การตั้งเมืองมหาสารคาม ของ พระเจริญราชเดช_(กวด_ภวภูตานนท์_ณ_มหาสารคาม)

พระขัติยวงษา (จัน ธนสีลังกูร) เจ้าเมืองร้อยเอ็ดได้ปรึกษากับอุปฮาด (ภู) เห็นว่าท้าวมหาชัย (กวด) สมควรจะเป็นเจ้าเมืองได้ จึงได้มอบผู้คนชายฉกรรจ์จำนวน 2,000 คน รวมทั้งเด็ก ผู้หญิง และคนชรา ประมาณ 5,000 คน ให้แก่ท้าวมหาชัย (กวด) ปกครอง และให้ท้าวบัวทอง บุตรอุปฮาด (ภู) เป็นผู้ช่วย พากันไปหาที่ตั้งเมืองใหม่ ต่อมาท้าวมหาชัย (กวด) เห็นว่าด้านตะวันตกของกุดยางใหญ่ (บ้านนางใย) เป็นที่มีน้ำท่วมไม่ถึง หน้าแล้งก็สามารถใช้น้ำจากกุดยางใหญ่ (กุดนางใย) และหนองท่ม (หนองกระทุ่ม) ได้ ท้าวมหาชัย (กวด) เห็นว่าเหมาะแก่การตั้งเป็นบ้านเป็นเมือง แต่ท้าวบัวทองเห็นเห็นว่าด้านตะวันตกของบ้านลาด (บ้านลาดพัฒนา) ริมฝังลำน้ำชี เป็นทำเลที่เหมาะสมกว่า เพราะมีแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ตลอดปี ทั้งยังสามารถใช้เป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำได้อีกด้วย

ในที่สุดพระขัติยวงษา (จัน ธนสีลังกูร) ได้ตัดสินใจมีใบบอกไปยังราชสำนักกรุงเทพมหานคร เพื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานบ้านลาด กุดยางใหญ่ ให้เป็นเมือง โดยขอท้าวมหาชัย (กวด) เป็นเจ้าเมือง ขอท้าวบัวทองเป็นอุปฮาช ขอท้าวไชยวงษา (ฮึง) บุตรพระยาขัติวงษา (สีลัง) เป็นราชวงษ์ และเป็นที่น่าสังเกตว่า พระขัติยวงษา (จัน ธนสีลังกูร) ได้ขอพระราชทานทั้งบ้านลาดและกุดยางใหญ่เป็นเมืองมหาสารคาม แต่การตั้งเมืองจริงๆ นั้นกลับอยู่ที่กุดยางใหญ่

ราชสำนักกรุงเทพมหานคร ได้มีสารตรามายังพระขัติยวงษา (จัน ธนสีลังกูร) ลงวันอังคาร เดือน 10 ขึ้น 1 ค่ำ ปีฉลู สัปตศก จุลศักราช 1227 (ตรงกับวันที่ 22 สิงหาคม พุทธศักราช 2408) ดังข้อความตอนหนึ่งว่า “จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสว่า ซึ่งเจ้าพระยาภูธรราภัย พร้อมกับเจ้าพระยานครราชสีมาไล่เลียงแลทำแผนที่เมืองจะตั้งใหม่ เห็นการไม่เกี่ยวข้องแก่บ้านแก่เมืองใดแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ขนานนามบ้านลาด กุดนางใย เป็นเมืองมหาสารคาม พระราชทานนาม สัญญาบัตรประทับพระราชลัญจกร ตั้งท้าวมหาชัยเป็นพระเจริญราชเดช เจ้าเมือง ทำราชการขึ้นแก่เมืองร้อยเอ็ด ให้พระราชทานท้าวมหาชัยผู้เป็นที่พระเจริญราชเดช เจ้าเมืองมหาสารคาม”

ในปีพุทธศักราช 2412 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมยกฐานะเมืองมหาสารคามและเจ้าเมืองให้สูงขึ้น แล้วแยกจากเมืองร้อยเอ็ดไปขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานครในปีนั้น

ใกล้เคียง

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ พระเจ้าอโศกมหาราช พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ