กระบวนการแปล ของ พระไตรปิฎกภาษาจีน

เสถียร โพธินันทะ ผู้เชี่ยวชาญด้านพุทธศาสนา ได้แบ่งระยะกาลแปลคัมภีร์อย่างกว้างๆ ได้ 4 สมัย คือ

1. สมัยราชวงศ์ฮั่นยุคหลังถึงต้นราชวงศ์ถัง (พ.ศ. 610- 1273) ในระยะเวลา 663 ปี นี้ มีธรรมทูตทำงานแปลรวม 176 ท่าน ผลิตคัมภีร์ 968 คัมภีร์ 4,507 ผูก

2. สมัยกลางราชวงศ์ถัง ถึงราชวงศ์ถังตอนปลาย (พ.ศ. 1273 - 1332) มีธรรมทูต ทำงานแปล 8 ท่าน

3. สมัยปลายราชวงศ์ถัง ถึงต้นราชวงศ์ซ่ง (พ.ศ. 1332 - 1580) มีธรรมทูตทำงาน แปล 6 ท่าน

4. สมัยราชวงศ์ซ่ง ถึงราชวงศ์หยวน (พ.ศ. 1580 - 1828) มีธรรมทูตทำงานแปล 4 ท่าน

ในจำนวนธรรมทูต 4 สมัย 194 ท่านนี้ ผู้มีเกียรติคุณเด่นมีรายนามต่อไปนี้ อันซื่อกาว, ธรรมกาละ, ธรรมนันทิ, อภยะ, ธรรมรักษ์ศิริมิตร, สังฆเทวะ, กุมารชีพ, ปุณยาตระ, พุทธยศ, พุทธชีวะ, พุทธภัทร, สังฆภัทร, คุณภัทร, โพธิรุจิ, ปรมัตถะ, กาลยศ, ธรรมมิตร, พุทธคุปตะ, สังฆปาละ, ฝ่าเซียน, เสวียนจั้ง, เทพหาร, ศึกษานันทะ, อี้จิง, วัชรโพธิ, สุภกรสิงหะ, อโมฆวัชระ, ปรัชญา, ธรรมเทวะ, สันติเทวะ, ทานปาละ เป็นต้น ในบรรดาท่านเหล่านี้ มีพิเศษอยู่ 5 ท่านที่ได้รับยกย่องว่าเป็น “นักแปลคัมภีร์อันยิ่งใหญ่” คือ

1. พระกุมารชีพ (鸠摩罗什) เลือดอินเดียผสมคุจะ (龟兹) มาประเทศจีนเมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ 9 แปลคัมภีร์ 74 ปกรณ์ 384 ผูก

2. พระปรมารถะ (真諦) ชาวอินเดียแคว้นอุชเชนี มาประเทศจีนเมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ 10 แปลคัมภีร์ 64 ปกรณ์ 278 ผูก

3. พระสมณะเสวียนจั้ง (玄奘) ชาวมณฑลเหอหนาน จาริกไปอินเดียศึกษา พระธรรมวินัยเมื่อ พ.ศ. 1172 กลับประเทศจีนเมื่อ พ.ศ. 1188 แปลคัมภีร์ 74 ปกรณ์ 1330 ผูก (หรือ 1325 หรือ 1335 ผูกไม่แน่)

4. พระสมณะอี้จิง (义净) ชาวเมืองฟันหยาง จาริกไปอินเดียศึกษาพระธรรมวินัย เมื่อ พ.ศ. 1214 กลับประเทศจีน เมื่อ พ.ศ. 1237 แปลคัมภีร์ 56 ปกรณ์ 230 ผูก

5. พระอโมฆวัชระ (不空) เชื้อสายอินเดียเหนือ แปลคัมภีร์เมื่อ พ.ศ. 1289 - 1314 จำนวน 77 ปกรณ์ 101 ผูก[6]

พระเสวียนจั้ง หรือพระถังซัมจั๋ง

งานถ่ายทอดพระธรรมวินัยดังพรรณนานี้ได้รับพระบรมราชูปถัมภ์จากพระมหากษัตริย์จึงสามารถดำเนินไปได้โดยเรียบร้อย พระเจ้าแผ่นดินมีพระราชโองการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานขึ้นคณะหนึ่ง มีการแบ่งหน้าที่เป็นแผนกหรือตำแหน่งดังนี้

1. ประธานในการแปล ต้องเป็นผู้รอบรู้ในภาษาสันสกฤตหรือภาษาอินเดียภาค ต่างๆ รวมทั้งภาษาเอเซียกลางด้วย เป็นผู้ควบคุมพระคัมภีร์ที่แปลโดยตรง

2. ล่ามในการแปล ได้แก่ผู้รู้ภาษาสันสกฤตหรือภาษาของท่านธรรมทูต และภาษาจีนดี ฟังคำอธิบายในข้อความในคัมภีร์สันสกฤตจากผู้เป็นประธานแล้ว ก็แปลเป็นภาษาจีน โดยมุขปาฐะ สำหรับล่ามนั้นไม่จำเป็นต้องใช้เสมอไป ถ้าประธานมีความรู้ในภาษาจีน

3. ผู้บันทึก ได้แก่ผู้คอยจดคำแปลของล่ามลงเป็นอักษรจีน ถ้าประธานแตกฉานใน อักษรศาสตร์จีนดีก็ไม่ต้อง เพราะเขียนเองได้

4. ผู้สอบต้นฉบับ ได้แก่ผู้ตรวจสอบ ผู้ทานดูข้อความแปลที่จดไว้จะตรงกับต้นฉบับหรือไม่

5. ผู้ตกแต่งทางอักษรศาสตร์ ได้แก่ผู้มีหน้าที่ตกแต่งภาษาจีนซึ่งแปลจดไว้แล้วให้ สละสลวยถูกต้องตามลีลาไวยากรณ์ของจีน ฟังไม่เคอะเขินหรือกระด้างหู ทั้งนี้เพราะล่ามก็ดี ผู้บันทึกก็ดี จำต้องรักษาถ้อยคำให้ตรงกับต้นฉบับ ซึ่งในบางกรณีลีลาโวหารอาจกระด้าง หรือไม่หมดจดก็ได้

6. ผู้สอบอรรถรส ได้แก่ผู้มีหน้าที่ตรวจสอบฉบับแปลจีนนั้นให้มีอรรถรสตรงกันกับต้นฉบับโดยสมบูรณ์ทุกประการ

7. ผู้ทำหน้าที่ธรรมาภิคีติ ได้แก่การสวดสรรเสริญสดุดีคุณพระรัตนตรัย ก่อนที่จะเริ่มงานแปลทุกวาระ หรือสวดสาธยายข้อความ ในพระคัมภีร์ที่แปลนั้น พูดง่ายๆ ก็คือเจ้าหน้าที่พิธีการนั่นเอง

8. ผู้ตรวจปรู๊ฟ เมื่อเขาแปลและจดกันเป็นที่เรียบร้อยหมดจดทุกอย่างแล้ว ก็ปรู๊ฟกันอีกทีหนึ่งเพื่อให้ถูกต้องกันผิดพลาด หากจะมีอะไรหลงหูหลงตาบ้าง

9. เจ้าหน้าที่ฝ่ายราชการ ซึ่งจะต้องเป็นขุนนางผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ มีหน้าที่คอยดูแลให้มีจตุปัจจัยสมบูรณ์ และคอยอุปการะถวายความสะดวกแก่คณะกรรมการ ตลอดจนเป็นผู้กราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวให้ทรงทราบถึงผลงาน บางครั้งเมื่อคัมภีร์ปกรณ์หนึ่งๆ แปลจบลง ก็นำถวายขอพระราชนิพนธ์บทนำ[7]

ใกล้เคียง

พระไตรปิฎกภาษาจีน พระไตรปิฎกภาษาบาลี พระไตรปิฎก พระไตรปิฎกภาษาทิเบต พระไตรปิฎกฉบับซีเซี่ย พระไตรโลกยวิชัย พระไชยบูลย์ ธมฺมชโย พระไกรสรราช (สิงห์ ไตรยวงค์) พระตำหนักในพระราชวังดุสิต พระไพศาล วิสาโล

แหล่งที่มา

WikiPedia: พระไตรปิฎกภาษาจีน http://hi.baidu.com/zgfjbd/archive/tag/%E6%88%BF%E... http://fo.ifeng.com/zhuanti/shijiefojiaoluntan2/li... http://www.jinmajia.com/lyzt/201109/dzj/index_en.s... http://www.chinaknowledge.de/History/Song/song-rel... http://mbingenheimer.net/publications/agamaLit.pdf http://www.suttaworld.org/Collection_of_Buddhist/C... http://whc.unesco.org/archive/advisory_body_evalua... http://www.wdl.org/en/item/3018/ http://mahamakuta.inet.co.th/tipitaka/tipitaka3/ti... http://taiwanpedia.culture.tw/en/content?ID=1765