การพิชิตอังกฤษ ของ พระเจ้าคนุตมหาราช

หินรูน (runestone) หมายเลขยู 194 เป็นจารึกเกี่ยวกับไวกิงนามว่าเอลลี (Alli) ซึ่งบันทึกไว้ว่าเขา "ได้รับพระราชทานบำเหน็ดจากพระเจ้าคนุตในอังกฤษ" (He won Knútr's payment in England)

โบเลสวัฟที่ 1 ผู้กล้าหาญ ดยุกแห่งโปแลนด์ (ภายหลังทรงได้รับการราชาภิเษกเป็นกษัตริย์) พระราชมาตุลา (ลุงฝ่ายแม่) ของพระเจ้าคนุตได้ให้พระองค์ยืมทหารชาวโปลจำนวนหนึ่ง[18] ซึ่งอาจจะเป็นข้อตกลงที่ทรงให้ไว้กับพระเจ้าคนุตและพระราชอนุชาเมื่อคราวที่ทั้งสองพระองค์ทรงเสด็จไปรับพระราชมารดากลับเดนมาร์กในฤดูหนาว พระนางทรงถูกขับไล่จากราชสำนักหลังจากพระเจ้าสเวนทรงอภิเษกสมรสใหม่กับซิกริดผู้ทรนงพระมเหสีม่ายของพระเจ้าอีริค ผู้ชนะแห่งสวีเดนในปี ค.ศ. 995 การอภิเษกสมรสดังกล่าวได้สร้างพันธมิตรระหว่างพระเจ้าโอลอฟ สก็อทโคนุง กษัตริย์แห่งสวีเดนพระองค์ใหม่กับราชวงศ์เดนมาร์กในขณะนั้น[18] เดนมาร์กจึงได้สวีเดนมาเป็นพันธมิตรในการรุกรานอังกฤษ อีกหนึ่งพันธมิตรของพระเจ้าคนุตคือ อีริค โฮกุนนาร์สัน (Eiríkr Hákonarson) เอิร์ลแห่งเลด ผู้ปกครองร่วมแห่งนอร์เวย์กับพี่ชายต่างมารดา สเวน โฮกุนสัน (Sweyn Haakonsson) และมีความเกี่ยวดองกับราชวงศ์เดนมาร์กด้วย นอร์เวย์ตกอยู่ภายใต้การปกครองของเดนมาร์กมาตั้งแต่หลังยุทธการโซลเวเดอร์ (Battle of Svolder) ในปี ค.ศ. 999 ในระหว่างที่อีริคไปร่วมทัพของพระเจ้าคนุต โฮกุน ผู้เป็นบุตรชายของเขาเป็นผู้แทนในการปกครองนอร์เวย์ร่วมกับสเวน

ในหน้าร้อนของปี ค.ศ. 1015 กองเรือของพระเจ้าคนุตก็เริ่มออกเดินทางไปยังอังกฤษพร้อมกับไพร่พลประมาณ 10,000 นาย ด้วยกองเรือจำนวน 200 ลำ[19] กองทัพของพระองค์ถือเป็นการรวมตัวของชาวไวกิงจากทั่วสแกนดิเนเวีย กองกำลังของพระองค์จะเผชิญหน้ากับฝ่ายอังกฤษภายใต้การนำของพระเจ้าเอ็ดมันด์ผู้ทนทานในสมรภูมิรบอันดุเดือดไปอีกกว่าสิบสี่เดือน

การขึ้นฝั่งในเวสเซกซ์

พงศวดารปีเตอร์บะระ อันเป็นหนึ่งในพงศาวดารชุด บันทึกเหตุการณ์ของชาวแองโกล-แซกซัน บันทึกไว้ว่าในต้นเดือนกันยายน ค.ศ. 1015 "[พระเจ้าคนุต] ทรงมาถึงแซนด์วิช และทรงแล่นเรือผ่านเคนต์และเวสเซกซ์ จนกระทั่งพระองค์ทรงมาถึงปากแม่นํ้าโฟรม และขึ้นฝั่งที่ดอร์เซต วิลต์เชอร์และซัมเมอร์เซต"[20] เป็นจุดเริ่มต้นของการทัพขนาดมหึมาที่สุดนับตั้งแต่รัชสมัยของพระเจ้าอัลเฟรดมหาราช[17] บทสรรเสริญราชินีเอ็มมาได้บรรยายเกี่ยวกับกองเรือของพระองค์ไว้ดังนี้:

ณ ที่นั้นมีโล่หลากชนิด ซึ่งทำให้ท่านเชื่อได้ว่าไพร่พลจากนานาชนชาติได้มาถึงยัง ณ ที่แห่งนี้...หัวเรือเป็นประกายด้วยทองคำ แร่เงินสะท้อนแสงไปตามเรือหลายรูปทรง....ใครเล่าจะกล้าเชิดหน้าขึ้นมามองเหล่าราชสีห์ของศัตรู ต่างสั่นกระทาด้วยกลัวความระยับของทองคำและเหล่านักรบผู้น่าครันครามด้วยใบหน้าอันเรียบนิ่ง....เรือของพวกเขานำพามาซึ่งความตาย แลแตรของพวกเขาระยิบไปด้วยทอง ใครเล่าจะไม่รู้สึกหวั่นเกรงกษัตริย์ผู้มีกองทัพเช่นนี้? มิหนำซ้ำ กองกำลังนี้มิมีไพร่พลใดที่เป็นทาสหรือผู้ที่เคยเป็นทาส ไม่มีคนซาติกำเนิดตํ่าต้อย ไม่มีไพร่พลที่อ่อนแอด้วความชราของอายุ ด้วยพวกเขาทั้งหมดต่างเป็นผู้มีชาติตระกูล แลแข็งแรงด้วยกำลังวังชาของคนวัยหนุ่ม ชำนาญการต่อสู้ทุกแขนงแลการเรือ พวกเขาเคลื่อนที่ด้วยความเร็วยิ่งกว่าพลทหารม้า— อิโครนัม เอ็มมา เรจีนา[21]

เวสเซกซ์ซึ่งถูกปกครองโดยราชวงศ์ของพระเจ้าแอเธลเรดมาเป็นเวลานานยอมจำนนกับกองกำลังของพระเจ้าคนุตในปลายปี ค.ศ. 1015 ดั่งเช่นที่ยอมจำนนกับกองกำลังของพระราชบิดาของพระองค์เมื่อสองปีก่อนหน้า[17] ณ จุดนี้ เอ็ดริก สโตรนา (Eadric Streona) เอลโดเมนแห่งเมอร์เซีย ได้แปรพักตร์จากฝ่ายของพระเจ้าแอเธลเรดไปพร้อมกับเรือ 40 ลำ รวมถึงลูกเรือจำนวนหนึ่ง และเข้าไปสวามิภักดิ์กับพระเจ้าคนุต[22] ผู้แปรพักตร์อีกคนได้แก่ธอร์เคล ผู้นำของชาวจอมสซึ่งเคยต่อสู้กับกองกำลังของพระเจ้าสเวน ฟอร์กเบียร์ดให้กับฝ่ายอังกฤษ[17]—สาเหตุของการแปรพักตร์สามารถพบได้ใน จอมสไวกิงซากา (Jómsvíkinga saga) ซึ่งกล่าวถึงการถูกโจมตีของทหารรับจ้างชาวจอมสบอร์กในอังกฤษ โดยหนึ่งในผู้เสียชีวิตนั้นมีเฮนนิงค (Henninge) น้องชายของธอร์เคลรวมอยู่ด้วย[23] หากเรื่องที่บันทึกไว้ใน แฟลร์ทิยาร์ลบก นั้นเป็นความจริงที่ว่าพระเจ้าคนุตทรงได้รับการอบรมจากธอร์เคล มันจะสามารถอธิบายสาเหตุที่พระเจ้าคนุตทรงรับเขาเข้ามาในกองทัพของพระองค์ได้ กองเรือจำนวน 40 ที่เอ็ดริกนำมาด้วย ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นกองเรือของเขตเดนลอว์[23] แท้จริงแล้วอาจจะเป็นของธอร์เคล[24]

การรุกขึ้นเหนือ

เมื่อถึง ค.ศ. 1016 กองกำลังไวกิงได้ข้ามแม่น้ำเทมส์และเร่งรุดหน้าไปยังวาร์วิคเชอร์ ในขณะที่ความพยายามต้านทานการรุกรานของเจ้าชายเอ็ดมันด์ไม่สัมฤทธิ์ผล—นักบันทึกพงศาวดาร (Chronicler) กล่าวว่ากองทัพอังกฤษพากันแยกย้ายเพราะไม่ได้พบกษัตริย์หรือประชาชนชาวลอนดอน[17] การโจมตีในช่วงกลางฤดูหนาวโดยพระเจ้าคนุตสร้างความเสียหายไปทั่วตอนเหนือของเมอร์เซียตะวันออก การระดมพลอีกครั้งหนึ่งทำให้ชาวอังกฤษรวมตัวกันได้ และคราวนี้พระเจ้าเอเธล์เรดก็ทรงเสด็จมาตรวจกองทัพด้วยตัวพระองค์เอง กระนั้น "มันก็ไม่ได้ส่งผลอะไรมากนัก" พระเจ้าเอเธล์เรดทรงเสด็จกลับลอนดอนด้วยความกลัวว่าพระองค์กำลังจะถูกทรยศ[17]ในขณะที่เจ้าชายเอ็ดมันด์เสด็จไปทางเหนือเพื่อไปร่วมทัพกับอูห์เรด เอิร์ลแห่งนอร์ทธัมเบรีย แล้วจึงมุ่งหน้าไปยังสแตฟฟอร์ดเชอร์ ชาร์ปเชอร์และเชชเชอร์ ในเมอร์เซียตะวันตก[25] ทั้งสองอาจจะต้องการไปยังคฤหาสน์ของเอ็ดริก สโตรนา การที่พระเจ้าคนุตทรงเข้ายึดครองนอร์ทัมเบรีย บีบให้อูห์เรดต้องกลับไปยอมแพ้ต่อพระเจ้าคนุต[26] พระองค์อาจจะเป็นผู้ส่งเธอร์บรันชาวโฮล (Thurbrand the Hold) อริชาวนอร์ทัมเบรียของอูห์เรดไปสังหารเขากับผู้ติดตาม อีริค โฮกุนนาร์สัน เป็นไปได้ว่าเมื่อถึงจุดนี้ กองกำลังชาวสแกนดิเวียจึงเริ่มเข้ามาสบทบกับกับพระเจ้าคนุต[27] และบรรดายาร์ล (เอิร์ล) ผู้กรำศึกได้ถูกส่งไปปกครองนอร์ทัมเบรีย

เจ้าชายเอ็ดมันด์ยังคงประทับอยู่ในลอนดอน โดยทรงตั้งทัพอยู่ที่หลังกำแพงเมืองลอนดอน และทรงได้รับการเลือกเป็นกษัตริย์หลังจากพระเจ้าเอเธล์เรดสวรรคตในวันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 1016

การล้อมกรุงลอนดอน

ภาพเขียนสีวิจิตร แสดงการปะทะระหว่างพระเจ้าเอ็ดมันด์ที่ 2 (ซ้าย) และพระเจ้าคนุต (ขวา) จาก โครนิคา มาจอร์รา (Chronica Majora) ประพันธ์และวาดภาพประกอบโดยแม็ทธิว แพริส

พระเจ้าคนุตเสด็จกลับไปทางทิศใต้ และกองทัพเดนมาร์กก็เริ่มทําการแบ่งออกเป็นสองส่วน โดยกองแรกทําหน้าที่ไล่ตามพระเจ้าเอ็ดมันด์ ซึ่งสามารถตีฝ่าไพร่พลออกไปได้ก่อนที่พระเจ้าคนุตจะเข้าปิดล้อมกรุงลอนดอน พระเจ้าเอ็ดมันด์ทรงหลบหนีไปยังมณฑลเวสเซกซ์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางพระราชอำนาจของกษัตริย์อังกฤษมาแต่ครั้งโบราณ ในขณะที่อีกกองหนึ่งทําหน้าที่ล้อมรอบกรุงลอนดอนไว้ พร้อมกันนั้นก็มีมีการสร้างกําแพงกั้นนํ้า (dikes) ขึ้นที่ทางเหนือและทางใต้ของตัวเมือง อีกทั้งยังมีการขุดคูนํ้าเลาะผ่านทางชายฝั่งแม่นํ้าเทมส์ไปจนจรดทิศใต้ เพื่อสะดวกต่อการล่องเรือยาว (longships) ขึ้นไปขัดขวางการสื่อสารของฝ่ายอังกฤษ

มีการปะทะเกิดขึ้นที่เพนเซลวูด (Penselwood) ในมณทลซัมเมอร์เซต โดยสันนิฐานว่าเนินในป่าเซลวูด (Selwood Forest) เป็นสมรภูมิของทั้งสองฝ่าย[28] การรบพุ่งเกิดตามมาที่เชอร์สตัน ในมณทลวิลต์เชอร์ การต่อสู้กินเวลาสองวันแต่ไม่มีฝ่ายใดได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด[29]

พระเจ้าเอ็ดมันด์สามารถกู้กรุงลอนดอนกลับคืนมาได้อยู่ระยะหนึ่ง ทรงผลักดันและตีกองทัพเดนมาร์กจนแตกพ่ายไปหลังทรงข้ามแม่นํ้าเทมส์ที่เบรนท์ฟอร์ด [28] แต่ก็ทรงเสียไพร่พลเป็นจํานวนมากเช่นกัน พระองค์จึงทรงตัดสินพระทัยล่าถอยไปยังเวสเซกซ์เพื่อเกณฑ์ไพร่พลใหม่ ชาวเดนส์เข้าปิดล้อมกรุงลอนดอนอีกครั้ง แต่หลังจากที่ไม่ประสบความสําเร็จในการรุกคืบ พวกเขาจึงล่าถอยไปยังเคนต์ โดยมีการต่อสู้เกิดขึ้นบ้างประปราย ซึ่งลงเอยด้วยการรบที่ออตฟอร์ด (Otford) ต่อมา เอ็ดริก สโตรนาแปรพักตร์กลับไปเข้ากับพระเจ้าเอ็ดมันด์อีกครั้ง[30] พระเจ้าคนุตจึงตัดสินพระทัยล่องเรือไปทางเหนือของแม่นํ้าเทมส์ ทรงเสด็จขึ้นฝั่งที่เอสเซกซ์ และทรงเดินทางไปจนถึงแม่นํ้าออร์เวลล์ (River Orwell) เพื่อเข้าปลันสะดมมณทลเมอร์เซีย[28]

การยึดกรุงลอนดอนด้วยสนธิสัญญา

ในวันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ. 1016 กองกําลังของชาวเดนส์ถูกโจมตีโดยกองทัพของพระเจ้าเอ็ดมันด์ ระหว่างที่ฝ่ายเดนส์กําลังล่าถอยไปที่เรือ อันนําไปสู่ยุทธการแอชชิงดัน (Battle of Assandun) ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นที่แอชชิงดอน (Ashingdon) ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ หรือที่แอชดอน (Ashdon) ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเอสเซกซ์ ระหว่างการชุลมุนนั้นเอง เอ็ดริก สโตรนา ซึ่งอาจจะแกล้งทําอุบายแปรพักตร์เพื่อลวงฝ่ายอังกฤษ ได้ทําการถอยทัพออกจากสนามรบ ทําให้ฝ่ายอังกฤษพ่ายแพ้อย่างราบคาบ[31] พระเจ้าเอ็ดมันด์เสด็จหนีไปทางตะวันตก พระเจ้าคนุตทรงไล่ตามพระองค์ไปจนถึงกลอสเตอร์เชอร์ ซึ่งอาจจะมีการสู้รบเกิดขึ้นอีกที่บริเวณป่าดีน (Forest of Dean) เนื่องจากพระเจ้าเอ็ดมันด์ได้ทําการผูกมิตรกับผู้นําบางส่วนของชาวเวลส์[28]

บนเกาะใกล้หมู่บ้านเดียร์เฮสต์ (Deerhurst) พระเจ้าคนุตและพระเจ้าเอ็ดมันด์ผู้บาดเจ็บ ทรงเสด็จมาพบกันเพื่อเจรจาเงื่อนไขสงบศึก ในที่สุดทั้งสองฝ่ายก็ตกลงกันว่าจะใช้แม่น้ำเทมส์เป็นตัวแบ่งเขตแดน โดยฟากเหนือแม่นํ้าขึ้นไปจะตกเป็นของชาวเดนส์ ในขณะที่ฟากทางใต้ รวมไปถึงกรุงลอนดอน จะยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของฝ่ายอังกฤษ ดินแดนทั้งสองจะถูกรวมกันเป็นหนึ่งเดียวภายใต้พระเจ้าคนุตเมื่อพระเจ้าเอ็ดมันด์เสด็จสวรรคต ซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 30 พฤศจิกายน ไม่กี่สัปดาห์หลังจากสนธิสัญญาได้รับการลงนาม แหล่งข้อมูลบางชิ้นกล่าวว่าพระเจ้าเอ็ดมันด์ถูกลอบปลงพระชนม์ กระนั้นสาเหตุการสวรรคตของพระองค์ก็ไม่เป็นที่แน่ชัด[32] ชาวเวสต์แซกซอนยอมรับเจ้าชายคนุตเป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่โดยดี[33] พระองค์ได้รับการราชาภิเษกโดยไลฟิง อัครมุขนายกแห่งแคนเทอร์เบอรี (Lyfing, Archbishop of Canterbury) ที่กรุงลอนดอน ในปี ค.ศ. 1017 [34]

ใกล้เคียง

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ

แหล่งที่มา

WikiPedia: พระเจ้าคนุตมหาราช http://www.britannia.com/history/monarchs/danish_k... http://www.channel4.com/history/microsites/T/timet... http://www.findagrave.com/cgi-bin/fg.cgi?page=gr&G... http://www.vikingworld.dk/jellinge49.htm http://www.viking.no/e/people/e-knud.htm http://www.viking.no/the-viking-kings-and-earls/ca... http://web.archive.org/19990128155504/members.aol.... http://encyclopedia.jrank.org/Cambridge/entries/04... http://www.englishmonarchs.co.uk/vikings_2.htm https://www.britroyals.com/kings.asp?id=canute