ลักษณะ ของ พระแม่มารีทองแห่งเอสเซิน

รายละเอียด

พระแม่มารีของประติมากรรมชิ้นนี้ประทับบนม้านั่งโดยมีพระเยซูที่มีขนาดใหญ่กว่าสัดส่วนเล็กน้อยบนพระเพลา พระองค์ทรงทูนิคแขนยาวรัดพระองค์คลุมด้วยผ้าคลุมพาลลาที่โอบรอบพระองค์ขึ้นไปบนพระพาหา บนพระเศียรเป็นผ้าคลุมผมที่ชายอยู่ภายใต้พาลลา ในพระหัตถ์ขวาเป็นลูกโลกที่ทรงชูไว้ด้วยหัวแม่มือและนิ้วสองนิ้ว ขณะที่พระกรซ้ายทรงประคองพระบุตรผู้ทรงเครื่องทรงอย่างพระสันตะปาปา ในอ้อมกรซ้ายของพระเยซูเป็นหนังสือที่ดูเหมือนหน้าปกจะประดับด้วยอัญมณี

ประติมากรรมสูง 74 เซนติเมตร โดยมีฐานกว้าง 27 เซนติเมตร แกนประติมากรรมสลักจากไม้ชิ้นเดียวที่น่าจะเป็นไม้จากต้นพ็อพพลา แต่นักประวัติศาสตร์ศิลป์ก่อนหน้านั้นสรุปว่าเป็นไม้จากต้นแพร์, พลัม หรือ ไลม์ ผิวหุ้มด้วยทองคำเปลวทั้งองค์ที่หนาเพียง 0.25 มิลิเมตรที่ยึดด้วยตาปูทองขนาดจิ๋ว ขนาดของแผ่นทองที่ใช้ก็ต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับบริเวณที่ใช้บนองค์ประติมากรรม ทั้งพระพักตร์ของทั้งพระแม่มารีและพระบุตรใช้ทองเพียงแผ่นเดียว สีพระเนตรเคลือบด้วยคลัวซอนเน พระเนตรของพระแม่มารีลึกลงไปในเบ้าที่แกะไว้ แต่พระเนตรของพระบุตรเพียงแต่ปะทับไว้เฉย ๆ มือของพระบุตรทำด้วยเงินหล่อและเพิ่งมาสร้างต่อเติมในคริสต์ศตวรรษที่ 14 พระหัตถ์ขวาเดิมสูญหายไป ร่องรอยของการตกแต่งเดิมจากคริสต์ศตวรรษที่ 10 พบบนลูกโลก, บนขาหลังขวาของม้านั่ง และบนหนังสือ และ บนรัศมี เข็มกลัดรูปอินทรีที่ตรึงเสื้อคลุมของพระแม่มารีเป็นงานที่มาเพิ่มเติมในคริสต์ศตวรรษที่ 13 เข็มกลัดตรึงภายใต้งานกอธิคมีอายุมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 14

การอนุรักษ์

“พระแม่มารีทองแห่งเอสเซิน” ได้รับการบูรณะเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1905 เมื่อมาถึงเวลานั้นแก่นไม้ก็พรุนไปด้วยรูไชของหนอนไม้และแทบจะทำให้งานประติมากรรมทรุดฮวบลงมา นักอนุรักษ์จึงทำการหล่ออย่างระมัดระวังในแม่พิมพ์พลาสเตอร์, พ่นรูพรุนเพื่อกำจัดผงที่เกิดจากการไชชอนของหนอน, ชุ่มด้วยยาฆ่าแมลง และอุดด้วยส่วนผสมที่เป็นกาว, ชอล์ค และ น้ำ กระบวนการเป็นไปอย่างละเอียดละออเพื่อให้เข้าถึงทุกซอกทุกมุมเท่าที่จะเข้าถึงได้ จากนั้นก็อุดรูบนผิวของเนื้อไม้ด้วยตาปูที่ทำด้วยไม้โอ้ค การบูรณะเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 3,200 มาร์คทองที่ส่วนหนึ่งจ่ายโดยรัฐปรัสเซีย

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง “พระแม่มารีทองแห่งเอสเซิน” ได้รับความเสียหายจากการพยายามรีบขนย้ายหนี ที่ทำให้แผ่นทองหลายแผ่นหลุดจากผิด ซึ่งทำให้หนอนไม้เข้าไปทำการไชชอนได้อีกครั้ง การบูรณะครั้งที่สองทำโดยคลาสเซินช่างทองชาวเอสเซิน ผู้รมประติมากรรมด้วยยาฆ่าแมลงและอุดรูด้วย “ไม้เหลว” (liquid wood) หรือพลาสติกที่ใช้กันโดยทั่วไปในการซ่อมอนุรักษ์งานไม้

การบูรณะครั้งล่าสุดทำเมื่อปี ค.ศ. 2004 ภายในมหาวิหาร โดยมีการตั้งห้องอนุรักษ์ภายในสังฆทรัพยคูหา เพื่อตรวจสภาพของประติมากรรมโดยการฉายรังสีเอกซ์และการส่องกล้องเพื่อตรวจสอบช่องหรือรูภายในประติมากรรม นอกจากนั้นก็ได้นำตัวอย่างไม้ และ สิ่งสกปรกที่เกาะไปทำการวิจัยทางเคมี ผู้เชี่ยวชายให้คำแนะนำว่างานประติมากรรมควรจะรักษาไว้ในสถานที่ที่มีการควบคุมอุณหภูมิและไม่ควรจะเป็นบริเวณที่ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวได้ นักอนุรักษ์ปฏิสังขรณ์ไม้ริอา เริททิงเกอร์ และ มิคาเอลา ฟอน เวลคทำการซ่อมส่วนที่เป็นม้านั่ง และ ช่างเงินปีเตอร์ โบลจ์ทำการขัดผิวที่เป็นโลหะ และ พระหัตถ์ขวาที่ทำด้วยเงินของพระบุตรที่ดำลงไปให้วาววามขึ้น