การอภิเษกสมรสและทายาท ของ พระเจ้าไชเมที่_1_แห่งอารากอน

พระเจ้าไชเมที่ 1 อภิเษกสมรสสองครั้ง โดยครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ค.ศ. 1221 ในกรานาดา กับเลโอนอร์ พระราชธิดาของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 8 แห่งกัสติยา แต่ต่อมาในปี ค.ศ. 1229 การสมรสถูกประกาศให้เป็นโมฆะด้วยเหตุผลว่าเป็นการสมรสกันในเครือญาติใกล้ชิด ทั้งคู่มีพระราชโอรสด้วยกันหนึ่งคน คือ

  • อัลฟอนโซแห่งอารากอน (ประสูติ ค.ศ. 1222) เป็นทายาทในราชบัลลังก์แต่สิ้นพระชนม์ก่อนพระราชบิดา

พระองค์อภิเษกสมรสครั้งที่สองเมื่อวันที่ 8 กันยายน ค.ศ. 1235 ในบาร์เซโลนา กับโยลาน พระราชธิดาของพระเจ้าอ็อนดราชที่ 2 แห่งฮังการี ทั้งคู่มีพระราชบุตรด้วยกันหลายคน ดังนี้

  • บิโอลันด์แห่งอารากอน (ประสูติ ค.ศ. 1236) อภิเษกสมรสกับพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 10 แห่งกัสติยา
  • กอนส์ตันซาแห่งอารากอน (ประสูติ ค.ศ. 1238) สมรสกับอินฟันเตมานูเอลแห่งกัสติยา
  • ซันชาแห่งอารากอน (ประสูติ ค.ศ. 1239) สิ้นพระชนม์ระหว่างเดินทางไปแสวงบุญในดินแดนศักดิ์สิทธิ์
  • เปโดรมหาราช (ประสูติ ค.ศ. 1240) กษัตริย์แห่งอารากอนและบาเลนเซีย และเคานต์แห่งบาร์เซโลนา
  • ไชเมที่ 2 แห่งมาจอร์กา (ประสูติ ค.ศ. 1243) กษัตริย์แห่งมาจอร์กา
  • อิซาเบลแห่งอารากอน (ประสูติ ค.ศ. 1245) อภิเษกสมรสกับพระเจ้าฟีลิปที่ 3 แห่งฝรั่งเศส
  • ซันโชแห่งอารากอน (ประสูติ ค.ศ. 1247) อาร์ชบิชอปแห่งโตเลโด
  • เฟร์นันโดแห่งอารากอน (ประสูติ ค.ศ. 1248) สิ้นพระชนม์ตอน 3 พรรษา
  • มารีอาแห่งอารากอน (ประสูติ ค.ศ. 1248) แม่ชี

นอกจากนี้พระองค์ยังมีสัมพันธ์ลับกับหญิงสาวหลายคนจนได้รับฉายาว่าเสือผู้หญิง

ในช่วงตั้งแต่ปี ค.ศ. 1248 จนถึง ค.ศ. 1262 พระเจ้าไชเมได้แบ่งราชอาณาจักรให้แก่พระราชโอรสที่เกิดจากโยลานแห่งฮังการี แต่กลับก่อให้เกิดความขัดแย้งกลางเมืองครั้งรุนแรง ในการแบ่งราชอาณาจักรครั้งที่ 2 เปโดร พระราชโอรสคนโตและทายาทของพระองค์ได้อารากอน บาเลนเซีย และกาตาลุญญาไป ส่วนไชเม พระราชโอรสคนรองได้หมู่เกาะแบลีแอริก รูซียง และเคาน์ตีอื่น ๆ ที่อยู่ในเทือกเขาพีรินีไปโดยมีเปโดรเป็นเจ้าศักดินา การแบ่งราชอาณาจักรครั้งนี้ไม่ใช่ความผิดพลาดทางการเมืองเพียงเรื่องเดียวของพระเจ้าไชเม สนธิสัญญากอร์เบล์ (ค.ศ. 1258) ทำให้พระองค์ต้องสละสิทธิ์ในฝรั่งเศสตอนใต้ อันเป็นการทิ้งนโยบายเก่าแก่ของราชวงศ์กาตาลุญญาที่พยายามขยายอำนาจข้ามเทือกเขาพีรินีมาอย่างช้านาน ทว่าพระองค์สามารถพัฒนาความสัมพันธ์และยกระดับการค้ากับรัฐต่าง ๆ ในแอฟริกาเหนือ และสร้างอนาคตที่ชัดเจนให้แก่ราชวงศ์ด้วยการจับเปโดร ทายาทของพระองค์สมรสกับคอนสแตนซ์แห่งซิซิลี ทำให้เพิ่มราชอาณาจักรซิซิลีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของราชบัลลังก์อารากอนได้อย่างง่ายดาย

ในปี ค.ศ. 1276 พระเจ้าไชเมที่ 1 ล้มป่วยหนักและเสด็จสวรรคตในบาเลนเซียในวันที่ 27 กรกฎาคมของปีนั้น หลังการสวรรคตของกษัตริย์ พระราชโอรสคนโตและทายาทของพระองค์ได้สืบทอดตำแหน่งปกครองอารากอน, กาตาลุญญา และบาเลนเซียในชื่อ พระเจ้าเปโดรที่ 3

ใกล้เคียง

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ พระเจ้าอโศกมหาราช พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ