ประวัติ ของ พระแม่มารีทองแห่งเอสเซิน

บันทึกจากยุคกลาง

ด้านหน้าด้านตะวันตกของมหาวิหารเอสเซิน

เมื่อใดหรือผู้ใดที่จ้างหรืออุทิศทรัพย์ในการสร้างประติมากรรมชิ้นนี้นั้นไม่เป็นที่ทราบอย่างแน่ชัด และหลักฐานตามลายลักษณ์อักษรที่กล่าวถึงก็แทบจะหาไม่ได้ในช่วงสองร้อยปีแรกที่สร้างขึ้น แต่ที่ทราบแน่คือเป็นงานที่ตกมาเป็นสมบัติของแอบบีในปี ค.ศ. 993 เมื่อจักรพรรดิออตโตที่ 3 เสด็จประพาสแอบบีและพระราชทานมงกุฎ ที่เรียกว่า “มงกุฎยุวกษัตริย์” ที่ยังคงเป็นของมหาวิหารมาจนกระทั่งทุกวันนี้ ตั้งแต่เมื่อมีการกล่าวถึงพระแม่มารีทองเป็นครั้งแรกก็กล่าวถึงว่าได้รับการรักษาไว้ระหว่างการสงคราม ความความขัดแย้งระหว่างสังฆมณฑลโคโลญและลอร์ดแห่งอิเซนแบร์กเกี่ยวกับผู้ใดควรจะมีอำนาจปกครองแอบบีเอสเซินเป็นผลให้อัครสังฆราชเองเกิลแบร์ตที่ 2 แห่งแบร์กถูกฆาตกรรมโดยฟรีดริชแห่งอิเซนแบร์กในปี ค.ศ. 1225 แต่ไม่มีผลกระทบกระเทือนอย่างใดต่อประติมากรรม หรือไม่แม้แต่ระหว่างกรณีที่ต่อเนื่องกันเป็นเวลาหลายร้อยปีที่ว่าเมืองเอสเซินควรจะเป็นราชนครรัฐอิสระหรือควรจะขึ้นต่อแอบบี

ตราอาร์มของเมืองเมืองเอสเซินในปี ค.ศ. 1244 เป็นภาพพระแม่มารีทองขนาบระหว่างนักบุญคอสมาสและดาเมียน เอกสารแรกที่กล่าวถึงพระแม่มารีทองมาจาก “Liber Ordinarius” ของปี ค.ศ. 1370 ที่บรรยายถึงพิธีและการแห่พระรูปอย่างละเอียด คำบรรยายที่กล่าวว่าแคนนอนรับพระแม่มารีทองจากมือของเหรัญญิกเพื่อนำไปแห่เนื่องในโอกาส “วันสมโภชน์ความบริสุทธิ์ของพระแม่มารี” (Purification of the Virgin) ทำให้นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าพระแม่มารีทองได้รับการนำออกมาแสดงต่อสาธารณชนเพียงปีละครั้ง นอกจากนั้นไปแล้วก็เก็บรักษาไว้จากสายตาประชาชน สถานที่เก็บก็สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นด้านหน้าด้านตะวันตกที่มีลักษณะเหมือนป้อมปราการของมหาวิหารเอสเซิน หรือที่ “armarium dictum sychter” ซึ่งเป็นส่วนที่ต่อเติมจากทางเดินกลางตอนใต้

ประติมากรรมเพิ่งมาถูกเรียกว่า “พระแม่มารีทอง” ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 หนังสือศาสนาที่เขียนราวปี ค.ศ. 1370 เพียงแต่บรรยายว่าเป็น “dat gulden bild onser vrouwen” (ไทย: ประติมากรรมทองของพระแม่มารี) การสำรวจทรัพย์สินของแอบบีในปี ค.ศ. 1626 บันทึกว่าเป็น “Noch ein gross Marienbelt, sitzend uff einen sthuell mit lauteren golt uberzogen” (ไทย: ประติมากรรมพระแม่มารีอีกชิ้นหนึ่ง ที่ประทับบนม้านั่งและหุ้มด้วยทองคำแท้)

การย้ายพระรูปหนีภัยและสมัยใหม่ตอนต้น

สงครามสามสิบปีทำให้มีความจำเป็นต้องทำการย้ายพระแม่มารีทองไปซ่อน ในปี ค.ศ. 1634 มาเรีย คลารา ฟอน สเปาร์ พฟลอม และ วาเลอร์เจ้าอาวาสของแอบบีนำหนีไปยังโคโลญพร้อมด้วยทรัพย์สมบัติอื่น ๆ ของแอบบี พระแม่มารีทองจึงอยู่ที่โคโลญจนกระทั่งสงครามสิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1648 ในช่วงเวลานั้นพระแม่มารีทองก็ได้รับการนำเข้าขบวนแห่ในโคโลญ และเป็นงานชิ้นที่เด่นกว่าสมบัติใดของโคโลญ ตามคำกล่าวอ้างของทางแอบบิเอสเซิน

การย้ายพระรูปหนีภัยครั้งที่สองเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1794 ก่อนที่กองทัพของฝ่ายปฏิวัติฝรั่งเศสจะคืบหน้าเข้ามา ครั้งนี้นำไปซ่อนไว้ที่โรงเลี้ยงเด็กกำพร้าใกล้เมืองชตีลเลอ แอบบีเอสเซินถูกยุบในปี ค.ศ. 1803 หลังจากการปฏิรูปดินแดนในเยอรมนี พระแม่มารีทองจึงตกไปเป็นของวัดเซนต์โยฮันน์ซึ่งเป็นวัดประจำท้องถิ่นที่ใช้ตัวแอบบีเดิมเป็นวัด ตลอดคริสต์ศตวรรษที่ 19 ประติมากรรมก็ถูกล็อกรักษาไว้ในสังฆทรัพยคูหาและแทบจะไม่ได้รับการตรวจหรือศึกษาโดยนักประวัติศาสตร์ศิลป์

คริสต์ศตวรรษที่ 20

พระแม่มารีทองอยู่ที่เอสเซินตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แต่หลังจากนั้นก็ถูกย้ายหนีอีก หลังจากการปฏิวัติโดยคอมมิวนิสต์ในบริเวณรูห์ในฤดูร้อนของปี 1920 แล้วเจ้าหน้าที่ของวัดเซนต์โยฮันน์ก็กลัวว่าจะเกิดความไม่สงบขึ้นอีก จึงได้ตัดสินใจหาทางซ่อนพระแม่มารีทองในที่ที่ปลอดภัยและต้องไม่เป็นที่ทราบโดยนักบวชเองด้วย ทั้งนี้เพื่อป้องกันการยักยอกหรืออื่น ๆ เจ้าหน้าที่จึงสั่งให้ช่างทองจากอาเคินให้หาที่ให้ ช่างทองทำการตกลงกับสังฆมณฑลอีกแห่งหนึ่งว่าจะทำการซ่อนพระแม่มารีทองและทรัพย์สินอื่น ๆ ที่เคยเป็นของแอบบีเอสเซินในสถานที่ที่ตนเองและผู้ได้รับมอบหมายเท่านั้นที่จะทราบ แม้แต่พระสังฆราชก็ทราบเพียงแต่แผนการคร่าว ๆ และไม่ทราบสถานที่แท้จริงที่จะทำการซ่อน เอกสารบรรยายรายละเอียดของที่ซ่อนนำไปฝากไว้ที่สังฆมณฑลดัตช์ในกรณีที่คนกลางถูกสังหาร แผนการดังกล่าวเป็นแผนที่รัดกุมเป็นอันมากจนกระทั่งแม้ในปัจจุบันก็ยังไม่เป็นที่ทราบว่าที่ซ่อนในช่วงนั้นคือที่ใด แต่ที่ทราบคือได้รับการบรรจุในกระเป๋าเดินทางกระดาษเก่า ๆ และถูกนำไปยังสถานที่ที่ตั้งอยู่ในสังฆมณฑลฮิลเดสไฮม์ เอกสารบรรยายรายละเอียดของที่ซ่อนไว้ที่สังฆมณฑลดัตช์ก็ได้รับการทำลายหลังจากที่ได้นำพระรูปกลับมายังเอสเซินโดยปลอดภัยในปี ค.ศ. 1925 เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองสงบลง เมื่อนำกลับช่างทองและบุตรชายก็ไปนำพระรูปจากที่ซ่อน นั่งรถไฟชั้นสี่และถือพระรูปที่อยู่ในกระเป๋าถือธรรมดา

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ทรัพย์สินของเอสเซินถูกนำไปซ่อนที่วอร์ชไตน์ก่อน ต่อมาที่ปราสาทอัลเบร็คท์สบวร์กในแซกโซนี และในที่สุดก็ถูกนำไปซ่อนไว้ในหลุมหลบภัยทางอากาศที่ซีก จนกระทั่งมาพบโดยทหารอเมริกันเมื่อปลายสงคราม ในเมื่อสังฆทรัพยคูหาที่เอสเซินถูกทำลายโดยลูกระเบิดระหว่างสงคราม พระแม่มารีทองจึงมิได้รับการนำกลับจนกระทั่งคริสต์ทศวรรษ 1950 ก่อนที่จะนำกลับก็ถูกนำไปตั้งไว้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งรัฐแห่งเฮสเซียนที่มาร์บวร์ก ต่อมาที่ปราสาทดิคใกล้เรย์ดท ตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1949 ก็ตั้งแสดงอยู่ในงานแสดงศิลปะที่บรัสเซลส์ ต่อมาจนกระทั่งเดือนตุลาคมที่อัมสเตอร์ดัม และในที่สุดก็กลับมายังเอสเซิน จนกระทั่งการก่อสร้างมหาวิหารเอสเซินเสร็จ พระแม่มารีทองก็ได้รับการเก็บรักษาไว้ในห้องนิรภัยของธนาคารที่เอสเซิน ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาพระแม่มารีทองก็ประทับอยู่ที่เอสเซินตลอดมา