระองค์ ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2489[24] และอีกครั้งที่ หอประชุมราชแพทยาลัย ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2489 โดยในการพระราชทานปริญญาบัตรครั้งนี้ มีพระราชปรารภให้มีการผลิตแพทย์เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เพียงพอที่จะช่วยเหลือประชาชน โรงเรียนแพทย์แห่งที่ 2 จึงได้ถือกำเนิดขึ้นที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งในปัจจุบัน คือ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[6]

หลังจากนั้น ในวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2489 พระองค์ทรงหว่านข้าว ณ แปลงสาธิต ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งถือเป็นพระราชกรณียกิจสุดท้าย ก่อนเสด็จสวรรคต[25]

ใกล้เคียง

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

แหล่งที่มา

WikiPedia: พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล_พระอัฐมรามาธิบดินทร http://www.mdcualumni.com/th/kingRama8.php http://www.rakbankerd.com/01_jam/thaiinfor/country... http://www.watsuthat.thai2learn.com/rama8.php http://story.thaimail.com/5may/5_2.html http://www.mdcu.net/opr.htm http://se-ed.net/kingrama8/ http://se-ed.net/kingrama8/logo.html http://bcnnon.ac.th/webnon/Load/2013/01/king22.pdf http://www.chula.ac.th/chula/th/about/king_Ananda_... http://www.dailynews.co.th/politics/118420