การพระราชสมภพและสิทธิ์ในราชบัลลังก์ ของ พระเจ้าคนุตมหาราช

พระเจ้าคนุตทรงเป็นพระราชโอรสในเจ้าชายสเวน ฟอร์กเบียร์ด และเป็นพระราชนัดดาในพระเจ้าฮารัลด์ บลูทูท ราชวงศ์ของพระองค์เป็นผู้รวมแผ่นดินเดนมาร์กให้เป็นปึกแผ่น[5] ไม่มีข้อมูลใดบ่งบอกสถานที่หรือวันที่พระองค์เสด็จพระราชสมภพ พระเจ้าฮาร์ทาคนุตที่ 1 แห่งเดนมาร์ก เทียดของพระองค์ทรงเป็นต้นราชวงศ์ ส่วนพระเจ้ากอร์มดิโอลด์ พระปัยกา (ปู่ทวด) ของพระองค์เป็นกษัตริย์พระองค์แรกที่มีหลักฐานยืนยันทางประวัติศาสตร์ พระเจ้าฮารัลด์ บลูทูท พระอัยกาของพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ชาวสแกนดิเวียพระองค์แรกที่เข้ารีตเป็นคริสตชน

ในพงศวดารของเทตมาร์แห่งมาเซิลเบิร์ก (Thietmar of Merseburg) และ บทสรรเสริญราชินีเอ็มมา (Encomium Emmae Reginae) กล่าวว่าพระราชมารดาของพระเจ้าคนุตเป็นพระราชธิดาในดยุกมิเอสโกที่ 1 แห่งโปแลนด์แหล่งข้อมูลภาษานอร์สจากสมัยกลางตอนกลาง เช่น เฮล์มสกริงยา (Heimskringla) ของสนอร์ริ สตรูสัน (Snorri Sturluson) ก็บันทึกไว้ว่าพระราชมารดาของพระองค์เป็นเจ้าหญิงโปแลนด์เช่นกัน โดยออกพระนามว่ากันฮิลด์ และเป็นพระราชธิดาใน บรูสลาฟ (Burislav) กษัตริย์แห่งวินแลนด์ [6]เนื่องจากในซากาของชาวนอร์สล้วนบันทึกตรงกันว่า กษัตริย์แห่งวินแลนด์ มีพระนามว่า บรูสลาฟ อาจจะเป็นไปได้ว่าผู้บันทึกสับสนระหว่างพระนามของพระราชบิดากับพระเชษฐาของพระนางโบเลสวัฟ อดัมแห่งเบรเมิน (Adam of Bremen) เขียนไว้ใน เกสตา ฮัมมาเจนเนซิส เอคาเลซิส พอนทิฟิคุม (Gesta Hammaburgensis ecclesiae pontificum) ว่าพระราชมารดาของพระเจ้าคนุตคืออดีตราชินีแห่งสวีเดน ผู้เป็นพระมเหสีในพระเจ้าอีริค ผู้ชนะและพระราชมารดาในพระเจ้าโอลอฟ สก็อทโคนุง[7]เฮล์มสกริงยา และซากาฉบับอื่นก็มีการบันทึกว่าพระเจ้าสเวนอภิเษกกับราชินีม่ายแห่งสวีเดนจริง แต่พระนางไม่ได้เป็นพระราชมารดาของพระเจ้าคนุต และทรงมีพระนามว่า ซิกริดผู้ทรนง ซึ่งพระเจ้าสเวนทรงอภิเษกสมรสด้วยหลังจาก กันฮิลด์ เจ้าหญิงชาวสลาฟที่ได้ให้กำเนิดพระเจ้าคนุตสิ้นพระชนม์ลง[8]ทฤษฎีมากมายเกี่ยวกับชาติกำเนิดและจำนวนพระมเหสีของพระเจ้าสเวนได้รับการเสนอ (ดูเพิ่มที่บทความซิกริดผู้ทรนงและกันฮิลด์) แต่พงศวดารของอดัมเป็นเพียงแหล่งเดียวที่บันทึกว่าพระเจ้าคนุตและพระเจ้าโอลอฟ สก็อทโคนุงทรงมีพระราชมารดาพระองค์เดียวกัน สันนิษฐานกันว่านี้อาจจะเป็นข้อผิดพลาดของอดัมเอง และพระเจ้าสเวนทรงมีพระมเหสีสองพระองค์ คือเจ้าหญิงชาวสลาฟและราชินีม่ายแห่งสวีเดน พระเจ้าคนุตทรงมีพระราชอนุชาหนึ่งพระองค์ คือ พระเจ้าฮารัลด์ที่ 2 แห่งเดนมาร์ก

หลักฐานเล็กน้อยเกี่ยวกับพระเจ้าคนุตขณะทรงพระเยาว์สามารถพบได้ใน แฟลร์ทิยาร์ลบก (Flateyjarbók) แหล่งข้อมูลจากคริสต์ศตวรรษที่ 13 ซึ่งกล่าวถึงช่วงเวลาที่พระองค์ได้รับการอบรมวิชาการทหารจากธอร์เคล[9] น้องชายของซิเกิร์ด ยาร์ลแห่งดินแดนปรัมปราจอมสบอร์ก (Jomsborg) และผู้นำของชาวจอมส ที่ฐานที่มั่นไวกิงบนเกาะวอลลิน (Wolin) นอกชายฝั่งพอเมอเรเนีย ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับวันพระราชสมภพของพระองค์ แม้แต่งานเขียนร่วมสมัยอย่างเช่น พงศาวดารเทตมาร์ และ บทสรรเสริญราชินีเอ็มมา ก็ไม่ได้กล่าวถึง ในกลอนคนุตดราพา (Knútsdrápa) โดยสเคล (skald) โอตรา สตาฟตี (Óttarr svarti) ซึ่งมีวรรคหนึ่งกล่าวว่าพระเจ้าคนุต "มีพรรษาไม่มากนัก" (of no great age) เมื่อพระองค์ออกศึกครั้งแรก[10] กลอนยังกล่าวถึงการศึกที่อาจจะเป็นการเปรียบเปรยถึงการรุกรานอังกฤษของพระเจ้าสเวน ฟอร์กเบียร์ดและการจู่โจมเมืองนอริช ในปี ค.ศ. 1003/04 หลังเหตุการณ์การสังหารหมู่วันเซนต์ไบรซ์ (St. Brice's Day massacre) ซึ่งชาวเดนส์ถูกสังหารโดยชาวอังกฤษใน ค.ศ. 1002 หากพระเจ้าคนุตได้ทรงติดตามพระราชบิดาไปในศึกครั้งนี้ด้วย พระองค์จึงอาจจะทรงเสด็จพระราชสมภพใน ค.ศ. 990 หรืออย่างเร็วที่สุดคือ ค.ศ. 980 หากไม่ได้ทรงติดตามพระราชบิดาไปด้วย และวรรคของกลอนดังกล่าวหมายถึงการศึกครั้งอื่น เช่น การพิชิตอังกฤษของพระเจ้าสเวน ฟอร์กเบียร์ดใน ค.ศ. 1013/14 พระองค์อาจจะทรงเสด็จพระราชสมภพประมาณ ค.ศ. 1000[11] มีประโยคหนึ่งจากผู้สรรเสริญ (Encomiast) (ซึ่งเป็นผู้ประพันธ์ บทสรรเสริญราชินีเอ็มมา) กล่าวว่าชาวไวกิงทั้งหมด "ถึงวัยผู้ใหญ่" (of mature age) ภายใต้ "กษัตริย์" คนุต

คำบรรยายพระลักษณ์ของพระเจ้าคนุตตามที่ปรากฏใน คนุตลินกาซากา (Knýtlinga saga) จากคริสต์ศตวรรษที่ 13 มีดังนี้:

พระเจ้าคนุตทรงมีพระวรกายที่สูงและกำยำ ทรงมีพระลักษณ์ที่หล่อเหลา ยกเว้นเสียแต่ตรงพระนาสิก (จมูก) ซึ่งมีลักษณะแคบ อยู่สูง (จากพระพักตร์) และค่อนข้างงุ้ม ทรงมีพระฉวี (ผิว) งาม และทรงมีพระเกศา (ผม) หนา พระเนตรของพระองค์ดีกว่าคนทั้วไป สายพระเนตรของพระองค์นั้นทั้งหล่อเหลาและเฉียบคม— คนุตลินกาซากา[12][13]

ข้อมูลเกี่ยวกับพระชนม์ชีพของพระเจ้าคนุตมีไม่มาก จนกระทั่งทรงได้เป็นส่วนหนึ่งในกองทัพของพระราชบิดาในการพิชิตอังกฤษในช่วงฤดูร้อนของปี ค.ศ. 1013 อันเป็นช่วงสำคัญที่สุดในการปลันสะดมของชาวไวกิง ซึ่งดำเนินมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ หลังจากการขึ้นฝั่งที่ฮัมเบอร์ (Humber)[14]อังกฤษตกอยู่ภายใต้การปกครองของชาวไวกิงอย่างรวดเร็ว และเมื่อถึงปลายปีนั้นพระเจ้าแอเธลเรดผู้ไม่พร้อม ก็ทรงเสด็จหนีไปยังดัชชีนอร์ม็องดี ทิ้งให้พระเจ้าสเวน ฟอร์กเบียร์ดได้อังกฤษไปครอง ในช่วงฤดูหนาวพระเจ้าสเวน ฟอร์กเบียร์ดก็ทรงเริ่มสร้างฐานพระราชอำนาจในอังกฤษ ขณะที่พระเจ้าคนุตทรงได้รับหน้าที่ดูแลกองเรือและฐานทัพที่เกนส์เบอโร

พระเจ้าสเวน ฟอร์กเบียร์ดทรงเสด็จสวรรคตหลังจากครองราชย์ได้ไม่นานในวันระลึกพระแม่มารีและพระเยซู (Candlemas) (ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 3 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1014)[15]เจ้าชายฮารัลด์ พระราชโอรสพระองค์เล็กจึงขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งเดนมาร์กต่อจากพระองค์ ในขณะที่ชาวไวกิงและราษฏรในบริเวณเดนลอว์ลงมติเลือกพระเจ้าคนุตเป็นกษัตริย์อังกฤษโดยทันที[16] แต่ขุนนางชาวอังกฤษไม่เห็นด้วย สภาวิททันจึงได้ทูลเชิญพระเจ้าแอเธลเรดกลับมาจากนอร์ม็องดี ไม่นานนักพระเจ้าแอเธลเรดก็ทรงนับทัพขับไล่พระเจ้าคนุต ซึ่งทรงหลบหนีไปพร้อมกับกองทัพของพระองค์และตัวประกันจำนวนหนึ่ง ซึ่งต่อมาถูกทรมาณระหว่างเดินทางและสุดท้ายก็ถูกทิ้งไว้ที่ชายฝั่งของเมืองแซนด์วิช[17] หลังจากนั้นพระเจ้าคนุตจึงได้เสด็จไปพบกับพระเจ้าฮารัลด์ที่ 2 พระราชอนุชา และทรงเสนอให้ทรงปกครองร่วมกัน แต่พระเจ้าฮารัลด์ไม่ทรงเห็นชอบด้วย[16] พระเจ้าฮารัลด์ทรงยื่นข้อเสนอใหม่ให้แก่พระเจ้าคนุตเป็นผู้บังคับปัญชากองกำลังรุกรานอังกฤษระลอกใหม่ โดยมีข้อแม้ว่าพระเจ้าคนุตจะต้องสละสิทธิ์ในราชบัลลังก์เดนมาร์ก[16] อย่างไรก็ดี พระเจ้าคนุตก็สามารถรวบรวมเรือเพื่อใช้ในการรุกรานได้สำเร็จ[17]

ใกล้เคียง

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ

แหล่งที่มา

WikiPedia: พระเจ้าคนุตมหาราช http://www.britannia.com/history/monarchs/danish_k... http://www.channel4.com/history/microsites/T/timet... http://www.findagrave.com/cgi-bin/fg.cgi?page=gr&G... http://www.vikingworld.dk/jellinge49.htm http://www.viking.no/e/people/e-knud.htm http://www.viking.no/the-viking-kings-and-earls/ca... http://web.archive.org/19990128155504/members.aol.... http://encyclopedia.jrank.org/Cambridge/entries/04... http://www.englishmonarchs.co.uk/vikings_2.htm https://www.britroyals.com/kings.asp?id=canute