เนื้อหา ของ พระไตรปิฎกภาษาจีน

พระไตรปิฏกจีน บรรจุเนื้อหามากมายมหาศาล เพราะรวบรวมเอาพระธรรมวินัยของนิกายเถรวาท และนิกายต่างๆ ของพุทธศาสนายุคต้นเอาไว้ด้วย โดยเรียกว่า “อาคม” หรือที่ในพระไตรปิฎกบาลีเรียกว่า “นิกาย” เช่น ทีรฆาคม คือ ทีฆนิกาย เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีฝ่ายอภิธรรมของนิกายต่างๆ พระสูตรจำเพาะของฝ่ายมหายาน ข้อเขียน หรือศาสตร์ต่างๆ ที่รจนาโดยคณาจารย์ฝ่ายมหายาน รวมถึงปกรณ์พงศาวดาร ประวัติศาสตร์พุทธศาสนาตั้งแต่ยุคต้นที่อินเดีย จนถึงยุคต้นในจีน นอกจากนี้ ยังมีคัมภีร์และธารณีของฝ่ายมนตรายานเช่นกัน

จากการศึกษาของเสถียร โพธินันทะ ได้แบ่งหมวดหมู่ของพระไตรปิฎกภาษาจีน ดังต่อไปนี้

หมวดพระวินัยปิฎก (律藏)

1. ทศภาณวารสรวาสติวาทวินัย 60 ผูก พระวินัยปิฎกของนิกายสรวาสติวาทิน แปลสู่ภาษาจีนโดยพระปุณยาตระ, พระกุมารชีพ, พระธรรมรุจิ, พระวิมลรักษ์ รวม 4 รูป เมื่อ พ.ศ. 947 - 950 ต่อมาสมณะอี้จิงได้แปลวินัยปกรณ์ของนิกายนี้อีก 15 ปกรณ์ ซึ่ง ส่วนมากเป็นเรื่องปลีกย่อย ว่าด้วยเรื่องอุปสมบทกรรม, การจำพรรษา, เภสัชชะและเรื่องสังฆเภทเป็นต้น

2. จตุรอัธยายธรรมคุปตวินัย 60 ผูก พระวินัยปิฎกของนิกายธรรมคุปต์แปลสู่ ภาษาจีน โดยพระพุทธยศ เมื่อ พ.ศ. 953

3. มหาสังฆิกวินัย 30 ผูก พระวินัยปิฎกของนิกายมหาสังฆิกะ แปลสู่ภาษาจีนโดย พระพุทธภัทรกับสมณะฝ่าเซียน เมื่อ พ.ศ. 963 - 965

4. ปัญจอัธยายมหิศาสกวินัย 30 ผูก พระวินัยปิฎกของนิกายมหิศาสกะ แปลสู่ภาษาจีน โดย พระพุทธชีวะ กับ สมณะต้าวเซิง เมื่อ พ.ศ. 966

5. สมันตปาสาทิกาวินัยอรรถกถา 18 ผูก เป็นอรรถกถา พระวินัยปิฎกนิกายเถรวาท แปลสู่ภาษาจีนโดยพระสังฆภัทรเมื่อ พ.ศ. 1032 แต่เป็นฉบับย่อไม่มีพิสดาร เช่น ต้นฉบับบาลี

6. ปาฏิโมกข์ศีลสูตรของนิกายกาศยปิยะ เป็นเพียงหนังสือสั้นๆ มิใช่พระวินัยปิฎกทั้งหมด

หมวดพระสุตตันตปิฎก (經藏)

1. เอโกตตราคม 51 ผูก คือ อังคุตตรนิกายของนิกายสรวาสติวาทิน แปลสู่ภาษาจีนโดยพระธรรมนันทิเมื่อ พ.ศ. 927

2. มัธยามาคม 60 ผูก มัชฌิมนิกาย ของนิกายสรวาสติวาทิน แปลสู่ภาษาจีนโดยพระสังฆรักษกับพระสังฆเทวะเมื่อ พ.ศ. 941

3. ทีรฆาคม 22 ผูก ทีฆนิกายของนิกายธรรมคุปต์ แปลสู่ภาษาจีน โดยพระพุทธยศเมื่อ พ.ศ. 956

4. สังยุกตาคม 50 ผูก สังยุตตนิกายของนิกายมหิศาสกะ แปลสู่ภาษาจีน โดยพระคุณภัทรเมื่อ พ.ศ. 986

หมวดพระอภิธรรมปิฎก (論藏)

ส่วนประเภทพระอภิธรรมปิฎก และคัมภีร์ประเภทศาสตร์หรือปกรณ์วิเศษของนิกายต่าง ๆ ก็มีมาก เช่น อภิธรรมสังคีติบรรยายปาทศาสตร์ 20 ผูก, อภิธรรมสกันธปาทศาสตร์ 12 ผูก, อภิธรรมวิชญานกายปาทศาสตร์ 16 ผูก, อภิธรรมปกรณะปาทศาสตร์ 18 ผูก, อภิธรรมมหาวิภาษาศาสตร์ 200 ผูก, อภิธรรมนยายนุสารศาสตร์ 80 ผูก, อภิธรรมปกรณศาสนศาสตร์ 40 ผูก, อภิธรรมหฤทัยศาสตร์ 4 ผูก, สังยุกตาภิธรรมหฤทัย ศาสตร์ 11 ผูก, ปกรณ์เหล่านี้เป็นของนิกายสรวาสติวาทิน, อภิธรรมโกศศาสตร์ 20 ผูก, คัมภีร์นี้ระคนด้วยลัทธิในนิกายสรวาสติวาทิน กับนิกายเสาตรันติกวาทิน, สารีปุตราภิธรรม 30 ผูก ของนิกายวิภัชวาทิน, อภิธรรมสัตยสิทธิวยกรณศาสตร์ 16 ผูก ของนิกายมหาสังฆิกะหรือนิกายเสาตรันติก หรือนิกายพหุสุตวาทยังไม่แน่นอน จตุราริยสัจจปกรณ์ 4 ผูก, และคัมภีร์วิมุตติมรรค 12 ผูก, คุณวิภังคนิทเทศศาสตร์ 3 ผูก ของนิกายมหาสังฆิกะ, สัมมิติยะศาสตร์ 2 ผูก ของนิกายสัมมิติยะ ฯลฯ

นอกจากนี้ ในหนังสือประมวลสารัตถะพระไตรปิฎก แต่งครั้งราชวงศ์หยวน ราวพุทธศตวรรษที่ 18 ได้บอกจำนวนคัมภีร์ในพระไตรปิฎกจีนพากย์ไว้ดังนี้

1. พระสูตรฝ่ายมหายาน 897 คัมภีร์ 2,980 ผูก

2. พระวินัยฝ่ายมหายาน 28 คัมภีร์ 56 ผูก

3. ศาสตร์ฝ่ายมหายาน 118 คัมภีร์ 628 ผูก

4. พระสูตรฝ่ายสาวกยาน 291 คัมภีร์ 710 ผูก

5. พระวินัยฝ่ายสาวกยาน 69 คัมภีร์ 504 ผูก

6. ศาสตร์ฝ่ายสาวกยาน 38 คัมภีร์ 708 ผูก

รวมทั้งสิ้นเป็น 1,441 คัมภีร์ 5,586 ผูก[2]

อย่างไรก็ตาม จำนวนคัมภีร์ในพระไตรปิฎกจีนพากย์นี้ มีการชำระกันหลายครั้งหลายคราว จำนวนคัมภีร์กับจำนวนผูกเปลี่ยนแปลงไม่เสมอกันทุกคราว ในหนังสือว่าด้วยสารัตถะความรู้จากการศึกษพระไตรปิฎกแต่งครั้งราชวงศ์หมิง ได้แบ่งหมวดพระไตรปิฎก เพื่อสะดวกแก่การศึกษาดังนี้

หมวดอวตังสกะ 華嚴部

หมวดนี้มีพระสูตรใหม่สูตรหนึ่งเป็นหัวใจคือ พุทธาวตังสกมหาไวปุลยสูตร หรือ อวตังสกสูตร 80 ผูก และมีสูตรปกิณณะย่อย ๆ อีกหลายสูตร

หมวดไวปุลยะ

มีพระสูตรใหญ่ชื่อมหารัตนกูฏสูตร 120 ผูก เป็นหัวใจ นอกนั้นก็มีมหาสังคีติสูตร 10 ผูก, มหายานโพธิสัตว์ปิฎกสูตร 20 ผูก, ตถาคตอจินไตยรหัศยมหายานสูตร 30 ผูก, สุวรรณประภาสสูตร 10 ผูก, กรุณาปุณฑริกสูตร 11 ผูก, มหายานมหาสังคีติกษิติครรภทศจักรสูตร 10 ผูก, มหาไวปุลยมหาสังคีติโพธิสัตวพุทธานุสสติสมาธิสูตร 10 ผูก, จันทรประทีปสมาธิสูตร 11 ผูก, ลังกาวตารสูตร 7 ผูก, สันธินิรโมจนสูตร 5 ผูก, วิเศษจินดาพรหมปุจฉาสูตร 4 ผูก, อักโษภยพุทธเกษตรสูตร 2 ผูก, ไภษัชยคุรุไวฑูรย์ประภาสปูรวประณิธานสูตร 2 ผูก, มโยปมสมาธิสูตร 3 ผูก, ศรีมาลาเทวีสิงหนาทสูตร 1 ผูก, อมิตายุรธยานสูตร 1 ผูก, มหาสุขาวดีวยูหสูตร 2 ผูก, อจินไตยประภาสโพธิสัตวนิทเทสูตร 1 ผูก, ศูรางคมสมาธิสูตร 3 ผูก, วิมลกีรตินิทเทศสูตร 3 ผูก, และอื่นๆ อีกมากสูตรนัก ฯลฯ อนึ่งคัมภีร์ฝ่ายลัทธิมนตรยานก็จัดสงเคราะห์ลงในหมวดไวปุลยะนี้ มีพระสูตรสำคัญ เช่น มหาไวโรจนสูตร 7 ผูก, เอกอักขระพุทธอุษฯราชาสูตร 6 ผูก, มหามณีวิปุลยะวิมาน วิศวศุภประดิษฐานคุหยปรมรหัสยะกัลปราชธารณีสูตร 3 ผูก, สุสิทธิกรสูตร 3 ผูก, วัชร เสขรสูตร 7 ผูก, โยคมหาตันตระราชาสูตร 5 ผูก, มหามรีจิโพธิสัตวสูตร 7 ผูก, วัชรเสขระประโยคโหมตันตระ 1 ผูก, มหาสุวรรณมยุรีราชาธารณีสูตร 2 ผูก ฯลฯ

หมวดปรัชญา 般若部

มีพระสูตรใหญ่ ชื่อมหาปรัชญาปารมิตาสูตร 600 ผูก เป็นหัวใจ และมีสูตรปกิณณะ เช่น ราชไมตรีโลกปาลปารมิตาสูตร 2 ผูก, วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร 1 ผูก เป็นอาทิ ฯลฯ

หมวดสัทธรรมปุณฑริก 法華部

มีพระสูตรใหญ่ชื่อสัทธรรมปุณฑริกสูตร 8 ผูก เป็นหัวใจ และมีสูตรปกิณณะ เช่น อนิวรรตธรรมจักรสูตร 4 ผูก, วัชรสมาธิสูตร 2 ผูก, มหาธรรมเภรีสูตร 2 ผูก, สมันตภัทรโพธิสัตวจริยธรรมธยานสูตร 1 ผูก เป็นอาทิ ฯลฯ

หมวดปรินิรวาณ 涅槃部

มีพระสูตรใหญ่ ชื่อมหาปรินิรวาณสูตร 40 ผูก เป็นหัวใจ มีสูตรปกิณณะ เช่น มหากรุณาสูตร 5 ผูก, มหามายาสูตร 2 ผูก, มหาเมฆสูตร 4 ผูก, อันตรภาวสูตร 2 ผูก เป็น อาทิ ฯลฯ

พระวินัยลัทธิมหายาน

ลัทธิมหายานมิได้มีภิกขุปาฏิโมกข์เป็นเอกเทศ คงปฏิบัติวินัยบัญญัติตามพระปาฏิโมกข์ของฝ่ายสาวกยาน ที่แตกต่างจากฝ่ายเถรวาท คือ โพธิสัตวสิกขา เพราะลัทธิมหายานสอนให้มุ่งพุทธิภูมิ บุคคลจึงต้องประพฤติโพธิจริยา มีศีลโพธิสัตวเป็นที่อาศัย วินัยโพธิสัตวนี้สาธารณทั่วไปแม้แก่ฆราวาสชนด้วย มีโพธิสัตวกุศลศีลสูตร 9 ผูก, พุทธ ปิฏกสูตร 4 ผูก, พรหมชาลสูตร (ต่างฉบับกับบาลี) 2 ผูก, โพธิสัตวศีลมูลสูตร 1 ผูก และอื่นๆ อีก พึงสังเกตว่าเรียกคัมภีร์เหล่านี้ว่า “สูตร” มิได้จัดเป็นปิฎกหนึ่งต่างหาก อรรถกถาพระสูตรของคันถรจนาจารย์อินเดียมี 33 ปกรณ์ เช่น มหาปรัชญาปารมิตาศาสตร์ 100 ผูก แก้คัมภีร์มหาปรัชญาปารมีตาสูตร, ทศภูมิวิภาษาศาสตร์ 15 ผูก, สัทธรรมปุณฑริกสูตรอุปเทศ 2 ผูกเป็นอาทิ อรรถกถาพระสูตรของคันถรจนาจารย์จีนมี 38 ปกรณ์ เช่น อรรถกถาพุทธาวตังสกมหาไพบูลยสูตร 60 ผูก และปกรณ์ ประเภทเดียวกันอีก 5 คัมภีร์ นอกนั้นมีอรรถกถาลังกาวตารสูตร 8 ผูก, อรรถกถาวิมล กีรตินิทเทศสูตร 10 ผูก, อรรถกถาสุวรรณประภาสสูตร 6 ผูก, อรรถกถาสัทธรรม ปุณฑริกสูตร 20 ผูก, อรรถกถามหาปรินิรวาณสูตร 33 ผูก เป็นอาทิ

ปกรณ์วิเศษของคันถรจนาจารย์อินเดีย

มี 104 ปกรณ์ เช่น โยคาจารภูมิศาสตร์ 100 ผูก, ปกรณารยวาจาศาสตร์การิกา 20 ผูก, มหายานอภิธรรมสังยุกตสังคีคิศาสตร์ 16 ผูก, มหายานสัมปริครหศาสตร์ 3 ผูก, มัธยานตวิภังคศาสตร์ 2 ผูก เหตุวิทยาศาสตร์ 1 ผูก, มหายสนศรัทโธตปาทศาสตร์ 2 ผูก, มาธยมิกศาสตร์ 2 ผูก, ศตศาสตร์ 2 ผูก, มหายานวตารศาสตร์ 2 ผูก, มหายาน โพธิสัตวศึกษาสังคีติศาสตร์ 11 ผูก, มหายานสูตราลังการ 15 ผูก, ชาตกมาลา 10 ผูก, มหาปุรุษศาสตร์ 2 ผูก, สังยุกตอวทาน 2 ผูก ทวาทศทวารศาสตร์ 1 ผูก นอกนั้นก็เป็นปกรณ์สั้นๆ เช่น วิชญาณมาตราตรีทศศาสตร์, วีศติกวิชญานมาตราศาสตร์, อลัมพนปริกษศาสตร์, อุปายหฤทัยศาสตร์, หัตถธารศาสตร์, วิชญานประวัตรศาสตร์, วิชญานนิทเทศศาสตร์, มหายานปัญจสกันธศาสตร์เป็นอาทิ

ปกรณ์วิเศษของคันถรจนาจารย์จีน

มี 14 ปกรณ์เป็นคัมภีร์ประเภทฎีกาแก้ปกรณ์วิเศษรจนา โดยคันถรจนาจารย์ อินเดียมี 11 ปกรณ์ รจนาโดยคันถรจนาจารย์จีนมี 18 ปกรณ์ คัมภีร์ปกิณกคดีที่อธิบายหลักธรรมบ้างที่เป็นประวัติบ้าง ของคันถรจนาจารย์อินเดียรวบรวมไว้ก็ดี รจนาขึ้นใหม่ก็ดี มีทั้งของลัทธิอื่นๆ ด้วย รวม 50 ปกรณ์ อาทิเช่นพุทธจริต 5 ผูก, ลลิตวิสตระ 20 ผูก, นาคเสนภิกษุสูตร (มิลินทปัญหา) 3 ผูก, อโศกอวทาน 5 ผูก, สุวรรณสัปตติศาสตร์ของลัทธิสางขยะ 3 ผูก, และไวเศษิกปทารถศาสตร์ของลัทธิไวเศษิก 3 ผูก เป็นต้น ส่วนปกรณ์ปกิณณคดีประเภทต่างๆ ของนิกายมหายานในประเทศจีน รวมทั้งประเภทประวัติ ศาสตร์ และจดหมายเหตุที่รจนารวบรวมไว้ โดยคันถรจนาจารย์จีนมีประมาณ 186 ปกรณ์ ปกรณ์เหล่านี้มีทั้งชนิดยาวหลายสิบผูก และชนิดสั้นเพียงไม่กี่หน้ากระดาษ[3]

ใกล้เคียง

พระไตรปิฎกภาษาจีน พระไตรปิฎกภาษาบาลี พระไตรปิฎก พระไตรปิฎกภาษาทิเบต พระไตรปิฎกฉบับซีเซี่ย พระไตรโลกยวิชัย พระไชยบูลย์ ธมฺมชโย พระไกรสรราช (สิงห์ ไตรยวงค์) พระตำหนักในพระราชวังดุสิต พระไพศาล วิสาโล

แหล่งที่มา

WikiPedia: พระไตรปิฎกภาษาจีน http://hi.baidu.com/zgfjbd/archive/tag/%E6%88%BF%E... http://fo.ifeng.com/zhuanti/shijiefojiaoluntan2/li... http://www.jinmajia.com/lyzt/201109/dzj/index_en.s... http://www.chinaknowledge.de/History/Song/song-rel... http://mbingenheimer.net/publications/agamaLit.pdf http://www.suttaworld.org/Collection_of_Buddhist/C... http://whc.unesco.org/archive/advisory_body_evalua... http://www.wdl.org/en/item/3018/ http://mahamakuta.inet.co.th/tipitaka/tipitaka3/ti... http://taiwanpedia.culture.tw/en/content?ID=1765