พระประวัติ ของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ_กรมขุนสุพรรณภาควดี

ประสูติ

พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์ สุนทรศักดิกัลยาวดี เป็นพระราชธิดาพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ประสูติแต่เจ้าคุณพระประยุรวงศ์ (เจ้าคุณจอมมารดาแพ) และเป็นเหลนของ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในรัชกาลที่ 5 พระองค์ประสูติเมื่อวันศุกร์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 9 ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสเรียกพระองค์ว่า "เจ้าหนู" พระเจ้าน้องทั้งหลายทรงเรียกว่า "พี่หนู" และชาววังเรียกว่า "เสด็จพระองค์ใหญ่"

พระองค์มีพระขนิษฐาที่ประสูติร่วมพระมารดาอีก 2 พระองค์ ซึ่งมีพระนามที่คล้องจองกัน ได้แก่ ศรีวิไลยลักษณ์ สุวพักตร์วิไลยพรรณ และบัณฑรวรรณวโรภาษ

พระองค์เป็นพระเจ้าลูกเธอที่ประสูติตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ 4 ประทับอยู่ ณ พระตำหนักสวนกุหลาบ ภายในพระบรมมหาราชวัง เมื่อหม่อมแพใกล้จะคลอดพระหน่อ จึงต้องหาสถานที่คลอดนอกพระบรมมหาราชวัง เนื่องจากตามพระราชประเพณีนั้น นอกจากจะประสูติพระราชโอรสและพระราชธิดาแล้ว จะให้หญิงใดคลอดลูกภายในพระบรมมหาราชวังไม่ได้[1] โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้จัดวังนันทอุทยาน พระราชทานให้เป็นสถานที่ในการคลอดพระหน่อ

หม่อมแพทรงครรภ์เพียง 7 เดือนก็ประสูติพระหน่อก่อนกำหนด เมื่อประสูตินั้นพระองค์ยังอยู่ในถุงน้ำคร่ำ ทำให้หมอเข้าใจว่าพระองค์คงสิ้นพระชนม์ จึงให้หาหม้อขนันจะเอาใส่ไปถ่วงน้ำตามประเพณี แต่เจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ขรัวตาอยากรู้ว่าเป็นพระองค์หญิงหรือพระองค์ชายจึงให้ฉีกถุงน้ำคร่ำออก พบว่ายังหายพระทัยอยู่ จึงช่วยกันประคบประหงมเลี้ยงดูจนสามารถมีพระชนม์อยู่ได้[2][3] ต่อมา หม่อมแพและพระธิดาจึงย้ายกลับเข้ามาประทับ ณ พระตำหนักสวนกุหลาบตามเดิม เมื่อแรกประสูตินั้นพระองค์มีพระอิสริยยศที่ หม่อมเจ้าศรีวิไลยลักษณ์ ต่อมา เมื่อพระราชบิดาขึ้นครองราชสมบัติแล้ว พระองค์จึงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์ สุนทรศักดิกัลยาวดี

ลูกคู่ทุกข์คู่ยาก

พระองค์เป็นพระเจ้าลูกเธอที่อยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในคราวที่พระองค์ทรงประสบปัญหาต่าง ๆ เมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติในระยะแรก ซึ่งสมเด็จพระบรมชนกนาถมีรับสั่งว่าพระองค์ทรงเป็น "ลูกคู่ทุกข์คู่ยาก"[4][5]

พระองค์ได้รับพระกรุณายกย่องพระเกียรติยศไว้ยิ่งกว่าพระเจ้าลูกเธอพระองค์อื่นหลายประการ เช่น ทรงมีสร้อยพระนาม คือ "สุนทรศักดิกัลยาวดี" ซึ่งตามปกติแล้วสร้อยพระนามมักจะมีแต่ในพระนามของเจ้าฟ้าที่ประสูติแต่พระภรรยาเจ้า[6] และในพิธีโสกันต์ยังโปรดให้ทำพิธีเขาไกรลาสใหญ่เช่นเดียวกับเขาไกรลาสของเจ้าฟ้า เป็นต้น

แต่เดิมพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตระหนักถึงเอกราชและความมั่นคงของประเทศ ทรงพยายามแก้ไขสถานการณ์ต่าง ๆ ให้ดีขึ้น มีพระราชกระแสที่จะส่งพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าศรีวิลัยลักษณ์ เดินทางไปศึกษาต่อยังประเทศอังกฤษในฐานะองค์ทายาทของพระมหากษัตริย์สยาม[7] ในการตั้งพระราชธิดาองค์โปรดให้ไปศึกษาต่อยังต่างประเทศครั้งนี้ ทรงตั้งพระราชหฤทัยให้สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ได้เสด็จไปด้วยในฐานะพี่เลี้ยง และได้ทาบทามเจ้าพระยาสุรวงษ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ผู้เป็นตาของพระองค์ศรีวิลัยลักษณ์ด้วยพระองค์เอง[7] ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาพระราชทานสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ลงวัน ๒ ๑๒ ฯ  ๑๒ ค่ำ ปีชวดอัฐศก ๑๒๓๘ เกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) ได้บันทึกไว้ ความว่า[8]

"...กรมพระราชวังบวรฯ (กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ) มิสเตอร์น๊อกซ์ (โทมัส ยอร์ช น็อกซ์) กงสุลอังกฤษ คิดจะเอาพระโอรสองค์ใหญ่มีพระนามว่า พระองค์เจ้าวิลัย (พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิไลยวรวิลาส) ส่งไปประเทศอังกฤษ เพื่อมิสเตอร์น๊อกซ์จะเปิดเผยที่เมืองอังกฤษว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่มีพระบรมราชโอรสมีแต่พระราชธิดาพระองค์ใหญ่คือ กรมขุนสุพรรณฯ ส่วนกรมพระราชวังบวรฯ มีพระโอรส พระโอรสนี้จะเป็นรัชทายาทต่อไป เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบดังนี้แล้ว จึงทรงพระวิตก คิดจะให้สมเด็จวังบูรพากำชับให้กรมขุนสุพรรณฯ ออกไปเรียนวิชา ณ ประเทศอังกฤษ ความที่ทรงหวังในเวลานั้นจะโปรดเกล้าให้กรมขุนสุพรรณฯ เป็นควีนวิคตอเรีย สมเด็จวังบูรพาเป็น ปรินซ์อารเบิด (เจ้าชายอัลเบิร์ต พระราชสวามี) เวลานั้นได้จัดผู้ที่จะตามเสด็จไปประเทศยุโรปไว้พร้อมถึงกับได้กำหนดวันที่จะเสด็จออกจากกรุงเทพฯ เวลานี้ข้าราชการทั่วไปพากันตื่นเต้นเข้าไปเฝ้าอยู่ทั่วทุกชั้น เวลานั้นจะมีอุปสรรคอันใดเกิดขึ้นจึงได้ระงับเหตุดังกล่าวนี้ในเวลาไม่กี่เดือนก็รับทราบว่า สมเด็จพระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า (สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) ทรงพระครรภ์ในไม่ช้าก็ประสูติ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ พระราชดำริดังกล่าวนี้จึงเป็นอันระงับไป"

พระองค์เจ้าต่างกรมฝ่ายใน

ในการพระราชพิธีทวีธาภิเษกสมโภชสิริราชสมบัติในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงพระราชดำริว่า "ในการพระราชพิธีทวิธาภิเศกสมโภชศิริราชสมบัติครั้งนี้ การทั้งปวงได้จัดเป็นคู่ ๆ กันมา ได้พระราชทานพระเกียรติยศพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์หนึ่งแล้ว ควรจะพระราชทานพระเกียรติยศแก่พระเจ้าลูกเธอพระองค์หนึ่งให้เป็นคู่กัน ตามราชประเพณีแต่ก่อนก็เคยมีตัวอย่าง" ดังนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์ สุนทรศักดิกัลยาวดี เป็นพระองค์เจ้าต่างกรมฝ่ายในเมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2446 มีพระนามว่า "พระเจ้าลูกเธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี"[9]

การที่พระองค์ได้รับการสถาปนาเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมฝ่ายในที่ "กรมขุน" นั้นเป็นการทรงกรมเท่ากับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ชั้นเจ้าฟ้า ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ได้รับพระราชทานจากพระบรมราชชนกเป็นพิเศษอีกอย่างหนึ่ง เนื่องจากตามธรรมเนียมการทรงกรมของพระเจ้าลูกเธอ ชั้นพระองค์เจ้านั้น จะเริ่มทรงกรมที่ "กรมหมื่น" และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ชั้นเจ้าฟ้าจะเริ่มทรงกรมที่ "กรมขุน"[6] นอกจากนี้ พระองค์ยังเป็นพระราชธิดาในรัชกาลที่ 5 พระองค์แรกและเป็นพระเจ้าลูกเธอ ชั้นพระองค์เจ้าในรัชกาลที่ 5 พระองค์เดียวที่ได้รับการสถาปนาให้เป็นเจ้าต่างกรม

เนื่องจากพระองค์เป็นที่เคารพรักแก่พระเจ้าน้อง ดังนั้น เมื่อพระองค์ทรงได้รับการสถาปนาเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมฝ่ายในนั้น พระเจ้าน้องนางเธอทั้งหลายต่างพากันยินดีและได้ทรงเข้าเงินกันทำสร้อยพระกรประดับเพชรถวายพระองค์ด้วย และในงานฉลองการทรงกรมในครั้งนั้น เป็นที่กล่าวขานถึงความสนุกสนานและยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการการจัดงานนิทรรศการและการประกวดตลับงาซึ่งมีผู้ส่งตลับงาเข้าร่วมงานครั้งนี้หลายร้อยใบ[10]

สิ้นพระชนม์

พระองค์สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2447 หลังประชวรเรื้อรังมานาน[11] พระชันษา 36 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานบำเพ็ญพระราชกุศล ณ พระราชวังบางปะอิน โดยใช้พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์เป็นที่ประดิษฐานพระศพ และโปรดให้จัดงานพระราชทานเพลิงพระศพ ณ วัดนิเวศธรรมประวัติ[12]

ระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินไปในงานบำเพ็ญพระราชกุศลพระศพของกรมขุนสุพรรณภาควดี สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทราสรัทวาร กรมขุนพิจิตรเจษฎ์จันทร์ ก็ประชวรและสิ้นพระชนม์ ด้วยพระอาการไข้พิษ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2448[13][14] ซึ่งในสี่แผ่นดินกล่าวว่า "ต้องเชิญพระศพพระเจ้าลูกเธอองค์หนึ่งลงมา แล้วเชิญพระศพของอีกพระองค์ขึ้นไป"[15]

งานพระเมรุ

พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ เมื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานพระศพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี

หลังจากพระเจ้าลูกเธอ กรมขุนสุพรรณภาควดีสิ้นพระชนม์ ณ ตำหนักภายในพระบรมมหาราชวังเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2447 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชทานน้ำสรงพระศพ และพระบรมวงศานุวงศ์สรงน้ำพระศพ แล้วจึงโปรดให้เจ้าพนักงานทรงเครื่องพระศพและเชิญลงพระลองในประกอบพระโกศกุดั่นใหญ่ แล้วจึงเชิญพระศพขึ้นประดิษฐานแว่นฟ้า 3 ชั้น ณ พระที่นั่งสุทไธสวรรย์

ส่วนการพระราชทานเพลิงพระศพพระเจ้าลูกเธอ กรมขุนสุพรรณภาควดีนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยุ่หัวมีพระราชดำริว่า ต้นศรีมหาโพธิ์ซึ่งพระองค์ทรงได้พืชพันธุ์มาจากพุทธคยา แล้วทรงเพาะและปลูกไว้ที่วัดนิเวศธรรมประวัติเป็นวันเดียวกับวันประสูติของพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์ สุนทรศักดิกัลยาวดี กรมขุนสุพรรณภาควดี ดังนั้น พระองค์จึงมีพระราชดำริให้จัดการพระราชทานเพลิงพระศพที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ วัดนิเวศธรรมประวัติ โดยให้ตั้งพระศพทรงบำเพ็ญพระราชกุศลที่พระราชวังบางปะอิน

ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2448 เจ้าพนักงานได้เชิญพระศพพระเจ้าลูกเธอ กรมขุนสุพรรณภาควดีออกจากพระที่นั่งสุทไธสวรรย์ออกไปทางประตูศักดิไชยสิทธิ์ขึ้นประดิษฐานบนรถพระศพ แล้วประกอบพระลองในด้วยพระโกศทองเล็กห้อยเฟื่อง แล้วจึงเชิญพระศพไปยังสถานีรถไฟเพื่อเชิญพระศพไปยังพระราชวังบางปะอินต่อไป

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปยังพระราชวังบางปะอินก่อนล่วงหน้า 1 วัน เมื่อพระศพพระเจ้าลูกเธอ กรมขุนสุพรรณภาควดีมาถึงสถานีรถไฟบางปะอินในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ รอรับพระศพ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระศพประดิษฐานเหนือชั้นแว่นฟ้าในเรือพระที่นั่งศรีประภัศรไชยเพื่อเชิญพระศพไปยังพระราชวังบางปะอิน การจัดขบวนเรือครั้งนี้ โปรดฯ ให้จัดขบวนเรือยาวอย่างขบวนเรือถวายผ้าพระกฐิน หลังจากขบวนเรือถึงพระราชวังบางปะอินแล้ว เจ้าหน้าที่เชิญพระศพขึ้นประดิษฐาน ณ พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ เหนือแว่นฟ้าทองคำ 1 ชั้น มีฐานเขียวรอง มีบัวกลุ่มรองพระโกศ ห้อยฉัตรตาดทอง 5 ชั้น แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการบำเพ็ญพระราชกุศลพระศพพระเจ้าลูกเธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี เป็นเวลา 3 วัน ซึ่งถือเป็นงานที่ยิ่งใหญ่มาก จนเป็นที่กล่าวขานในหมู่ชาววังว่า ใครไม่ได้มาร่วมงานในครั้งนี้ถือเป็นคนนอกสังคมชาววัง[16]

พระเมรุของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี บริเวณวัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร

ต่อมา วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2448 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานเชิญพระศพออกจากพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์นำไปประดิษฐานบนเรือพระที่นั่งศรีประภัศรไชยเพื่อเชิญไปพระราชทานเพลิงพระศพ ณ วัดนิเวศธรรมประวัติ เมื่อถึงวัดนิเวศธรรมประวัติ เจ้าพนักงานเชิญพระศพขึ้นประดิษฐานเหนือพระจิตกาธารยอดพระเกี้ยว ประกอบพระโกศจันทน์ หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจุดเพลิงพระราชทานพระศพพระเจ้าลูกเธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี วันรุ่งขึ้นพระองค์เสด็จพระราชดำเนินเก็บพระอัฐิบรรจุลงพระโกศทองคำ แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานเชิญพระอัฐิลงประดิษฐานเหนือบุษบกเรือพระที่นั่งชลวิมานไชย แล้วจึงเชิญขึ้นประดิษฐานในบุษบกทองคำ ณ พระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ เพื่อบำเพ็ญพระกุศลพระอัฐิ หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเจดีย์ซุ้มเรือนแก้วขึ้นภายในวัดนิเวศธรรมประวัติเพื่อใช้บรรจุพระอัฐิของพระเจ้าลูกเธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี

ในงานพระศพครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงฉลองพระองค์สีขาว ซึ่งถือว่าเป็นการพระราชทานพระเกียรติยศแก่พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์นี้อย่างสูง เนื่องจากโดยทั่วไปพระมหากษัตริย์จะทรงฉลองพระองค์สีขาวเฉพาะงานถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระบรมราชบุพการี[17] นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แปลนิทานนิบาตชาดกตอนต้น เพื่อพิมพ์เป็นหนังสือสำหรับแจกในงานพระศพครั้งนี้ ซึ่งแต่เดิมนั้นหนังสือสำหรับแจกในงานศพจะเป็นบทสวดมนต์หรือหนังสือที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา พระองค์จึงมีพระราชดำริว่า หนังสือแจกซึ่งเป็นพระธรรมปริยายที่ลึกซึ้งคนไม่ชอบอ่าน ดังนั้น พระองค์จึงเปลี่ยนเป็นนิทานชาดกแทน พร้อมกันนี้ทรงแนะนำไว้ในคำนำตอนต้นว่า หนังสือแจกควรพิมพ์เรื่องที่คนชอบอ่าน[18]

ใกล้เคียง

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ พระเจ้าอโศกมหาราช พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ

แหล่งที่มา

WikiPedia: พระเจ้าบรมวงศ์เธอ_กรมขุนสุพรรณภาควดี http://www.naewna.com/entertain/87474 http://www.rakbankerd.com/01_jam/thaiinfor/country... http://www.sakulthai.com/DSakulcolumndetailsql.asp... http://www.sakulthai.com/DSakulcolumndetailsql.asp... http://www.sakulthai.com/dsakulcolumnDetailsql.asp... http://www.xn--42c7b2aayi6f1ac1m.com/articles/4215... http://www.matichon.co.th/khaosod/view_news.php?ne... http://www.mfa.go.th/internet/radio/book/Saranrom_... http://www.identity.opm.go.th/identity/doc/nis0522... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2436/03...