ประวัติ ของ พระมหากษัตริย์ไทย

กำเนิด

รูปแบบการปกครองแบบราชาธิปไตยของประเทศไทยได้พัฒนาขึ้นมาตลอด 800 ปี ภายใต้การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่สามารถรวบรวมดินแดนจนเป็นปึกแผ่นเป็นอาณาจักรสุโขทัย โดยมีพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เป็นปฐมกษัตริย์ แนวคิดการปกครองแบบราชาธิปไตยสมัยแรกเริ่มตั้งอยู่บนพื้นฐานของศาสนาฮินดู (รับเข้ามาจากจักรวรรดิขะแมร์) ที่ถือว่าวรรณะกษัตริย์มีอำนาจทางทหาร และหลักความเชื่อแบบเถรวาท ที่ถือพระมหากษัตริย์เป็น "ธรรมราชา" หลังจากที่พระพุทธศาสนาเข้ามาในประเทศไทยในราวคริสต์ศตวรรษที่ 6 อันเป็นแนวคิดที่ว่าพระมหากษัตริย์ควรจะปกครองประชาชนโดยธรรม

สมัยกรุงสุโขทัย มีการปกครองแบบพ่อปกครองลูก พระมหากษัตริย์จะมีพระนามขึ้นต้นว่า "พ่อขุน" มีความใกล้ชิดระหว่างกษัตริย์กับประชาชนมาก หลังจากรัชกาลพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแล้ว พระมหากษัตริย์สุโขทัยมีพระนามขึ้นต้นว่า "พญา" เพื่อยกฐานะกษัตริย์ให้สูงขึ้น ในรัชกาลพระมหาธรรมราชาที่ 1 พระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์เฟื่องฟูมาก จึงมีแนวคิดธรรมราชาตามคติพุทธขึ้นมา ทำให้พระนามขึ้นต้นของพระมหากษัตริย์ตั้งแต่รัชกาลพญาลิไทเรียกว่า "พระมหาธรรมราชา"

ตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เรียกพระมหากษัตริย์ว่าพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา ถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงเรียกว่าพระเจ้ากรุงสยาม[5] สถานะของพระมหากษัตริย์ในยุคนี้ได้รับคติ "เทวราชา" จากศาสนาฮินดู กล่าวคือพระมหากษัตริย์ทรงเป็นเทพเจ้าอวตารมาเพื่อปกครองมวลมนุษย์ ดังเห็นได้จากการใช้คำนำหน้าพระนามว่า "สมเด็จพระเจ้า"

ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ

ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2475 กลุ่มนักศึกษาซึ่งได้รับการศึกษาแบบตะวันตกและนายทหารเรียก "ผู้ก่อการ" ได้ปฏิวัติยึดอำนาจและเรียกร้องให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ชาวสยาม ในเดือนธันวาคมปีนั้นจึงพระราชทานรัฐธรรมนูญเปลี่ยนรูปแบบการปกครองมาสู่ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ บทบาทของพระมหากษัตริย์ก็เหลือเพียงประมุขแห่งรัฐเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น โดยทรงใช้พระราชอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ผ่านรัฐสภา นายกรัฐมนตรี และศาล

ในปี พ.ศ. 2478 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวสละราชสมบัติ หลังทรงไม่ลงรอยกับรัฐบาลที่เป็นอำนาจนิยมมากขึ้น พระองค์ทรงประทับในสหราชอาณาจักรจนสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทรทรงสืบราชสันตติวงศ์ ขณะนั้นพระองค์มีพระชนมายุ 10 พรรษาและเสด็จอยู่ต่างประเทศในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จึงมีการแต่งตั้งสภาผู้สำเร็จราชการแทน ในช่วงนั้น บทบาทและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ถูกยึดโดยรัฐบาลฟาสซิสต์จอมพลแปลก พิบูลสงคราม ผู้นำสยามเข้ากับฝ่ายอักษะระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อสงครามยุติ จอมพลแปลกถูกถอดออกและพระมหากษัตริย์เสด็จนิวัติประเทศ ระหว่างสงคราม พระญาติหลายพระองค์ของพระมหากษัตริย์เป็นสมาชิกขบวนการเสรีไทย ซึ่งต่อต้านการยึดครองของต่างชาติระหว่างสงครามและช่วยกู้ฐานะของประเทศไทยหลังสงคราม

หลังพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทรเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2489 สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งขณะนั้นทรงพระชนมายุ 19 พรรษา กลายเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลถัดมา พระองค์มีปฐมบรมราชโองการดังนี้ "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม"

ระหว่างปี 2475–2500 พระมหากษัตริย์ไทยมีบทบาททางสังคมน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงที่จอมพล แปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี โดยเขามีแนวคิดต่อต้านราชวงศ์ อย่างไรก็ดี หลังรัฐประหารโดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี 2500 รัฐบาลฟื้นฟูบทบาททางสังคมดังกล่าว และรื้อฟื้นราชประเพณีดั้งเดิมรวมทั้งการหมอบกราบ ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้จอมพล สฤษดิ์เป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารโดยไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ในพุทธทศวรรษ 2510 เริ่มเห็นได้ชัดว่าพระมหากษัตริย์ทรงมีบทบาททางการเมือง หลังจากทรงสนับสนุนนักศึกษาในปี 2516 ทรงเปลี่ยนมาสนับสนุนกลุ่มฝ่ายขวาในปี 2519 และรัฐบาลธานินทร์ จนสู่รัฐบาลพลเอกเปรม[6]:558 ปรากฏชัดในครั้งกบฏยังเติร์กในปี 2524 ที่ทรงประกาศสนับสนุนรัฐบาลพลเอกเปรมทำให้กบฏล้มเหลว[6]:558–9

เริ่มเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2543 บทบาทของพระมหากษัตริย์ไทยถูกนักวิชาการ สื่อ ผู้สังเกตการณ์และนักประเพณีนิยมคัดค้านเพิ่มขึ้น และเมื่อผู้สนใจนิยมประชาธิปไตยที่มีการศึกษาเริ่มแสดงออกซึ่งสิทธิคำพูดของเขา หลายคนถือว่าชุดกฎหมายและมาตรการเกี่ยวข้องกับความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ในประเทศไทยซึ่งมุ่งคุ้มครองพระมหากษัตริย์และราชวงศ์เป็นอุปสรรคต่อเสรีภาพการแสดงออก มีการจับกุม การสืบสวนอาญาและจำคุกหลายครั้งโดยอาศัยกฎหมายเหล่านี้ ในปี พ.ศ. 2548 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระราชดำรัสว่า สามารถวิจารณ์พระองค์ได้หากสร้างสรรค์และไม่มีแรงจูงใจทางการเมือง

บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในการเมืองไทยชัดเจนขึ้นหลังการมีส่วนและสนับสนุนรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549[7]:378

ใกล้เคียง

พระมหากษัตริย์ไทย พระมหาโมคคัลลานะ พระมหามณเฑียร พระมหาธรรมราชาที่ 1 พระมหากษัตริย์สหราชอาณาจักร พระมหาวีรกษัตรีย์นโรดม มุนีนาถ สีหนุ พระวรราชมารดา พระมหากัสสปะ พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี พระมหากษัตริย์กัมพูชา พระมหากัจจายนะ

แหล่งที่มา

WikiPedia: พระมหากษัตริย์ไทย http://www.photius.com/countries/thailand/governme... http://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/3... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/%E0%B8%... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2550/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2557/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/E/... https://www.bbc.com/news/world-asia-47175604 https://www.bbc.com/thai/thailand-47465782 https://www.silpa-mag.com/club/art-and-culture/art...