ประติมานวิทยา ของ พระแม่มารีทองแห่งเอสเซิน

อิทธิพล

พระแม่มารีทองเป็นทั้งงานประติมากรรมทั้งที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่ทราบของพระแม่มารีและพระบุตร และเป็นประติมากรรมลอยตัวที่เก่าแก่ที่สุดของทางตอนเหนือของเทือกเขาแอลป์ และเป็นงานหนึ่งในสองชิ้นของงานปิดทองของรูปลักษณ์ของลัทธินิยมของยุคกลาง งานปิดทองหรือหุ้มทองมักจะกล่าวถึงในเอกสารของยุคกลาง และนอกไปจากรูปของนักบุญฟิเดสที่แอบบีที่ Conques en Rouergue ทางตอนใต้ของฝรั่งเศสแล้ว ก็ไม่มีงานอื่นใดที่ยังหลงเหลืออยู่ให้เห็น (พระแม่มารีฮิลเดสไฮม์ถูกลอกแผ่นทองที่ครั้งหนึ่งเคยมีหุ้มออก) และเป็นที่ทราบกันว่าจักรพรรดิชาร์เลอมาญทรงมีกางเขนที่มีพระรูปของพระเยซูขนาดเท่าคนจริงที่ทำด้วยทองที่ชาเปลพาเลไทน์แห่งอาเคิน ที่เป็นงานประเภทเดียวกันชิ้นที่เก่าแก่ที่สุดที่ได้รับการบันทึกไว้เป็นหลักฐาน นอกจากนั้นก็ยังมีพระรูปอื่น ๆ ที่ทำด้วยโลหะมีค่าที่ปัจจุบันสูญหายไปแล้ว ที่ได้รับการบันทึกไว้ในคริสต์ศาสนสถานแองโกล-แซ็กซอนและอื่น ๆ แต่โดยทั่วไปแล้วจะเป็นประติมากรรมพระเยซูตรึงกางเขนที่บางครั้งก็จะขนาบด้วยพระแม่มารีและนักบุญจอห์น เช่นงานที่สร้างโดยสเปียร์ฮาฟ็อคในคริสต์ศตวรรษที่ 11

การที่ประติมากรรมชิ้นนี้เป็นปฏิมากรรมลอยตัวและมีตาเคลือบทำให้เห็นว่าเป็นงานที่มีอิทธิพลจากศิลปะไบแซนไทน์ที่เริ่มเผยแพร่เข้ามาในจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์หลังการอภิเศกสมรสของจักรพรรดิออตโตที่ 2 กับธีโอฟานูผู้เป็นเจ้าหญิงไบแซนไทน์ในปี ค.ศ. 972 แม้ว่างานประติมากรรมขนาดใหญ่เช่นนี้จะมิใช่งานแบบประเพณีนิยมไบแซนไทน์หลังจากสมัยที่เกิดการทำลายรูปเคารพสมัยไบแซนไทน์ขึ้น ลักษณะโดยทั่วไปบ่งให้เห็นว่าประติมากรผู้สร้างงานไม่มีความชำนาญในการแกะสลักปฏิมากรรมลอยตัว เพราะด้านหน้าและหลังดูไม่มีความสมมาตรต่อกัน

ความสำคัญทางศาสนาและการเมือง

งานประติมากรรมพระแม่มารีทองแห่งเอสเซินก็เช่นเดียวกับงานศิลปะยุคกลางอื่น ๆ ที่เป็นงานที่เต็มไปด้วยลักษณะอันซับซ้อนของสามัญสัญลักษณ์ต่าง ๆ พระแม่มารีทรงพระภูษาแบบที่เรียบง่ายขณะที่พระเยซูผู้มีพระวรกายที่ใหญ่กว่าที่ควรบนพระเพลาทรงพระภูษาแบบพระสันตะปาปาอันมีค่า ขนาดเป็นการแสดงถึงความสำคัญของพระเยซูผู้ทรงเป็นผู้มาไถ่บาป ในทางตรงกันข้ามพระแม่มารีทรงเป็นเพียงผู้ดำเนินตามรอยพระบาทตามที่บันทึกในพระวรสารนักบุญลูค 1:38: “ส่วนมารีย์จึงทูลว่า "ดูเถิด ข้าพเจ้าเป็นหญิงคนใช้ขององค์พระผู้เป็นเจ้า ขอให้บังเกิดแก่ข้าพเจ้าตามคำของท่านเถิด" แล้วทูตสวรรค์นั้นจึงจากเธอไป”[1] แต่ในขณะเดียวกันพระองค์ก็ประทับบนบัลลังก์แห่งปัญญาเช่นบัลลังก์โซโลมอนที่บรรยายใน1 พงศ์กษัตริย์ 10:18: “กษัตริย์ทรงกระทำพระที่นั่งงาช้างขนาด ใหญ่ด้วย และทรงบุด้วยทองคำอย่างงามที่สุด”[2] บนพระเพลาเป็นพระบุตรผู้ทรงพระภูษาที่แสดงความเป็นประมุขคนสำคัญของสวรรค์ หนังสือในพระหัตถ์เป็นสัญลักษณ์ของความศรัทธา เมื่อพิจารณากันว่าพระเยซูในยุคกลางจะแสดงเป็นสัญลักษณ์ของผู้สอน ฉะนั้นพระกรขวาที่หายไปก็อาจจะเป็นพระกรที่อยู่ในท่าประทานพร แต่พระพักตร์ของพระเยซูหันไปทางพระแม่มารี แต่สายพระเนตรของพระแม่มารีมองไปทางผู้ชื่นชม ฉะนั้นพระแม่มารีจึงไม่เป็นแต่เพียงผู้ตามที่ไม่มีบทบาท แต่ทรงเป็นเหมือนผู้ประสานระหว่างผู้ศรัทธาและพระมหาไถ่

ความหมายของลูกโลกในพระหัตถ์ขวาของพระแม่มารีตีความกันไปได้หลายอย่าง ที่อาจจะเป็นนัยยะถึง “ลูกโลกประดับกางเขน” ของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ แต่ “ลูกโลกประดับกางเขน” มิได้เป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์จนกระทั่งเมื่อมาถึงการบรมราชาภิเษกของจักรพรรดิคอนราดที่ 2 ในปี ค.ศ. 1024 และการแสดงการถือ “ลูกโลกประดับกางเขน” ก็มักจะถือทั้งมือมิใช่เพียงสามนิ้วตามที่ปรากฏในประติมากรรมชิ้นนี้ ฉะนั้นลูกโลกจึงควรจะเป็น “แอปเปิลแห่งการไถ่บาป” — ทำนองเดียวกับที่อีฟถือแอปเปิลแห่งความชั่วร้ายที่เก็บมาจากต้นไม้แห่งความรู้แห่งความดีและความชั่ว ฉะนั้นพระแม่มารีจึงเชื่อกันว่าทรงเป็นผู้ถือผลแอปเปิลที่เป็นสัญลักษณ์ของการมาแก้บาป โดยการมากำเนิดของพระเยซู พระแม่มารีจึงถือว่าเป็นอีฟของพันธสัญญาใหม่

อีกความหมายหนึ่งของลูกกลมใกล้เคียงกับทฤษฎี “ลูกโลกประดับกางเขน” แม้ว่าจะยังมิได้เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์จนอีกร้อยปีต่อมา แต่ความคิดที่ว่าลูกกลมเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจเหนือโลกเป็นความคิดที่เป็นที่เข้าใจกันแล้วในสมัยที่สร้างงานประติมากรรม การใช้สัญลักษณ์ของอำนาจปรากฏในหนังสือวิจิตรคาโรแล็งเชียงและออตโตเนียน ถ้าว่ากันตามทฤษฎีนี้แล้วพระแม่มารีก็จะเป็นผู้ถือโลกทั้งโลกในอุ้งพระหัตถ์ ในนามของผู้มีอำนาจที่แท้จริงบนพระพระเพลาของพระองค์ — พระบุตร

ภาพพจน์ของมารดาถือสัญลักษณ์ของอำนาจเหนือโลกสำหรับบุตรชายอาจจะเป็นนัยยะของความหมายทางการเมืองที่กว้างไกลในช่วงเวลาที่สร้างงานศิลปะ จักรพรรดิออตโตที่ 2 พระปิตุลาของมาทิลดาเจ้าอาวาสแห่งแอบบีเอสเซินเสด็จสวรรคตในกรุงโรมในปี ค.ศ. 983 ทิ้งราชบัลลังก์ไว้ให้แก่ออตโตพระราชโอรสพระองค์เดียวที่ทรงมีผู้มีพระชนมายุเพียงสามพรรษา พระราชมารดาธีโอฟานูจึงทรงรับหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แก่พระราชโอรสผู้ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิออตโตที่ 3 จนเสด็จสวรรคตในปี ค.ศ. 991 เมื่อทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ธีโอฟานูก็ทรงพยายามป้องกันสิทธิของพระราชโอรสจากการอ้างของเฮนรีที่ 2 ดยุคแห่งบาวาเรีย ฉะนั้นพระแม่มารีทองจึงอาจจะวิเคราะห์ได้ว่าเป็นการแสดงถึงการกระทำของธีโอฟานู “โดยอำนาจของพระเจ้า” ในการต่อสู้เพื่อรักษาอำนาจของพระราชโอรสผู้มีสิทธิโดยชอบธรรมในการปกครองจักรวรรดิ จนเมื่อพระราชโอรสจะทรงบรรลุนิติภาวะ และอาจจะเป็นการอนุมานได้ว่าธีโอฟานูทรงอุทิศประติมากรรมชิ้นนี้ให้แก่แอบบี ในการต่อสู้เพื่อรักษาอำนาจ มาทิดาคงจะเข้าข้างจักรพรรดิออตโตที่ 3 และธีโอฟานู ตระกูลของมาทิลดามีประวัติว่าเป็นคู่อริของเฮนรีมาเป็นเวลานาน และมาทิลดาเองก็เป็นทายาทส่วนตัวของพี่ชายออตโตที่ 1 ดยุคแห่งบาวาเรีย ผู้ที่ในปี ค.ศ. 976 ได้รับอาณาจักรดยุคแห่งบาวาเรียหลังจากการปฏิวัติของเฮนรี อีกประการหนึ่งก็อาจจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่เมื่อจักรพรรดิออตโตที่ 3 เสด็จมาประพาสแอบบีในปี ค.ศ. 993 พระองค์ก็และพระราชทาน “มงกุฎยุวกษัตริย์” ให้แก่แอบบีเพื่อเป็นการแสดงถึงความขอบพระทัยต่อการสนับสนุนของแอบบีเมื่อยังทรงพระเยาว์ก็เป็นได้